“เงินตัวเดียว” ค่าคอมมิชชั่นตัวกัดกร่อนความปลอดภัยการท่องเที่ยว

ภูเก็ต - “หรือว่าจริง ๆ แล้ว ‘ค่าคอมมิชชั่น’ คือ ‘วายร้าย’ ที่ทำลายอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทางทะเลตัวจริง” เป็นคำถามที่ทุกคนภายในงานสัมมนาให้ความสำคัญ ในระหว่างการหารือในหัวข้อ “The Expectations of the Phuket Hotel and Tourism industries from the Phuket marine industry, and vice versa”

Chris Husted

วันเสาร์ ที่ 15 กันยายน 2561, เวลา 09:00 น.

ภาพ ธัญลักษณ์ สากูต

ภาพ ธัญลักษณ์ สากูต

ที่ได้พูดถึงความคาดหวังจากผู้ประกอบการโรงแรมและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทางทะเลในภูเก็ต ซึ่งเป็นงานที่จัดขึ้นเพื่อการรวมตัวของกลุ่มนักลงทุนทางทะเลแถวหน้าแห่งเกาะภูเก็ต ณ ห้องประชุม โบ๊ท พ้อยท์ ที่ ภูเก็ต โบ๊ท ลากูน เมื่อวันศุกร์ที่ 7 กันยายน ที่ผ่านมา

วิทยากรในงานประกอบด้วย ลินดอน เอลลิส ผู้จัดการทั่วไปอนันตรา เวเคชั่น คลับ ไม้ขาว ภูเก็ต, ซาร่า เทรมเลท อดีตผู้จัดการทั่วไปท่าเทียบเรือยอช์ทเฮเว่น มารีน่า, เอียน แลนแคสเตอร์ นายหน้าประกันอินเตอร์เนชั่นแชลเกษียณอายุ และ ประธานภูเก็ตยอช์ทคลับสก็อต ดันแคนสัน โดยมี วิกกี้ ซันดรัม กรรมการบริหารภูเก็ต โบ๊ท ลากูน ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้จัดสำคัญของการสัมมนาในครั้งนี้ ร่วมด้วย แฮร์รี่ อัชเชอร์ เจ้าของ ร้านเลดี้พาย ที่ได้ทำหน้าที่ผู้ดำเนินรายการตลอดงาน

เนื้อหาหลัก ๆ ของการพูดคุยในครั้งนี้เป็นการพูดถึงความล้มเหลวด้านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทางทะเลของภูเก็ต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของการท่องเที่ยวทางเรือ รวมถึงกรณีของเรือที่บรรทุกเกินพิกัด (ซึ่งขัดกับกฎข้อบังคับในการเดินเรือในด้านจำนวนของผู้โดยสาร) และการออกแบบเรือที่ไม่ผ่านมาตรฐานสากล

จากทัศคติในที่ประชุมโดยรวมต่อการบังคับใช้กฎหมายหรือข้อบังคับการเดินเรือของเจ้าหน้าที่ จะเห็นพ้องต้องกันว่ายังดูเหมือนไม่เต็มที่ ไม่เข้มแข็งหรือเฉียบขาดเพียงพอ และไม่สามารถทำให้เกิดผลลัพธ์ตามที่ควรจะเป็น ซึ่งบรรดาผู้เข้าประชุมในวันนั้นไม่ได้มีการคัดค้านแต่อย่างใด มิฉะนั้นแล้วจะต้องเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงในขณะที่ได้มีการพูดถึงเรื่องดังกล่าว อย่างไรก็ตาม เสียงตอบรับที่ออกมาเป็นเอกฉันท์ในที่ประชุมคือให้มีการทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่รัฐและดูแลช่วยเหลือเกี่ยวกับเรื่องนี้ให้มากที่สุดและดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทางน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของความปลอดภัย

สำหรับเรื่องนี้ นายเอียน ก็ได้เน้นย้ำว่าตนเองได้รับข้อมูลผ่านการสัมภาษณ์เกี่ยวกับประเด็นอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของจังหวัดภูเก็ต ว่ารัฐบาลไทยได้ให้ความสำคัญในเรื่องดังกล่าว “อย่างจริงจัง” ความเคลื่อนไหวต่าง ๆ ถูกรายงานไปยังสำนักนายกรัฐมนตรีโดยตรง ซึ่งดูเหมือนว่าต่อจากนี้เราจะได้เห็นข้อเสนอแนะเชิงบวกได้รับการตอบรับอย่างดีจากเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจเกี่ยวข้องโดยตรง และทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น

