โซเชียลตั้งชื่อเต่า 'เจ้าโทน' หลังไข่เต่าเกาะราชา 86 ฟองเน่าหมด

ภูเก็ต - ไข่เต่า 87 ฟองที่เเม่เต่าขึ้นวางไข่บนเกาะราชาฟักเเค่ 1 ฟองที่เหลือเน่า โซเชี่ยลตั้งชื่อเต่าที่รอดว่าเจ้าโทน ด้าน ศวทม.เร่งหาสาเหตุ

เอกภพ ทองทับ

วันพฤหัสบดี ที่ 14 กันยายน 2560, เวลา 12:27 น.

จากกรณีเมื่อวันที่ 14 ก.ค. ที่ผ่านมาผู้ใช้ชื่อว่า Seaman Freeman หรือนาย ครรชิต คลิ้งขลิบ ผู้ประกอบการดำน้ำบนเกาะราชา ได้โพสต์ภาพและวิดีโอคลิปร่องรอยของเต่าทะเลไม่ทราบชนิดบนชายหาดของเกาะราชาใหญ่ ต.ราไวย์ ลงในกลุ่มไลน์ ชมรม HEALTY REEFS  ซึ่งเป็นกลุ่มไลน์ผู้ประกอบการท่องเที่ยวและกลุ่มอนุรักษ์หลายจังหวัดในอันดามัน (อ่านเพิ่มเติม คลิก)

จากนั้นเมื่อเวลา 14.10 น.ของวันที่ 15 ก.ค. 60 เจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน หรือ ศวทม.ร่วมกับ เจ้าหน้าที่ของส่วนทะเล สำนักบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 6 หรือ สบทช.6 และทางชมรมอนุรักษ์และป้องกันตนเองเกาะราชาใหญ่รวมถึง พนักงานของโรงแรม เดอะราชา ได้ทำการสำรวจหลุมทรายซึ่งพบบริเวณชายหาด พบว่ามีไข่เต่าอยู่ จำนวน 94 ฟอง ก่อนทยอยนำขึ้นใส่ในภาชนะเพื่อเคลื่อนย้ายไปยังจุดปลอดภัยเพื่อรอให้มีการฟักไข่ โดยระหว่างขุดพบนั้นมีไข่เต่า แตกจำนวน 7 ฟอง ทำให้คงเหลือไข่ทั้งสิ้น 87 ฟอง (อ่านเพิ่มเติม คลิก)

ต่อมาเมื่อวันที่ (8 ก.ย.) ในกลุ่มไลน์ชมรม HEALHTY REEFS  มีผู้ใช้ชื่อว่า Nattawut และ Thanya chit-aree ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ สบทช.6 และผู้ประกอบการโรงแรมบนเกาะราชาได้โพสต์ภาพเเละวีดิโอคลิปภาพลูกเต่าพร้อมระบุว่าเป็นตัวเแรกที่เพิ่งออกจากไข่ โดยโผล่ขึ้นจากทรายเมื่อเวลาประมาณตีสอง เบื้องต้นพบมีลักษณะใกล้เคียงกับเต่าตนุ โดยนับจากวันที่พบไข่เต่า จนถึงวันที่ออกจากไข่ใช้เวลารวม 57 วัน (อ่านเพิ่มเติม คลิก

ล่าสุดในวันนี้ (14 ก.ย.) ผู้ใช้ชื่อว่า Seaman Freeman ได้โพสต์ภาพไข่เต่าจำนวนมากที่เริ่มเน่า ไม่ได้มีการฟัก พร้อมระบุว่า เจ้าหน้าที่จากศูนย์วิจัยฯ รายงานผลจากการตรวจสอบว่าไข่เต่าตนุจากเกาะราชาจากการแกะไข่เต่าทั้งหมด ที่ไม่มีการเพาะฟักเป็นตัว ไข่ทั้งหมด ว่าได้รับการผสมและมีการพัฒนามาได้ระยะหนึ่ง

