เตรียมพิสูจน์ DNA เจ้าเลพัง แนะเป็นกรณีศึกษา

รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชพร้อมผู้เชี่ยวชาญลงพื้นที่เก็บตัวอย่างพิสูจน์ DNA เจ้าเลพัง จระเข้ที่ถูกจับได้ในจังหวัดภูเก็ต เพื่อให้ทราบที่มาและสายพันธุ์ที่ชัดเจนนำไปสู่การดำเนินการที่เหมาะสม คาดรู้ผลใน 2 สัปดาห์ ด้านดร.ธรณ์เผย ต้องทำการศึกษาจระเข้ใหม่ เตรียมใช้กรณีเจ้าเลพังเป็นเลพังโมเดลฯ

เอกภพ ทองทับ

วันจันทร์ ที่ 11 กันยายน 2560, เวลา 11:12 น.

ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งภูเก็ต ดร.ปิ่นสักก์ สุรัสวดี รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช พร้อมด้วยดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และทีมสัตวแพทย์จากคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เดินทางลงพื้นที่จังหวัดภูเก็ตเพื่อร่วมพิสูจน์จระเข้เลพัง ที่ถูกจับได้เมื่อรุ่งเช้าวันที่ 1 กันยายน ที่ผ่านมา (อ่านเพิ่มเติม คลิก

โดย ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตได้ลงพื้นที่ติดตามอาการจระเข้ด้วยตนเอง และพบจระเข้ที่ถูกจับได้มีอาการซึมเศร้า ไม่กินอาหาร (อ่านเพิ่มเติม คลิก) อยา่งไรก็ตามเจ้าหน้าที่ประมงภูเก็ต ชี้แจงเพิ่มเติมว่า จระเข้ตัวดังกล่าวสุขภาพแข็งแรงดี และเป็นนิสัยตามธรรมชาติของจระเข้ที่จะไม่กินอาหารทุกวัน

ทั้งนี้ทีมงานจากกรุงเทพฯ ได้รับฟังบรรยายสรุปการดำเนินการจับจระเข้เลพังจากนายไพบูลย์ บุญลิปตานนท์ ประมงจังหวัดภูเก็ต จากนั้นทีมสัตวแพทย์และผู้เชี่ยวชาญได้ร่วมกันพิสูจน์จระเข้เลพังซึ่งถูกเลี้ยงไว้ในบ่อภายในศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งภูเก็ต พบว่าจระเข้ตัวนี้มีความยาว2.80 เมตร เป็นจระเข้เพศผู้ ไม่พบการฝังชิพ แต่ยังไม่สามารถระบุอย่างชัดเจนได้ว่าเป็นจระเข้น้ำเค็มแท้ที่อาศัยอยู่ตามธรรมชาติ หรือเป็นจระเข้น้ำเค็มพันธุ์ผสม เบื้องต้นจึงได้มีการเจาะเลือดนำไปตรวจ DNA เพื่อให้ทราบผลที่ชัดเจนต่อไป

ดร.ปิ่นสักก์ กล่าวว่า การเดินทางมาตรวจพิสูจน์จระเข้ในครั้งนี้เป็นการบูณาการทำงานเพื่อให้ทราบสายพันธุ์และที่มาของจระเข้ที่ชัดเจน นำไปสู่การดำเนินการที่เหมาะสม ซึ่งจะนำเลือดจระเข้ไปตรวจพิสูจน์สายพันธุ์โดยภาควิชาพันธุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รวมทั้งมีการตรวจสุขภาพโดยสัตวแพทย์จากศูนย์วิจัยสุขภาพจระเข้ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

หากพบเป็นจระเข้แท้ตามธรรมชาติก็จะต้องคืนปล่อยตามธรรมชาติในพื้นที่ปลอดภัยทั้งต่อจระเข้และมนุษย์ รวมทั้งระบบนิเวศที่เหมาะสม แต่หากเป็นจระเข้พันธุ์ผสมก็จะต้องให้อยู่แบบกึ่งธรรมชาติ มีอาณาบริเวณที่ชัดเจน ทั้งนี้ทุกอย่างจะต้องเป็นไปตามขั้นตอน นั่นคือการรอผลพิสูจน์จาก DNA ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 1 - 2 อาทิตย์ ทั้งนี้ทางทีมสัตวแพทย์ได้มีการฝังชิพเอาไว้บริเวณโคนหางฝั่งซ้ายเพื่อการศึกษาและการติดตามในอนาคต โดยในระยะนี้จะดูแลจระเข้เป็นอย่างดีในระหว่างรอตรวจผลพิสูจน์อย่างเป็นทางการ

ด้าน ดร.ธรณ์ กล่าวว่า ในทางวิชาการถือว่าทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอน เพราะจะต้องตรวจสอบที่มาของจระเข้เลพังตัวนี้ให้ชัดเจนนำไปสู่การดำเนินการที่เหมาะสม โดยกรณีของเลพังนั้นหากเป็นจระเข้ตามธรรมชาติก็ถือว่าเป็นข้อมูลใหม่ที่นักวิชาการจะต้องศึกษา อาจจะใช้เป็นต้นแบบหรือเป็นเลพังโมเดล เพื่อศึกษาและหาวิธีดำเนินการตามขั้นตอนที่เหมาะสมต่อไป

และในกรณีของจระเข้เลพังเห็นได้ว่าที่ทำให้คนไทยหันมาสนใจจระเข้น้ำเค็มและรวมถึงสัตว์ตามธรรมชาติที่หายากมากขึ้น อันแสดงให้เห็นว่าคนไทยเป็นห่วงสัตว์และรักธรรมชาติ ได้ร่วมกันออกความคิดเห็นและเสนอแนวทางผ่านสื่อโซเชียลอย่างล้นหลาม เพื่อให้สัตว์ที่หายากได้อยู่คู่กับธรรมชาติและอยู่คู่กับคนไทย

 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่