ใกล้เข้าไปอีกก้าว! ครม.เห็นชอบ รฟม. ดำเนินกิจการรถไฟฟ้ารางเบาภูเก็ต เร่งทำ EIA

ภูเก็ต - เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (11 ก.ย. 61) ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาการให้รถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) สามารถดำเนินกิจการรถไฟฟ้าในภูมิภาค เพื่อขับเคลื่อนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย ซึ่งหมายรวมถึงจังหวัดภูเก็ต พังงา และเชียงใหม่

จุฑารัตน์ เปลรินทร์

วันพฤหัสบดี ที่ 13 กันยายน 2561, เวลา 15:58 น.

พลโท สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม. สามารถดำเนินกิจการรถไฟฟ้าในจังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดพังงา และจังหวัดภูเก็ต เพื่อสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่จะขับเคลื่อนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งทั้งเส้นทางหลักและเส้นทางรอง เนื่องจากกฎหมายที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน รฟม. สามารถดำเนินโครงการรถไฟฟ้าได้ภายในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลเท่านั้น

โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต หรือ โครงการรถไฟฟ้ารางเบาจังหวัดภูเก็ต ได้ดำเนินการออกแบบโดย สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร หรือ สนข เมื่อปี 2558 และ กระทรวงคมนาคมมอบให้ รฟม. รับผิดชอบในขั้นตอนของการลงทุนและก่อสร้าง ปัจจุบัน รฟม อยู่ระหว่างการศึกษารายงาน PPP (การร่วมทุนระหว่างภาครัฐกับเอกชน) ของโครงการรถไฟฟ้ารางเบาจังหวัดภูเก็ต ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จและนำเสนอ ครม. ให้ความเห็นชอบได้ภายในปี 2562 นี้ ทั้งนี้ เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2560 ในคราวประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ที่จังหวัดสงขลา ครม. ได้รับทราบและให้เร่งรัดการดำเนินงานของโครงการรถไฟฟ้ารางเบาจังหวัดภูเก็ต

โดยเมื่อต้นปีที่ผ่านมา คณะกรรมการสผ.ลงพื้นที่จังหวัดภูเก็ต สำรวจเส้นทางเพื่อเก็บข้อมูลประกอบการพิจารณา EIA (อ่านเพิ่มเติม คลิก)

สำหรับรายงานล่าสุดของ รฟม.ระบุว่า แนวทางการดำเนินงาน ช่วงที่ 1 จากท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต – ห้าแยกฉลอง จะเป็นในแบบทางวิ่งระดับพื้นดิน (At Grade) บางช่วงเป็นทางวิ่งลอดใต้ดิน (Underground) และทางวิ่งยกระดับ (Elevated) บริเวณทางเข้าท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต โดยมีระยะทางรวม ประมาณ 58.5 กิโลเมตร (ทั้งโครงข่ายจากท่านุ่น ถึง ห้าแยกฉลอง)

ทางวิ่งช่วงท่าอากาศยานนานาชาติจังหวัดภูเก็ต – ห้าแยกฉลอง เป็นทางคู่ (Double Track) ตลอดแนวเส้นทาง มีการใช้ช่องจราจรร่วมกับรถยนต์ในบางช่วง โดยจะมีการปรับเปลี่ยนการจราจรในเมืองที่ความเร็วสูงสุด 100 กม./ชม. ในเขตนอกเมือง และความเร็วเฉลี่ย 20 - 40 กม./ชม. ในเขตเมือง

ทั้งโครงข่ายมีจำนวนทั้งสิ้น 24 สถานี โดยในช่วงท่าอากาศยานนานาชาติจังหวัดภูเก็ต - ห้าแยกฉลอง มี 21 สถานี แบ่งเป็น สถานีระดับพื้นดิน 19 สถานี, สถานียกระดับ 1 สถานี และสถานีใต้ดิน 1 สถานี ดังนี้

1. สถานีท่าอากาศยานภูเก็ต (สถานียกระดับ) 2. สถานีเมืองใหม่ 3. สถานีโรงเรียนเมืองถลาง 4. สถานีถลาง (สถานีใต้ดิน) 5. สถานีอนุสาวรีย์ ท้าวเทพกษัตรี ท้าวศรีสุนทร 6. สถานีเกาะแก้ว7. สถานีขนส่ง 8. สถานีราชภัฎภูเก็ต9. สถานีทุ่งคา 10. สถานีเมืองเก่า11. สถานีหอนาฬิกา 12. สถานีบางเหนียว13. สถานีห้องสมุดประชาชน14. สถานีสะพานหิน15. สถานีศักดิเดชน์ 16. สถานีดาวรุ่ง17. สถานีวิชิต 18. สถานีเจ้าฟ้าตะวันออก 19. สถานีป่าหล่าย 20. สถานโคกโตนด 21. สถานีฉลอง

และอีก 3 สถานี เป็นสถานีระดับดิน อยู่ในการพัฒนาโครงการระยะที่ 2 นอกเหนือจากขอบเขตที่ รฟม.จะดำเนินการในครั้งนี้ ประกอบด้วย สถานีท่านุ่น สถานีท่าฉัตรชัย และสถานีประตูเมืองภูเก็ต

