จากการตรวจสอบโดยคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีไม่พบข้อมูลการนำส่งคนต่างด้าวที่ตกเป็นผู้ต้องหาเมื่อคดีถึงที่สุดตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2559 – 31 ต.ค. 2560 จำนวน 142 ราย ซึ่งบัญชาการตำรวจภาค 8 ได้รับคำสั่งการจาก พลตำรวจเอก ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ให้ตั้งคณะกรรมการสืบสวนกรณีดังกล่าว นั้น
มีรายงานแยกตาม สภ. ดังนี้ สภ.สาคู จับ 76 ราย ส่งตม. 3 ราย ไม่ส่ง 73 ราย, สภ.ถลาง จับ 78 ราย ส่งตม.16 ราย ไม่ส่ง ตม. 62 ราย, สภ.ฉลอง จับ 171 ราย ส่งตม. 52 ราย ไม่ส่ง 119 ราย, สภ.กะรน จับ 344 ราย ส่งตม. 95 ราย ไม่ส่ง 249 ราย, สภ.กมลา จับ 269 ราย ส่งตม. 145 ราย ไม่ส่ง 124 ราย, สภ.ท่าฉัตรไชย จับ 20 ราย ส่งตม. 2 ราย ไม่ส่ง 18 ราย, สภ.เชิงทะเล จับ 75 ราย ส่งตม. 60 ราย ไม่ส่ง 15 ราย, สภ.ป่าตอง จับ 862 ราย ส่งตม. 52 ราย ไม่ส่ง 810 ราย, สภ.กระทู้ จับ 98 ราย ส่งตม. 27 ราย ไม่ส่ง 71 ราย, สภ.วิชิต จับ 248 ราย ส่งตม. 59 ราย ไม่ส่งตม. 189 ราย, สภ.เมืองภูเก็ต จับ 174 ราย ส่งตม. 174 ราย รวมทุก สภ. ในจังหวัดภูเก็ต แล้วจับ 2,415 ราย ส่งตม. 685 ราย ไม่ส่งตม. 1,730 ราย
โดยก่อนหน้านี้ พล.ต.ต. ธีระพล ทิพย์เจริญ ผบก.ภ.จว.ภูเก็ต ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวกรณีการตั้งคณะกรรมการสืบสวนฯ ข้อสงสัยว่านายตำรวจทั้ง 15 นายตำรวจระดับสารวัตรและรองสารวัตร ต้องสงสัยทำผิดวินัย ว่า พล.ต.อ. ศรีวราห์ มีคำสั่งให้ตั้งคณะกรรมการสืบสวนกรณีดังกล่าว และได้กำชับมาว่าต้องกระทำการอย่างเข้มงวด แต่ขณะนี้ก็ยังพิสูจน์ไม่ได้แน่ชัดว่าเจ้าหน้าที่กระทำผิดจริงหรือไม่ (อ่านเพิ่มเติม คลิก)
“เราต้องดูที่ข้อเท็จจริงในแต่ละคดี รวมทั้งระเบียบ และคำสั่งต่างๆ ทั้งนี้เราได้รับคำสั่งให้รายงานเรื่องนี้ภายใน 7 วัน แต่คาดว่าน่าจะไม่แล้วเสร็จ คิดว่า คณะกรรมการฯน่าจะใช้เวลาเต็มที่ไม่น่าเกิน 1 เดือน เพราะเรามีพยาน เอกสาร ตัวบุคคลก็ยังอยู่ในพื้นที่และยังปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ” พล.ต.ต. ธีระพล กล่าว