ทั้งนี้ ในประเด็นของ “ค่าคอมมิชชั่น” ที่ผู้ประกอบการเรียกเก็บจากนักท่องเที่ยวนั้น อดีตนายโบรกเกอร์ประกัน ผู้ซึ่งมีประสบการณ์กว่า 35 ปีในด้านงานประกันภัย ได้กล่าวว่า จากการหาข้อมูลที่ผ่านมานั้น ทำให้ตนได้รู้ว่า 25% ของราคาทัวร์ที่ขายไป จะถูกแบ่งเป็นค่าคอมมิชชั่น ซึ่งอีก 75% ที่เหลือ คือค่าดำเนินการจัดการทั้งหมด และรวมถึงตัวเรือท่องเที่ยวโดยสาร

หนึ่งในผู้เข้าร่วมงานก็ได้ชี้แจงในประเด็นที่คล้ายคลึงกันว่า ตัวเขาเองทราบว่ามีผู้ประกอบการบางรายได้เรียกเก็บค่าทัวร์จากนักท่องเที่ยวสูงถึงกว่า 50% ในทุกครั้งที่มีการชำระเงิน

การให้ความสำคัญและมุ่งเน้นเพียงด้านเดียว ซึ่งถือว่าเป็นการกระทำที่ดูจะละโมบโลภมากเกินไปนั้น ทำให้ความปลอดภัยและความน่าเชื่อถือของผู้ประกอบการเรือลดน้อยลง เพราะเงินที่นักท่องเที่ยวจ่ายไปนั้น มันสมควรจะเป็นเงินที่ถูกนำมาใช้เพื่อให้เกิดความปลอดภัย ทั้งในส่วนตัวเรือและนักท่องเที่ยว แต่ในขณะเดียวกันผู้ประกอบการต้องรับภาระความกดดันทางด้านการเงินและถูก “บังคับ” ให้ต้องออกเรือไปสู่ท้องทะเลแม้ในช่วงเวลาที่สภาพอากาศไม่เป็นใจ และอาจก่อให้เกิดอันตรายถึงแก่ชีวิต เพียงเพื่อให้ธุรกิจและภาวะทางการเงินคงอยู่ไปต่อได้

ตัวเลือกเพียงข้อเดียวที่ผู้ประกอบการรายที่สุจริตและซื่อสัตย์กับอาชีพพึงมีก็คือ ไม่ลงไปแข่งขันกับผู้ประกอบการรายอื่น แต่สุดท้ายแล้วก็ต้องปิดกิจการไปในที่สุด เหลือไว้แต่ผู้ประกอบการที่ไม่ซื่อสัตย์ ไร้ซึ่งศีลธรรม ไม่มีความห่วงใยนักท่องเที่ยว และถือเอาแต่ประโยชน์ของตนเองเป็นสำคัญ

“การสูญเสียรายได้จากกรณีงดออกทะเลเพียงแค่วันเดียว หมายถึงบริษัทจะต้องออกเรือให้มากถึง 4-5 ครั้ง เพื่อชดเชยเม็ดเงินที่ต้องสูญเสียไปกับการงดออกทะเลแค่เพียงวันเดียว” นายเอียน อธิบาย

ด้านนายแลนแคสเตอร์ได้เสนอแนะว่า ภาครัฐควรออกนโยบายให้ครอบคลุม และชดเชยการขาดทุนของผู้ประกอบการ อันเนื่องมาจากการออกประกาศเตือนของหน่วยงานราชการ หรือคำสั่งห้ามไม่ให้มีการนำเรือออกสู่ทะเลด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย

“ทุกที่ทั่วโลกในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ก็ทำกันแบบนี้” นายแลนแคสเตอร์ กล่าวกับ The Phuket News ภายหลังจากการประชุม

ทางด้านนายลินดอน ก็ได้เป็นตัวแทนอภิปรายผ่านมุมมองของผู้ประกอบการโรงแรมที่มีโต๊ะขายทัวร์ในสถานที่ประกอบการ เพื่ออำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยวสามารถจองได้โดยตรงกับตัวแทนขาย ซึ่งโดยปกติแล้วความสัมพันธ์ระหว่างโต๊ะทัวร์เหล่านั้นกับทางโรงแรมก็จะเป็นการติดต่อผ่านทางฝ่ายบัญชีและการเงิน และแน่นอนว่าเป็น “ส่วนที่มักจะมองเพียงแค่ผลประโยชน์และตัวเลข” เขากล่าว

