โรงแรมในภูเก็ตเริ่มปิดตัวอีกครั้ง ป่าตองตกอยู่ในความมืด เหตุนักท่องเที่ยวลดลง

ภูเก็ต - โรงแรมทั่วเกาะภูเก็ตที่กลับมาเปิดให้บริการ พร้อมกับความหวังว่าจะสามารถจัดโปรโมชั่นดึงดูดผู้เข้าพักได้มากพอ ที่อย่างน้อยจะมีรายได้เพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายภายใน เพื่อให้การบริหารงานของโรงแรมยังดำเนินต่อไปได้ กำลังจะปิดตัวลงอีกครั้งหนึ่ง

ข่าวภูเก็ต

วันเสาร์ ที่ 16 มกราคม 2564, เวลา 09:00 น.

ป่าตองตกอยู่ในความมืด โรงแรมเริ่มปิดตัวอีกครั้ง เหตุนักท่องเที่ยวลดลง ภาพ ธัญลักษณ์ สากูต

ป่าตองตกอยู่ในความมืด โรงแรมเริ่มปิดตัวอีกครั้ง เหตุนักท่องเที่ยวลดลง ภาพ ธัญลักษณ์ สากูต

นายก้องศักดิ์ คู่พงศกร นายกสมาคมโรงแรมไทยภาคใต้ เปิดเผยกับ The Phuket News พร้อมระบุว่า จำนวนนักท่องเที่ยวภายในประเทศที่ลดลงไปมาก เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 คือตัวการสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจเป็นอย่างมาก
“สืบเนื่องจากการระบาดระลอกใหม่ของโควิด -19 ผู้ประกอบการโรงแรมบางแห่งกำลังพิจารณาปิดโรงแรมชั่วคราวอีกครั้ง เพราะการจองถูกยกเลิกไปเป็นจำนวนมาก ทำให้ทางโรงแรมไม่สามารถจัดการกับต้นทุนได้” นายก้องศักดิ์ กล่าว

“จากการสอบถามผู้ประกอบการโรงแรมประมาณ 10 ราย พบว่ามี 3 รายยืนยันว่าจะปิดอีกครั้ง เนื่องจากไม่สามารถรองรับต้นทุนและภาวะขาดทุนได้” เขากล่าว “เชื่อว่าจากนี้ไปจะมีผู้ประกอบการโรงแรมพิจารณาปิดมากขึ้น แต่ในขณะนี้ยังไม่สามารถประเมินตัวเลขได้”

“เป็นไปได้ว่าการระบาดในรอบใหม่นี้จะคงอยู่อย่างน้อย 1 เดือน เนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศยังคงเพิ่มขึ้นแม้ว่าในภูเก็ตจะไม่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ แต่นักท่องเที่ยวที่มาภูเก็ตก็มักจะมาจากจังหวัดที่มีความเสี่ยงสูง” นายก้องศักดิ์ อธิบาย “ที่ผ่านมาผู้ประกอบการโรงแรมในภูเก็ตพยายามเสนอส่วนลดพิเศษ แต่ก็ไม่เป็นผล”

“ยกตัวอย่าง เช่น โรงแรมบางแห่งเสนอโปรโมชั่น จ่ายมื้อค่ำ 2,000 บาท พักฟรี 1 คืน แต่ก็ยังไม่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาใช้บริการมากพอ”

นายก้องศักดิ์ กล่าวอีกว่า การระบาดในรอบนี้กำลังก่อให้เกิดความเสียหายในระยะยาวต่อโครงสร้างพื้นฐานด้านการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต ซึ่งเมื่อเดือนเมษายนปีที่ผ่านมาเขาเคยเตือนในเรื่องนี้เอาไว้แล้ว

“ผลกระทบจากการระบาดของไวรัสในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวภูเก็ตอาจส่งผลจนถึงปี 2567 ก่อนหน้านี้เราคาดว่าการท่องเที่ยวจะดีขึ้นมากภายในสิ้นปีนี้ [2564] หรือต้นปีหน้า” เขากล่าว

“นักท่องเที่ยวชาวไทยส่วนใหญ่ที่มาภูเก็ตมาจากกรุงเทพฯ ซึ่งตอนนี้จัดว่าเป็นพื้นที่มีความเสี่ยงสูง และรณรงค์ให้ประชาชนอาศัยอยู่แต่ในบ้าน ในขณะเดียวกันผู้ประกอบการโรงแรมเองก็มีความกังวลเช่นกัน ในการที่จะต้อนรับนักท่องเที่ยวจากพื้นที่เสี่ยง” นายก้องศักดิ์ กล่าว

