นักประดิษฐ์ 'เครื่องอัดขึ้นรูปภาชนะใส่อาหาร'

ภูเก็ต - การออกแบบสิ่งประดิษฐ์เพื่อช่วยเหลือชาวบ้าน และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม คือโจทย์ของ ม.ราชภัฏภูเก็ต ที่ได้รับจากชุมชน “หลาดลองแล” ต.กะไหล อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา ในการดำเนินโครงการบูรณาการพันธกิจสัมพันธ์เพื่อพัฒนาท้องถิ่นตามพระราโชบาย อันเนื่องจากที่มาในการรณรงค์งดใช้ภาชนะโฟมและพลาสติกภายในตลาดแทนที่ด้วยการใช้ภาชนะรีไซเคิลและวัสดุจากธรรมชาติ แต่ทว่าไม่สามารถผลิตได้รวดเร็วและทันท่วงทีต่อการซื้อขายสินค้าของพ่อค้าแม่ขาย เนื่องจากความนิยมของหลาดลองแลที่มีประชาชนมาท่องเที่ยวอย่างคับคั่ง

ม.ราชภัฏภูเก็ต

วันศุกร์ ที่ 19 กรกฎาคม 2562, เวลา 14:10 น.

จากประเด็นดังกล่าวจึงเป็นที่มาของสิ่งประดิษฐ์ที่ชื่อว่า “เครื่องอัดขึ้นรูปภาชนะใส่อาหาร” สามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ ผลงานออกแบบและพัฒนาโดย PKRU EXPERT : อาจารย์สมศักดิ์ ลิ่มวงศกร อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีอุตสาหการ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ม.ราชภัฏภูเก็ต

อาจารย์สมศักดิ์ เจ้าของสิ่งประดิษฐ์ เล่าถึงรูปแบบการทำงานและจุดเด่นของเครื่องอัดขึ้นรูปภาชนะใส่อาหาร (รุ่นต้นแบบ Prototype) ว่า “จากการลงพื้นที่สำรวจความต้องการก่อนออกแบบเครื่อง พบว่าวัสดุธรรมชาติที่เหมาะสมในการผลิตภาชนะ คือ ใบตอง เพราะมีสวนกล้วยจำนวนมากในพื้นที่ ต.กะไหล จึงได้เริ่มออกแบบเครื่องในขนาดกะทัดรัดสามารถขนย้ายไปมาสะดวก หลักการทำงาน คือ ใช้ความร้อนกับแรงดัน ผนวกกับระบบเซ็นเซอร์วัดความร้อนที่สามารถควบคุมระบบการทำงานเพื่อประหยัดไฟ และตัดกระแสไฟเมื่อเครื่องไม่ได้ทำงาน เพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้ เครื่องสามารถผลิตภาชนะขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 7.30 นิ้ว ผลิตได้ 1 ใบ ใช้เวลาเพียง 1 นาที อัตราสิ้นเปลืองค่าไฟฟ้าคิดเป็นเงินเพียง 25 สตางค์ ขั้นตอนในการผลิตเริ่มจากการนำเอาใบตองที่แห้งจากต้น (หรือใบสักก็ได้) ตัดเป็นสี่เหลี่ยมขนาดใกล้เคียงภาชนะ แล้วนำมาซ้อนกันสามชั้น โดยแต่ละชั้นจะต้องทาแป้งมันที่ผสมกับน้ำ จากนั้นนำเข้าเครื่องอัดใช้เวลา 1 นาที ระหว่างที่ระบบความร้อนทำงานให้ตัดขอบตามรูปพิมพ์ เข้าสู่ระบบขึ้นรูปตามพิมพ์เป็นเวลา จึงนำออกจากเครื่องอัดได้ สำหรับเครื่องดังกล่าวได้มีการนำไปใช้งานจริงในหลาดลองแล โดยได้กระแสตอบรับที่ดีจากผู้ค้าและนักท่องเที่ยว รวมถึงมีภาคเอกชนให้ความสนใจ ทั้งนี้ได้มีการออกแบบและเตรียมการผลิตสำหรับผู้ที่สนใจเครื่องที่ใช้ในเชิงพาณิชย์ มีความปลอดภัย เพิ่มประสิทธิภาพ และความยืดหยุ่นในการใช้งาน โดยมีต้นทุนต่อเครื่องไม่เกิน 20,000 บาท”

นักสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์จาก PKRU กล่าวเสริมว่า “สาขาวิชาเทคโนโลยีอุตสาหการ มีความพร้อมในด้านบุคลากรที่มีองฺค์ความรู้ด้านอุตสาหกรรมในหลากหลายประเภท รวมถึงนักศึกษาที่พร้อมด้วยทักษะ ตลอดจนเครื่องมือ ห้องปฏิบัติการมาตรฐานอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยยินดีให้คำปรึกษา และสนับสนุนท้องถิ่นในการพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยใช้เทคโนโลยีอุตสาหกรรม ทั้งในระดับหมู่บ้าน วิสาหกิจชุมชน หรือองค์กรทุกประเภท โดยติดต่อได้ทางโทรศัพท์ 0 7652 3094-7

 

 

 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่