เพจราไวย์ร้องให้ช่วย 6 ชาวเลข้อหาจับสัตว์ทะเลในเขตอุทยานแห่งชาติสิรินาถ

ภูเก็ต - เรียกร้องช่วย 6 ชาวเลราไวย์ถูกเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติสิรินาถจับกุม ในความผิดฐานดำน้ำจับสัตว์ทะเลในเขตอุทยาน ทั้งที่ลงดำรักษาอาการน้ำหนีบ ด้านหัวหน้าอุทยานฯแห่งชาติสิรินาถ เผยหลักฐานชัดไม่ได้กลั่นแกล้ง

เอกภพ ทองทับ

วันอังคาร ที่ 9 มกราคม 2561, เวลา 13:41 น.

เมื่อช่วงค่ำที่ผ่านมา (8 ม.ค. 61)ในเพจเฟซบุ๊กชื่อ “ชาวเล ราไวย์” ได้มีการโพสต์ภาพพร้อมข้อความระบุว่า ชาวเลราไวย์ 6 คน ถูกเจ้าหน้าที่อุทยานสิรินาถจับกุม ภายหลังกลับจากหาปลาที่พังงา เนื่องจากมีผู้ป่วย 1 คนจากอาการ “น้ำหนีบ” (อาการที่เกิดจากร่างกายปรับตัวในความกดอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปไม่ได้) จึงต้องจอดเรือฉุกเฉินที่เขตอุทยานฯ ในเวลา 10:00 น.-12:00 น. เพื่อให้ผู้ป่วยได้ปรับตัวจากสภาพน้ำหนีบ (คือการลงน้ำและขึ้นจากน้ำอย่างช้าๆ ตามวิธีชาวเล) แต่เจ้าหน้าที่อุทยานฯ ได้ทำการจับกุมตัวและจะให้ชาวเลรับสารภาพ จ่ายค่าปรับคนละ 2 - 3 พันบาท ชาวเลไม่ยอมเพราะไม่ได้ทำผิด ปลาที่หามาไม่ได้หาในเขตอุทยานฯ จึงต้องถูกส่ง สภ.สาคู

ผู้สื่อข่าวได้สอบถามไปยัง นายนิรันดร์ หยังปาน หนึ่งในตัวแทนชาวเลราไวย์ที่ไปติดตามสถานการณ์อยู่ที่สภ.สาคู ซึ่งได้พูดคุยกับผู้ถูกจับกุมระบุว่า จากการสอบถามทั้ง 6 รายที่ถูกจับกุมยืนยันว่า ไม่ได้จับปลาในเขตพื้นที่อุทยานฯ แต่ได้เดินเรือมาจากพื้นที่อ.คุระบุรี จ.พังงา หลังจากไปดำน้ำหาปลา เมื่อวิ่งเรือมาถึงบริเวณทิศตะวันตกของเกาะภูเก็ต ได้แต่มี 1 ในชาวเลทราบชื่อคือนายทะนงศักดิ์ เกาะงาม อายุ 41 ปี ซึ่งมีอาการน้ำหนีบ ทำให้มีอาการหน้ามืด ตาลาย แขนขาอ่อนแรง จึงต้องแวะหาสถานที่น้ำตื้นเพื่อที่ลงดำปรับสภาพร่างกาย

เมื่อมาถึงบริเวณหน้าหาดในทอนจึงพบว่าเป็นพื้นที่เหมาะสมจึงจอดเรือและลงดำ ก่อนเจ้าหน้าที่จับกุม โดยขณะนี้ 1 รายคือนายทะนงศักดิ์ รักษาตัวอยู่ที่ รพ.วชิระภูเก็ต ส่วนอีก 5 รายอยู่ที่สภ.สาคู โดยหลังจากที่ได้พูดคุยกับพนักงานสอบสวน สภ.สาคู ในเบื้องต้น ทราบว่า ได้มีการแจ้งข้อกล่าวหาหลายข้อ และต้องมีการใช้หลักทรัพย์ยื่นประกันตัวรายละ 5 หมื่นบาท ซึ่งขณะนี้ได้มีหลายฝ่ายเข้ามาช่วยเหลือในการยื่นขอประกันตัว

ด้านนาย วิทูรย์ เดชประมวลพล หัวหน้าอุทยานแห่งชาติสิรินาถ หัวหน้าชุดจับกุมระบุว่า การจับกุมดังกล่าว สืบเนื่องจาก ช่วง 3 วันที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ได้รับแจ้งว่ามีการลักลอบดำน้ำจับสัตว์ทะเลในเขตอุทยานฯ ในแนวปะการังพื้นที่ทางทะเล จึงสั่งการให้ ในเครือข่ายช่วยเฝ้าระวัง

