โซเชียลหวั่นจระเข้หิวอดจนต้องกินกันเอง ด้านเจ้าของฟาร์มแจงยังดูแลเป็นอย่างดี

ภูเก็ต - เจ้าของพื้นที่ฟาร์มจระเข้ ตั้งอยู่บนเนื้อที่กว่า 8 ไร่ บริเวณถนนเจ้าฟ้าตะวันตก ยืนยันมีผู้ดูแลให้อาหารเป็นประจำ พร้อมทั้งมีการติดต่อประสานงานกับเจ้าหน้าที่สำนักงานประมงจังหวัดภูเก็ตอยู่เสมอ ไม่มีการปล่อยให้จระเข้อดจนต้องกัดกินกันเอง พร้อมทั้งเชิญชวนให้เข้าไปเยี่ยมชมได้ฟรีไม่มีค่าใช้จ่ายและสามารถนำอาหารไปให้จระเข้ทั้ง 28 ตัวได้ทุกวัน

เอกภพ ทองทับ

วันศุกร์ ที่ 8 กรกฎาคม 2565, เวลา 12:44 น.

จากการที่มีการแชร์ข้อมูลในสังคมออนไลน์ ผู้ใช้ติ๊กต็อกชื่อ chefkongpkwizard ผู้เชี่ยวชาญฟาร์มจำหน่ายพันธ์ลูกจระเข้และสัตว์จากต่างประเทศเดินเข้าสำรวจฟาร์มจระเข้ ระบุ “บ่อจระเข้ร้าง รอวันนักท่องเที่ยวกลับคืน ...ทุกชีวิตยังรออยู่” พร้อมทั้งบรรยายว่า ที่แห่งครั้งหนึ่งเคยเป็นสถานที่แสดงโชว์จระเข้ชื่อดัง มีนักท่องเที่ยวจำนวนมาก สร้างรายได้นับล้านบาทต่อวัน ปัจจุบันกลายเป็นสถานที่รกร้าง แต่ยังคงมีจระเข้อยู่จำนวนหนึ่งถูกทิ้งเอาไว้ วอนรัฐหรือหน่วยงานเกี่ยวข้องเข้าช่วยเหลือ แม้จะมีผู้คนใจดีคอยให้อาหาร

เมื่อช่วงเย็นวันที่ 7 ก.ค. 65 ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบ พบสถานที่ดังกล่าวมีเนื้อที่ 8 ไร่ ตั้งอยู่บนถนนเจ้าฟ้าตะวันตก อ.เมืองภูเก็ต อดีตเป็นสถานที่จัดโชว์จระเข้ แต่หลังจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 นั้นได้ปิดตัวลง โดยเจ้าของกิจการได้ทิ้งจระเข้ไว้ให้เป็นสิทธิของเจ้าของที่ดิน

ป้าแก้ว ผู้ดูแลสถานที่ ได้เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า ฟาร์มจระเข้เปิดเมื่อประมาณ 8 ปีที่ผ่านมา ส่วนสาเหตุที่ปิดตัวลงก็เพราะสถานการณ์โควิด-19

“โควิดมาครั้งแรกคิดว่าจะมาไม่นานก็ยังเปิดอยู่ แต่พอโควิดยาว ๆ ไปคนที่เช่าก็สู้ไม่ไหวเลยปิดตัวไป ตอนนี้มีจระเข้ดูแลอยู่ 28 ตัว เจ้าของที่เขามาให้อาหารจระเข้พวกนี้ แล้วทางเจ้าของที่เขาก็ให้ป้าดูแลอยู่ ถ้าไม่มีคนมาให้อาหารเจ้าของก็จะนำอาหารมาให้เอง"

"ต่อมาทางเราจึงได้ออกไอเดียว่าเปิดพื้นที่ให้คนเข้ามาดูฟรี เมื่อคนเข้ามาดูจระเข้ฟรีได้ ใครจะซื้ออาหารมาให้ก็ได้เลย คนไทยใจดีนะมีมาเรื่อย ๆ มาช่วยซื้ออาหารให้จระเข้ บางทีเขาก็สงสารเขาก็ลงติ๊กต็อก จระเข้กินอิ่มไม่อดอยาก จะอดอยากช่วงโควิดแรก ๆ ช่วงที่เป็นของคนที่เช่าอยู่มักจะมีปัญหา อีกอย่างเมื่อก่อนยังไม่ได้เปิดดูฟรีก็เลยยังไม่มีคนให้ช่วย คนเช่าอยู่บางทีก็ให้บ้างไม่ให้บ้าง แต่ตอนนี้ก็มีให้ทุกวันตอนนี้ถ้าใครมาช่วง 08.00 - 09.00 น. ถ้าเราอยู่เราก็เปิดให้เข้าดู ใครอยากดูก็เข้าไปดูได้เลยปิดประมาณ 17.00 หรือ 18.00 น. เพราะข้างในไม่มีไฟน้ำไฟไม่มีแล้ว ตอนนี้มีเพียงไฟต่อจากที่บ้านพัก” ป้าแก้ว กล่าว