“ปีนี้วิกฤติในภูเก็ตจะมาถึงจุดต่ำสุด ภายหลังจากที่ผู้ประกอบการพยายามรักษาธุรกิจของพวกเขาไว้เมื่อปีที่ผ่านมา ธุรกิจขนาดเล็กและขนาดใหญ่จะต้องตายจากไปในลักษณะเดียวกันในปีนี้”

“ปีนี้ผู้ประกอบการโรงแรมบางราย อาจประกาศขายโรงแรมในราคาที่ต่ำกว่ามูลค่าโรงแรม 50-60%” เขากล่าวเตือน

“เราต้องการความช่วยเหลือจากรัฐบาล รายงานของสนามบินภูเก็ต ระบุว่าจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาที่สนามบินภูเก็ตลดลงอย่างต่อเนื่อง การท่องเที่ยวของภูเก็ตจึงถือว่ายังห่างไกลจากการฟื้นตัว” นายก้องศักดิ์ กล่าว

“หากรัฐบาลยังไม่มีมาตรการที่ชัดเจน เกี่ยวกับเงินกู้ซอฟต์โลน และการพักชำระหนี้และดอกเบี้ย ผู้ประกอบการธุรกิจจำนวนมากก็ไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากยอมพ่ายแพ้ให้กับสถานการณ์นี้ไป” เขากล่าวเสริม

ด้าน นายภูมิกิตติ์ รักแต่งาม นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต เปิดเผยกับ The Phuket News ว่า ถึงแม้นักท่องเที่ยวบางส่วนจะมาเที่ยวภูเก็ตในช่วงวันหยุดปีใหม่ แต่จำนวนนักท่องเที่ยวก็ต่ำกว่าที่คาดการณ์เอาไว้ ทั้งนี้ สำหรับตัวเลขที่แน่ชัดต้องเป็นข้อมูลที่ต้องได้รับการยืนยันจากทางสนามบินภูเก็ต

เรืออากาศตรี ธานี ช่วงชู ผู้อำนวยการท่าอากาศยานภูเก็ต เปิดเผยเมื่อวันที่ 6 ม.ค. ถึงกรณีการแชร์ข้อมูลในโซเชียลว่ามีการยกเลิกเที่ยวบิน ที่จะเดินทางมายังจังหวัดภูเก็ตทั้งหมดนั้น “ไม่เป็นความจริง” โดยตารางการบินเข้าออกสนามบินภูเก็ตยังคงมีอยู่ตามปกติ แต่บางสายการบินได้ขอยกเลิกบางเที่ยวบิน เพราะผู้โดยสารลดจำนวนลง เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่

สำหรับในห้วงเดือนมกราคมนี้ สายการบินจำนวน 6 สายการบิน ที่ทำการยกเลิกบางเที่ยวบิน(บางช่วงเวลา)มายังจังหวัดภูเก็ต ได้แก่ นกแอร์, ไทยสไมล์, ไทยแอร์เอเชีย, ไทยเวียดเจ็ทแอร์, ไทยไลอ้อน และบางกากแอร์เวย์ ซึ่งเที่ยวบินส่วนใหญ่บินเส้นทาง ดอนเมือง-ภูเก็ต รวมถึงเส้นทางเชียงราย-ภูเก็ต และจากสนามบินอู่ตะเภา

บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT ยืนยันว่าระหว่างวันที่ 1-5 ม.ค. มีผู้โดยสารทั้งหมด 38,915 คนผ่านสนามบินภูเก็ต มีรายละเอียดดังนี้วันที่ 1 ม.ค. มีผู้โดยสาร 7,662 คนวันที่ 2 ม.ค. มี 8,692 คน, 3 ม.ค. มี 10,458 คน, 4 ม.ค. 7,084 คน และ 5 ม.ค.ผู้โดยสาร 5,015 คน

ผู้โดยสารภายในประเทศที่ผ่านสนามบินภูเก็ตในช่วงวันเดียวกันของปีก่อนมีจำนวนทั้งสิ้น 115,714 คน ดังนี้ 1 ม.ค. 23,244 คน, 2 ม.ค. ผู้โดยสาร 24,323 คนวันที่ 3 ม.ค. ผู้โดยสาร 23,808 คน 4 ม.ค. ผู้โดยสาร 22,563 คน และ 5 ม.ค. 21,776 คน
โดยรวมแล้วจำนวนผู้โดยสารภายในประเทศที่เดินทางผ่านสนามบินภูเก็ตในปีนี้ลดลง 69.37% จากปีที่แล้ว