สำหรับจุดตัดระหว่างถนนและแนวเส้นทางระบบรถไฟฟ้ารางเบา ช่วงแนวเส้นทางโครงการจากทางหลวงหมายเลข 402 จากแยกจุดตัดทางหลวงหมายเลข 402 กับทางหลวงหมายเลข 4026 ถึง กม. 49+000 ก่อนเข้าสู่เขตเทศบาลนครภูเก็ต ออกแบบโดยลดจุดตัดเสมอระดับที่เกิดจากการมีรถไฟฟ้ารางเบาให้เหลือน้อยที่สุด เพื่อความปลอดภัย โดยการออกแบบทางลอดจำนวน 3 แห่ง (จำนวนทางลอดทั้งหมด 6 แห่ง) ให้ระบบรถไฟฟ้ารางเบาลอดใต้ถนน ซึ่งบนทางลอดสามารถใช้เป็นผิวจราจรสำหรับทางแยกและการกลับรถได้ รวมทั้งการปิดจุดกลับรถจำนวน 8 จุด

บริเวณแยกสัญญาณไฟ เป็นรูปแบบจุดตัดเสมอระดับ และควบคุมโดยสัญญาณไฟ โดยให้สิทธิ์พิเศษที่ทางแยกแก่รถไฟฟ้ารางเบา ซึ่งจะมีทางลอดสำหรับรถไฟฟ้ารางเบา 3 แห่ง คือ บริเวณร้านคุณแม่จู้ บริเวณที่ทำการไปรษณีย์ถลาง และบริเวณสถานีตำรวจถลาง

นอกจากนี้ยังมี U-Turn เกือกม้าสำหรับรถยนต์ 2 แห่ง ที่บริเวณ Western Union (กม. 28+907) และบริเวณสถานตรวจสภาพรถยนต์ (กม. 39+810) พร้อมกำหนดปิดจุดกลับรถ 8 จุดและแยกสัญญาณไฟ 12 จุด

ส่วนช่วงแนวเส้นทางโครงการตั้งแต่ กม. 49+000 เข้าสู่เขตเทศบาลนครภูเก็ต จนถึงถนนเจ้าฟ้าตะวันออก ใช้รูปแบบจุดตัดเสมอระดับควบคุมการจราจร โดยใช้สัญญาณไฟโดยให้สิทธิ์พิเศษที่ทางแยกแก่รถไฟฟ้ารางเบา

การจัดการปรับจราจรในเมืองภูเก็ตถนนภูเก็ต/เทพกระษัตรี ช่วงระหว่างแยกถนนทุ่งคากับแยกถนนดีบุก: เนื่องจากถนนมีผิวจราจรแคบจึงปรับการเดินรถจากการเดินรถสองทิศทางเป็นการเดินรถทิศทางเดียวจากเหนือไปใต้ ถนนเยาวราช ช่วงระหว่างถนนโกมารภัจจ์ ถึงถนนดีบุก ปรับให้มีการเดินรถทางเดียว จากใต้ขึ้นเหนือ

ซึ่งการออกแบบสถานีรถไฟฟ้ารางเบานั้น ที่ปรึกษาโครงการจะต้องทำการออกแบบให้สอดคล้องกับแผนการเดินรถ ซึ่งสถานีรถไฟฟ้ารางเบานี้มีทั้งสถานียกระดับ สถานีบนดิน และสถานีใต้ดิน ซึ่งบางมาตรฐานอาจจะละเว้นได้สำหรับรูปแบบสถานีบนดิน เพื่อตอบสนองและเป็นไปตามปัจจัย ตามที่กำหนดเช่น รูปแบบอาคารสถานีและสิ่งก่อสร้างสำหรับสาธารณะอื่น ๆ ในโครงการ จะคำนึงถึงอัตลักษณ์เฉพาะตัวของจังหวัดภูเก็ต, ชานชาลาต้องสอดคล้องกับระบบปฏิบัติการของการเดินรถ ระบบการสัญจร และระบบการเดินรถ พร้อมทั้งมีระบบสาธารณูปโภคครบครัน ระบบโครงสร้างได้มาตรฐานสอดคล้องกับจำนวนผู้โดยสาร จำนวนรถไฟในแต่ละเที่ยว หรือ การออกแบบมีความยืดหยุ่น สามารถปรับให้เหมาะสมกับสภาพที่ตั้งอาคารได้

สำหรับขั้นตอนต่อไปหลังจากนี้ นายธีรพันธ์ เตชะศิรินุกูล รองผู้ว่าการ กลยุทธ์และแผน รฟม.ได้กล่าวเมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รักษาการผู้ว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ว่า รฟม.จะดำเนินการส่งรายงานพีพีพีให้กับ กระทรวงคมนาคมพิจารณาให้ความเห็นชอบ จากนั้น รฟม.ส่งรายงานพีพีพีให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.)พิจารณา เพื่อนำเสนอคณะกรรมการนโยบายฯ เมื่อคณะกรรมการนโยบายฯให้ความเห็นชอบ ก็จะได้นำเสนอ ครม. และครม.พิจารณาอนุมัติโครงการและงบประมาณ ก่อนจะได้เริ่มดำเนินโครงการรถไฟฟ้ารางเบาภูเก็ตต่อไป ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาก่อสร้างโครงการประมาณ 2 ปี

 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่