อย่างไรก็ตาม นายลินดอนยังได้ชี้ให้เห็นว่า ตัวเขาเองมองเห็นปัญหาในทันทีเมื่อเขาได้พบกับ “บทสนทนาแบบเงียบ ๆ” ระหว่างตัวแทนผู้ประกอบการทัวร์และผู้ดูแลโต๊ะทัวร์ ซึ่งนั่นก็ทำให้เขาต้องจัดการแทรกแทรงโดยเร็วที่สุด เพื่อทางป้องกันการทำข้อตกลงลับหรือ “ฮั้ว” กันระหว่างสองฝ่าย

ผู้จัดการทั่วไปอนันตราฯ ชี้ชัดว่า ไม่ว่าใครก็ตามที่มีความกังวลในเรื่องของการเรียกค่าคอมมิชชั่นจากผู้ประกอบการการท่องเที่ยว ขอให้รายงานกับทางผู้บริหารโรงแรมที่ดูแลรับผิดชอบภายในโรงแรมทันที “เพราะบุคคล(ของทางโรงแรม) เหล่านี้จะเน้นในเรื่องของคุณภาพในงานบริการ สำหรับลูกค้าและการท่องเที่ยวมากกว่าตัวเลขและผลตอบแทนที่ได้รับ” เขากล่าว

ข้อแนะนำอีกประการที่น่าสนใจ ก็คือทางโรงแรมเองควรปรับปรุงระบบ หรือริเริ่มระบบการคัดเลือกเรือนำทัวร์ของตนเอง ซึ่งจะสามารถช่วยให้การดำเนินกิจการท่องเที่ยวได้อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

“ซึ่งในเรื่องนี้ก็รวมไปถึงการใช้บริการรถตู้โดยสารของลูกค้าของโรงแรมด้วย” เขาอธิบายต่อ พร้อมระบุอีกว่า ทางโรงแรมได้รับการร้องเรียนจากแขกที่เข้าพักถึงการใช้บริการรถตู้อยู่บ่อยครั้ง ว่าคนขับรถตู้ที่รับพวกเขาจากโรงแรม เพื่อเดินทางท่องเที่ยวโปรแกรมวันเดียวไป-กลับ มักจะขับรถอันตรายและไม่คำนึงถึงความปลอดภัยใด ๆ

ช่วงท้ายของการสัมมนานั้น เบรนท์ จากบริษัทประกอบเรือท้องถิ่น Marineworx ซึ่งตั้งอยู่ภายในโบ๊ทลากูน ได้นำเสนอข้อมูลเน้นไปที่ประสิทธิภาพของทุ่นลอยน้ำประสิทธิภาพสูง ว่าควรจะได้รับติดตั้ง ณ ทางออกของเรือนำทัวร์เพื่อป้องกันเรือจมสู่ท้องทะเล เพราะเทคโนโลยีสมัยนี้ก้าวล้ำไปมาก และราคาของโฟมอย่าง PET ก็ไม่ได้สูงมากเหมือนในอดีต นอกจากนี้ ในอุตสาหกรรมการต่อเรือเจ้าเทคโนโลยีนี้ก็ถูกใช้กันอย่างแพร่หลายไปทั่วโลก

“เราสามารถคำนวนปริมาณของโฟมที่จำเป็นต้องใช้เพื่อติดตั้งในเรือได้ เรือที่ผลิตในประเทศไทยนั้นล้วนแล้วแต่ทำมาจากไฟเบอร์กลาส ซึ่งหากเกิดเหตุร้ายที่ไม่คาดฝันขึ้นมา เรือพวกนั้นก็จะจมดิ่งลงไปในทะเล” เขาอธิบาย

“หากเรือที่สร้างจากวัสดุชนิดใหม่นี้เกิดพลิกคว่ำ อย่างน้อยผู้โดยสารก็จะสามารถเกาะตัวเรือ หรือปีนขึ้นไปอยู่ด้านบนเรือได้ และรอคอยอยู่ตรงนั้นจนกว่าการช่วยเหลือจะมาถึง” เบรนท์ กล่าว

 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่