เมื่อวันที่ (3 ก.ค. 60 ) นายชลธิศ สุรัสวดี อธิบดีกรมป่าไม้ นายอรรถพล เจริญชันษา รองอธิบดีกรมป่าไม้ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ชุดพยัคฆ์ไพร นำโดยนายชีวะภาพ ชีวะธรรม หัวหน้าชุดพยัคฆ์ไพร ได้ลงพื้นที่บังคับใช้กฎหมายต่อกลุ่มธุรกิจรีสอร์ท บ้านพักตากอากาศและเครื่องเล่นโหนสลิง (ซิปไลน์) ที่บุกรุกป่าสงวนแห่งชาติในพื้นที่ จ.ภูเก็ต โดยจุดแรกได้เข้าตรวจสอบการบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าเขานาคเกิด ต.กะรน อ.เมือง จ.ภูเก็ต ของนางวรรณวิสาข์ สังข์ศรี เป็นผู้ครอบครอง เมื่อไปถึงพบมีการตัดถนนเข้าสู่พื้นที่บนยอดเขา และทางเข้ามีการสร้างรั้วเหล็ก พร้อมติดประกาศที่ส่วนบุคคลห้ามเข้า ภายในบริเวณพื้นที่ครอบครองมีสภาพป่าสมบูรณ์ มีบ้านพักคนงาน 1 หลัง
สุดเขตของพื้นที่พบเป็นชะง่อนผาติดทะเลวิวสวยงาม ทั้งยังมีทางเดินลาดลงทะเล ซึ่งหน้าหาดเชื่อมต่อกับหาดฟรีดอมบีช ที่ก่อนหน้านี้กรมป่าไม้ได้แจ้งความดำเนินคดีไปแล้ว นายชลธิศ จึงสั่งการให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบพบว่าอยู่ในพื้นที่ป่าสงวนฯป่าเขานาคเกิด นอกจากนี้ได้มีการตรวจสอบโฉนดพบว่า ออกโดยไม่มีการแจ้งครอบครอง สค1. ซึ่งไม่สามารถออกได้ในเขตป่าสงวนแห่งชาติๆซึ่งถือว่าเป็นการออกเอกสารโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ต้องดำเนินคดีต่อไป
นายชีวภาพ กล่าวว่า นางวันวิสาข์อ้างว่า ครอบครองพื้นที่จำนวน 20 ไร่มาตั้งแต่ปี 2552 ขณะที่ป่าสงวนฯ ป่าเขานาคเกิดประกาศเป็นป่าสงวนฯ เมื่อปี 2516 ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ที่นางวันวิสาข์จะออกโฉนดในพื้นที่ดังกล่าวได้ อย่างไรก็ตามการที่นางวันวิสาข์อ้างสิทธิในการครอบครองพื้นที่จากการตรวจสอบพบว่ามีข้าราชการป่าไม้ในพื้นที่ได้มาตรวจสอบแปลงที่ดินและระบุว่าพื้นที่ดังกล่าวอยู่นอกเขตป่าไม้ถาวรตามมติ ครม. และอยู่นอกเขตป่าสงวนแห่งชาติ
ซึ่งขณะนี้ข้าราชการคนดังกล่าวกำลังถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรงและผลการตรวจสอบจะออกมาในเร็วๆ นี้
นอกจากนี้ที่ดินแปลงนี้ยังเกี่ยวข้องกับอดีตเจ้าหน้าที่ที่ดิน จ.ภูเก็ตที่ถูกกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) จับกุม ก่อนเสียชีวิตในห้องขัง โดยที่ดินแปลงนี้น่าจะมีมูลค่าเกือบ 1,000 ล้านบาท และเป็นที่ดินที่เตรียมสำหรับนำออกขายต่อให้กับนายทุนต่างชาติ ทั้งนี้กรมป่าไม้จะแจ้งความดำเนินคดีกับนางวันวิสาข์และส่งให้กรมที่ดินเพิกถอนพื้นที่ต่อไป
จากนั้น นายชลธิศ พร้อมคณะได้เดินทางไปยังบริเวณป่าสงวนฯ ป่าเทือกเขากมลาคาบเกี่ยวกับป่าสงวนฯ เขานาคเกิด ต.กะทู้ เพื่อตรวจสอบการบุกรุกป่าสงวนฯ ของกลุ่มนายทุน โดยมีการก่อสร้างเครื่องเล่นซิปไลน์ผิดกฎหมาย เป็นของบริษัทซิป ไลน์ แมกซ์ (Zip line Max) ซึ่งมีการบุกรุกป่าสงวน 36 ไร่ มีนายสุสรัญ โต๊ะพาน เป็นผู้ครอบครอง เมื่อไปถึงตรวจสอบพบมีการตัดถนนรับส่งนักท่องเที่ยวในเขตป่าสงวนฯ และการก่อสร้างฐานขึงสลิงกับต้นไม้ใหญ่ จำนวน 25 ฐาน ครอบคลุมเกือบเต็มพื้นที่ นอกจากนี้ยังมี่ก่อสร้างทางเดินเหนือเรือนยอดไม้ (Canopy Walkway) เจ้าหน้าที่ได้เข้ารังวัดและตรวจพิกัดจีพีเอสพบมีการบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติ และการก่อสร้างเครื่องเล่นซิปไลน์ไม่มีการขออนุญาตตาม พ.ร.บ.ก่อสร้าง จึงได้แจ้งความดำเนินคดีและปิดประกาศตามมาตรา 25 พ.ร.บ.ป่าสงวนฯ 2507 เพื่อให้เจ้าของมารื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากพื้นที่ต่อไป
นายชีวะภาพ กล่าวอีกว่า บริษัทซิป ไลน์ แมกซ์ ภูเก็ตเป็นเจ้าของเดียวกับซิปไลน์ แมกซ์ที่ จ.เชียงใหม่ ซึ่งกรมป่าไม้ได้แจ้งความดำเนินคดีและสั่งให้รื้อถอนไปแล้ว แต่ยังมีการดำเนินการต่อที่จ.ภูเก็ต โดยมีการขายทัวร์ให้กับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติส่วนใหญ่เป็นชาวจีน เริ่มต้นตั้งแต่ราคา 2,500-4,800 บาท ตามจำนวนฐานที่เล่น บริษัทพวกนี้มักจะทำแบบหลบซ่อนซุกอยู่ในป่า ตรวจสอบสอบยากเพราะมองจากภาพถ่ายทางอากาศไม่เห็น ซึ่งการก่อสร้างซิปไลน์เป็นการบุกรุกเบิกทาง เพื่อนำไปสู่ธุรกิจอื่น เพราะมีการตัดถนนและมีร้านค้า สิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ ตามเข้าไป และขยายการบุกรุกไปเรื่อยๆ
โดยจ.ภูเก็ต มีซิปไลน์ผิดกฎหมายจำนวน 3 แห่ง ประกอบด้วย ซิปไลน์ แมกซ์ ป่าตองซิปไลน์ และภูเก็ต พาราไดซ์ ที่เหลืออีก 1 แห่งอยู่ในพื้นที่คาบเกี่ยวเขต ส.ป.ก. และมีจำนวน 3 แห่งที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบการยึดถือครอบครองพื้นที่ ทั้งนี้ในบริเวณจุดภูเก็ต พาราไดซ์ ผู้ประกอบการมีการอ้างว่าได้มีการเช่าต้นไม้จากผู้ครอบครองพื้นที่จำนวน 30 ต้น ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่จะนำต้นไม้ในเขตป่าสงวนฯ ไปปล่อยเช่า จึงต้องถูกดำเนินคดีทั้งหมด