“ขณะนี้แม้ว่าจะไม่มีการล็อกดาวน์ แต่ก็มีนักท่องเที่ยวจำนวนน้อยมาก เพราะนักท่องเที่ยวชาวไทยส่วนใหญ่เป็นผู้ที่อาศัยอยู่ในจังหวัดที่มีการแพร่ระบาด ซึ่งในตอนนี้ไม่มีการเดินทางท่องเที่ยว” นายภูมิกิตติ์ กล่าว

“ปัจจัยที่สำคัญมากในขณะนี้คือการควบคุมทั้งต้นทางและปลายทาง ต้นทางมีกระบวนการควบคุมโควิด-19 อยู่แล้ว แต่ในส่วนของภูเก็ตยังต้องเพิ่มความเข้มข้นและจัดการให้ดียิ่งขึ้น เพราะเราจะปล่อยให้มีการติดเชื้อและแพร่ระบาดอีกไม่ได้” เขากล่าว

นายภูมิกิตติ์ กล่าวให้กำลังใจผู้ประกอบการโรงแรมให้อยู่รอดต่อไปให้ได้

“พวกเราล้วนแล้วแต่ได้รับผลกระทบกันทั้งสิ้น รวมไปถึงพี่น้องของเราที่อยู่ในพื้นที่การระบาด ที่กำลังต้องการกำลังใจเป็นอย่างมาก เพราะฉะนั้นในเวลานี้ภูเก็ตต้องรักษาตัวเองให้เป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยที่สุด เมื่อสถานการณ์ดีขึ้นก็จะส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวกเดินทางไปภูเก็ตได้ง่ายขึ้น” เขากล่าว

อย่างไรก็ตาม นายภูมิกิตติ์ยังกล่าวอีกว่า ผู้ประกอบการโรงแรมในภูเก็ตหลายรายกำลังจะตาย เพราะไม่รู้ว่าแนวทางปฏิบัติว่าควรเดินไปต่ออย่างไร

“พวกเราเหนื่อยกันมาก” เขากล่าว “หวังว่ารัฐบาลจะเข้าใจ แม้จะต้องตอบคำถามยาก ๆ มากมายก็ตาม”

“มีสิ่งหนึ่งที่อยากให้ระลึกเอาไว้ คือ การระบาดจะสิ้นสุดลงในที่สุด จากนั้นจะมุ่งความสนใจไปที่เรื่องเศรษฐกิจ หากผู้ประกอบการสามารถอยู่รอดได้ในช่วงนี้ เมื่อการระบาดสิ้นสุดลงก็สามารถดำเนินการต่อไปได้ แต่ถ้าปล่อยให้พวกเขาล้มลง ผลกระทบจะเป็นลบมากขึ้น และจะสร้างความเสียหายให้กับเศรษฐกิจไปอีกนาน” นายภูมิกิตติ์ กล่าว

ตอนนี้รัฐบาลต้องให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาการระบาดในปัจจุบัน แต่ก็ต้องริเริ่มให้ความช่วยเหลืออย่างแท้จริง สำหรับผู้ประกอบการที่กำลังดิ้นรนเอาชีวิตรอด เขากล่าว
“รัฐบาลต้องจัดลำดับความสำคัญในการควบคุมการระบาด เพราะหากการระบาดยังคงแพร่กระจายไปทั่ว การท่องเที่ยวจะไม่มีวันฟื้นกลับมาได้อย่างแน่นอน” เขากล่าว

“แต่ในระหว่างนี้ต้องมีการสนับสนุนผู้ประกอบการใน 3 ประเด็นหลัก คือ หนี้ปัจจุบัน, ปัญหาแรงงาน และการจ่ายค่าสาธารณูปโภค” นายภูมิกิตติ์ กล่าวเสริม

“เพราะการท่องเที่ยวมีสองด้าน คือ ดีมานด์ (อุปสงค์ หรือปริมาณความต้องการซื้อสินค้าและบริการ) และ ซัพพลาย (อุปทาน หรือ ปริมาณความต้องการขายสินค้าและบริการ) สำหรับแคมเปญ ‘We Travel Together’ ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องที่ดีมาก แต่ในขณะนี้อาจไม่มีผู้เดินทางเข้ามาท่องเที่ยว เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโรค แต่ก็ต้องมีการสนับสนุนทางด้านอุปทานด้วย” เขากล่าว

 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่