ทางด้าร น.ส.เมยานี สิทธิสุข อายุ 30 ปี นักท่องเที่ยวมาชมจระเข้กล่าวว่า ตนเพิ่งมาที่นี่ครั้งแรก เพราะทราบจากติ๊กต็อกที่ได้โพสต์เชิญชวนให้คนที่อยู่ในภูเก็ต สามารถมาดูแลได้ เพราะที่นี่ยังมีฟาร์มจระเข้เจ้าของปล่อยทิ้งเอาไว้

Berda Claude International School of Phuket (BCIS)

“เหมือนกับว่าพอหมดประโยชน์แล้วก็ทิ้งน้องไป แต่หนูก็มาดูเพราะหนูไม่เคยรู้เลยว่าที่นี่มีฟาร์มจระเข้ เดินทางมาจากกมลา ถ้าเป็นไปได้อยากให้มีคนมาเที่ยวมาดูเยอะ ๆ เขาจะได้ไม่เหงา” เธอกล่าว

ขณะที่เจ้าของสถานที่ นายสกุล งานวิวัฒน์ถาวร กล่าวว่า ทางฟาร์มมีการติดต่อกับเจ้าหน้าที่กรมประมงเป็นประจำ และจะมีเจ้าหน้าที่เข้ามาดูแลด้วย

“ตอนนี้ป้าเขาดูแลเรื่องอาหาร ถ้าไม่มีผมก็คนซื้อมาให้ ขอยืนยันว่าจระเข้ไม่อด ตัวโตขึ้นเรื่อย ๆ เรื่องอนาคตต้องติดต่อกรมประมง ว่าจะบริจาคหรือจะขายอย่างไร ถ้าใครจะซื้อก็ยินดีตัวใหญ่ ๆ ก็ประมาณเกือบหมื่น ตัวเล็กขายตัวละประมาณ 1,000 บาท ตอนนี้มีจระเข้ทั้งหมด 28 ตัว เราเปิดให้เข้ามาได้ ขอเชิญทุกคนมาชมได้ฟรี” นายสกุล กล่าว

อย่างไรก็ตาม นายสิทธิผล เมืองสง ประมงจังหวัดภูเก็ต ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบด้วยตนเอง หลังเกิดกระแสข่าวเรื่องจระเข้กัดกินกันเองพร้อมเผยว่า สำนักงานประมงจังหวัดภูเก็ต ได้จัดส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาดูแลเป็นประจำแล้ว ถ้าหากมีจระเข้ตายก็ต้องแจ้ง เพื่อที่จะได้ทำการพิสูจน์และถ่ายภาพแล้วนำไปฝังและระบุสาเหตุ การตายว่าเกิดจากอะไร ฟาร์มนี้ได้รับแจ้งตอนแรก 32 ตัวและตายไป 4 ตอนนี้เหลือ 28 ตัว” นายสิทธิผล กล่าว

“ทั้งนี้ผมได้แนะนำเจ้าของไว้ว่าเราต้องติดป้าย ถ้าใครจะเข้ามาดูจระเข้ต้องติดต่อเจ้าหน้าที่ก่อน เพื่อความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวเอง เพราะไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นว่า ใครเข้าออกเข้าออกก็ได้ และอาจจะเกิดอันตรายภายหลังได้”

“แต่ถ้าดูจากสภาพบ่อจระเข้ก็ไม่สามารถหลุดรอดไปข้างนอกได้เลย อยู่ในที่สมควรจะอยู่ มีความมั่นคงแข็งแรง จากที่ดูจระเข้ทั้งหมด 28 ตัวก็ไม่ได้ผอมอะไรตามที่เจ้าของเรียนไว้ว่ามีคนให้อาหารและดูแลตลอด แต่นักท่องเที่ยวเข้ามาเห็นสภาพเหมือนกับร้าง เขาก็เลยคิดสงสาร แต่จริง ๆ มีการให้อาหารและน้ำก็เปลี่ยนอยู่ตลอด” นายสิทธิผล กล่าว

 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่