กระทั่งเมื่อช่วงเช้าของวันดังกล่าวได้รับแจ้งจากเครือข่ายว่ามีการลักลอบดำน้ำจับสัตว์ทะเลในพื้นที่อุทยานฯ จึงสั่งการให้เจ้าหน้าที่นำโดย นาย พงษ์พันธุ์ แพน้อย หัวหน้าชุดปฏิบัติการสายตรวจปราบปรามพร้อมกำลังเจ้าหน้าที่ 8 นาย เข้าตรวจสอบ เมื่อเวลาประมาณ 10.00 น. จากการตรวจสอบตามที่รับแจ้งได้พบเรือจอดอยู่ 1 ลำ ซึ่งกำลังลงดำยิงสัตว์น้ำ จึงเข้าทำการจับกุมตัวผู้ต้องหา 6 ราย

ประกอบด้วย 1. นายปัญญา เกาะงาม อายุ 46 ปี 2. นายพิชิต บางจาก อายุ 42 ปี 3. นาย อนัน บางจากอายุ 56 ปี 4. นาย ทะนงศักดิ์ เกาะงาม 5. นาย ทวีเลิศ หาญทะเล อายุ 50 ปี และ 6. ด.ช.ธนวัฒน์ กินหาร อายุ 14 ปี

พร้อมของกลาง สัตว์ทะเล 22 ชนิด ประกอบด้วย 1.กุ้งแดง 7 ตัว 2.กุ้งมังกร 7 สี 1 ตัว 3.กุ้งมังกรแดง 1 ตัว 4.หมึกกระดอง 2 ตัว 5.ปลาสินสมุทร 3 ตัว 6.ปลาเก๋าดอกแดง 5 ตัว 7.ปลาเก๋าดอกดำ 1 ตัว 8.ปลานกแก้วหัวโหนก 5 ตัว 9.ปลิงทะเล 4 ตัว 10.ปลานกแก้วเขียว 10 ตัว 11.ปลานกแก้วแดง 3 ตัว 12.ปลาเก๋าลาย 41 ตัว 13.ปลาเก๋าลิง 4 ตัว 14.ปลาเก๋าหมูลาย 2 ตัว 15.ปลาเก๋าตุ๊กแก 3 ตัว 16.ปลาเก๋าจุดฟ้า 2 ตัว 17.ปลาวัว 1 ตัว 18.ปลาเก๋ากลื้น 20 ตัว 19.ปลาเหลา 2 ตัว 20.ปลากระพงแดง 6 ตัว 21.ปลาเก๋าเพลิง 4 ตัว 22.ปลาขี้ตังเบ็ด 1 ตัว รวมทั้งสิ้น 123 ตัว นำหนักกว่า 59.4 กิโลกรัม

นอกจากนี้ยังมีของกลางอื่นๆ ที่ใช้ในการกระทำความผิดเช่นเรือ เครื่องปั๊มอากาศ ท่อสายยาง หน้ากากดำน้ำ เหล็กแหลมยิงปลา และอื่นๆรวม 18 รายการเจ้าหน้าที่ได้ตรวจยึดและนำตัวมาสอบสวนและทำบันทึกที่สำนักงานฯ ซึ่งระหว่างนั้นชาวเลทั้ง 6 รายไม่ได้แจ้งว่ามีอาการน้ำหนีบหรือแจ้งว่าป่วยแต่อย่างใด

นายวิทูรย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ระหว่างที่ทำบันทึก เจ้าหน้าที่ได้ให้ชาวเลทั้ง 6 รายรับประทานอาหารตามปกติ ก่อนนำส่งพนักงานสอบสวนสภ.สาคูตามกฎหมาย โดยแจ้งข้อกล่าวหา ว่า “กระทำผิดตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 มาตรา 16 (3) นำสัตว์ออกไป หรือกระทำการใดใดให้เป็นอันตรายแก่สัตว์ , มาตรา 16 (13)เข้าไปดำเนินกิจการใดๆ เพื่อหาประโยชน์ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ , มาตรา 16(15)นำเครื่องมือสำหรับล่าสัตว์หรือจับสัตว์ หรืออาวุธใดใดเข้าไป เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงาน เจ้าหน้าที่ และปฏิบัติ ตามเงื่อนไขซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ ผู้อนุญาตกำหนดไว้ และมาตรา 18 บุคคลซึ่งเข้าไปในเขตอุทยานแห่งชาติต้องปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งได้สั่งให้ปฏิบัติตามระเบียบที่อธิบดีกำหนด โดยอนุมัติของรัฐมนตรี โดยคิดเป็นค่าเสียหายรวม 12,738 บาท

“อย่างไรก็ตามขอยืนยันเจ้าหน้าที่ทำตามกระบวนการกฎหมาย ไม่ได้มีการกลั่นแกล้งพี่น้องชาวเล แต่เจตนาทำเพื่อปกป้องทรัพยากรทางทะเล ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ได้รับแจ้งว่ามีการลักลอบจับสัตว์ทะเลในพื้นที่อุทยานในลักษณะดังกล่าวบ่อยครั้ง แต่ไม่สามารถจับกุมดำเนินคดีได้ ส่งผลให้สัตว์ทะเลลดน้อยลง และปะการังในบริเวณพื้นที่อุทยานเสื่อมโทรมอย่างรวดเร็ว หากยืนยันความบริสุทธ์ก็ขอให้ต่อสู้ในขั้นตอนของกฎหมาย” นายวิทูรย์ กล่าว

 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่