โดยพบไข่เต่าตนุจำนวน 2 ฟอง ที่มีจุดสีแดง นั้นแสดงให้เห็นว่าไข่เต่าตนุได้มีการพัฒนาระบบเลือดซึ่งใช้เวลาประมาณ 10 วัน ส่วนไข่เต่าตนุที่เหลือหยุดการพัฒนาก่อน 10 วัน จากข้อสันนิษฐานอาจจะมีด้วยกันหลายปัจจัย

เช่น ความชื้น อุณหภูมิ การย้าย จุลินทรีย์ในทราย จากกรณีไข่เต่าทะเลมีอัตราการฟักต่ำสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกที่ ยกตัวอย่างแหล่งวางไข่เต่าทะเลที่สำคัญในฝั่งทะเลอันดามัน จังหวัดพังงา เช่น เกาะสุรินทร์ ปี 2552 จำนวน 5 รัง มีอัตรการฟัก 0 เปอร์เซ็นต์, เกาะพระทอง ในปี 2558 จำนวน 3 รัง มีอัตรการฟัก 0 เปอร์เซ็นต์, เกาะสิมิลัน ปี 2558 จำนวน 29 รัง มีอัตรการฟัก 0 เปอร์เซ็นต์, ส่วนทางฝั่งอ่าวไทย ได้แก่เกาะคราม จังหวัดชลบุรี ปี 2559 จำนวน 137 รัง มีอัตรการฟัก 0 เปอร์เซ็นต์

จึงไม่สามารถระบุได้อย่างแน่ชัดว่าเกิดจากปัจจัยหลักมาจากสาเหตุใด แต่ที่แน่ๆ ขึ้นอยู่กับจัยทางธรรมชาติ เช่นถ้าความชื้นในทรายน้อยเกินไปทำให้อุณหภูมิในหลุมเพาะฟักสูงทำให้ไข่หยุดการพัฒนาได้ (อุณหภูมิสูงเกิน 35 องศาเซลเซียสทำให้ไข่เต่าหยุดการพัฒนา) หรือช่วงเวลาดังกล่าวมีฝนตกชุกมาเกินไปทำให้ความชื้นในหลุมเต่ามากอุณหภูมิในการเพาะฟักต่ำ (อุณหภูมิต่ำกว่า 25 องศาเซลเซียสทำให้ไข่เต่าหยุดการพัฒนา)  (Musick and lutz, 1996)

ส่วนสาเหตุจากการเคลื่อนย้ายไข่เต่าตนุครั้งนี้ เนื่องจากสภาพชายหาดในธรรมชาติไม่เหมาะสม เพราะชายหาดมีกำแพงแนวกันคลื่นปิดกัน ดังนั้นทำให้ต้องย้ายไข่เต่าทั้งหมดมาเพาะฟักในพื้นที่ไม่ให้น้ำทะเลท่วมถึงและมีเจ้าหน้าที่ลูแลได้ทั่วถึง"

ผู้สื่อข่าวได้สอบถามเพิ่มเติมทราบว่าจากไข่เต่าทั้งหมด 87 ฟองที่พบเเละนำมาฟักนั้น มีลูกเต่าที่ฟักออกจากไข่เพียง 1 ตัว หรือ1ฟอง ส่วนที่เหลือ 86 ฟองไม่มีการฟัก ส่วนลูกเต่าที่ออกจากไข่เพียง 1 ตัวนั้นอยู่ในความดูเเลของเจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยฯ ซึ่งจะดูเเลอนุบาลไปจนถึงอายุประมาณ 6 เดือนก่อนปล่อยคืนกลับสู่ท้องทะเล 

อย่างไรก็ตามในโซเชี่ยลมีเดี่ยได้มีการพูดถึงประเด็นดังกล่าวเป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่วิงวอนให้ลูกเต่าอยู่รอดเเม้เพียง 1 ตัว พร้อมตั้งชื่อลูกเต่าตัวดังกล่าวว่า"เจ้าโทน" เนื่องจากรอดเพียงตัวเดียวอีกด้วย

 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่