8 กลุ่มเสี่ยงอัมพฤกษ์-อัมพาต ใครบ้างที่เสี่ยงเป็นโรคนี้?

อัมพฤกษ์-อัมพาต คืออะไร? อัมพฤกษ์-อัมพาต คือโรคหลอดเลือดสมอง หรือ Stroke เป็นอาการผิดปกติของระบบประสาทที่เกิดขึ้นทันทีทันใดจากเนื้อสมองขาดเลือด หรือเลือดไปเลี้ยงได้น้อยลงจากหลอดเลือดแดงที่ ตีบ อุดตัน หรือ แตก ส่งผลให้เนื้อสมองถูกทำลาย โดยมีอาการแสดงอยู่นานกว่า 24 ชั่วโมง

โพสต์ทูเดย์

วันจันทร์ ที่ 7 ตุลาคม 2562, เวลา 17:00 น.

ภาพ freepik

ภาพ freepik

ส่วนในรายที่มีภาวะสมองขาดเลือดแบบชั่วคราว (transient ischemic attack: TIA) จะมีอาการของโรคหลอดเลือดสมองเกิดขึ้นชั่วขณะแล้วหายไปเองภายใน 24 ชั่วโมง หรืออาจเกิดขึ้นได้หลายครั้งก่อนจะมีอาการสมองขาดเลือดแบบถาวร ซึ่งโรคหลอดเลือดสมองที่เกิดขึ้นจะมีอาการมากหรือน้อยแตกต่างกันไปขึ้นกับตำแหน่งและบริเวณของสมองที่ขาดเลือดไปเลี้ยง

ปัจจัยเสี่ยงของอัมพฤกษ์-อัมพาต (โรคหลอดเลือดสมอง) แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่
ปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ ได้แก่ อายุที่มากขึ้น (มักพบในคนวัย 45 ปีขึ้นไป) พันธุกรรม เพศ (มักพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง) เชื้อชาติ เป็นต้น
ปัจจัยที่ควบคุมได้ ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคเบาหวาน การสูบบุหรี่ ผู้ที่ป่วยเป็นโรคลิ้นหัวใจ โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคอ้วน นอนกรน เป็นต้น

ใครบ้างที่เสี่ยงเป็นโรคนี้?
1.โรคความดันโลหิตสูง ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองจะมีภาวะความดันโลหิตสูงถึงร้อยละ 70 และพบว่าการควบคุมความดันตัวบนลดลงมา 5-6 มิลลิเมตรปรอท จะลดความเสี่ยงได้ร้อยละ 40% ทีเดียว ดังนั้น หลายท่านที่เป็นความดันแล้วไม่ยอมกินยาคุณหมอ อย่าลืมวัดความดันนะครับว่าความดันควบคุมได้ดีหรือยัง ถ้ายังก็ยังแนะนำให้รับประทานยา หรือปรึกษาคุณหมอเพื่อปรับแผนการรักษาด้วยกัน โรคความดันโลหิตสูงส่วนใหญ่แล้วจะไม่มีอาการแสดง ถ้าไม่ไปตรวจวัดก็จะไม่รู้เลย แต่ถ้ามีอาการแล้วมักจะแก้ไขไม่ค่อยทันเท่าไหร่ โรคอัมพาตก็เป็นหนึ่งในอาการแสดงของภาวะความดันโลหิตสูงที่ควบคุมได้ไม่ดี

2.เบาหวาน พบว่าคนที่เป็นเบาหวานจะมีโอกาสเกิดอัมพาตได้สูงกว่าคนปกติ 2-3 เท่า

3.ไขมันในเลือดสูง จากข้อมูลไม่พบความสัมพันธ์โดยตรง แต่พบว่าหากได้รับยาลดไขมันกลุ่มสเตตินในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงแล้วมีคลอเลสโตรอลสูงจะสามารถลดความเสี่ยงในการเกิดโรคสมองตีบได้

4.สูบบุหรี่ พบว่าคนที่สูบบุหรี่จะมีโอกาสเกิดโรคอัมพาตได้สูงกว่าคนทั่วไป 1-5 เท่า และเมื่อหยุดบุหรี่เลย 2-5 ปีจะพบโอกาสเกิดโรคหลอดเลือดสมองลดลง 30-40% ดังนั้นท่านผู้อ่านถ้ายังสูบบุหรี่อยู่ หรือมีคนใกล้ตัวที่ท่านรักสูบอยู่ แนะนำให้หยุดเลยตั้งแต่วันนี้

5.การดื่มแอลกอฮอล์วันละ 5 หน่วย (เบียร์ 1 ขวด ไวน์ 1 แก้ว เหล้าขาว 1 เป๊ก) แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น แม้จะดื่มน้อยกว่านี้ก็เพิ่มความเสี่ยงได้เช่นกัน จึงแนะนำว่าไม่ควรทานเลยจะดีกว่า

6.ภาวะอ้วน (BMI > 25) อ้วนลงพุง (ชาย 40 นิ้ว/หญิง 35 นิ้ว) การคำนวณ BMI สามารถทำได้โดยนำน้ำหนักที่มีหน่วยเป็นกิโลกรัมตั้ง แล้วหารด้วยส่วนสูงที่หน่วยเป็นเมตรยกกำลังสอง เช่นถ้าสูง 175 ซม ก็คือ 1.7 ยกกำลังสอง ถ้าหารแล้วมากกว่า 25 แสดงว่าคุณอยู่ในภาวะอ้วนแล้วละ

7.ไม่ออกกำลังกาย อันนี้จริงๆ คงจะเป็นสาเหตุของทุกโรคเลยก็ว่าได้ ปัจจุบันใครลองคิดย้อนว่า 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา ยังไม่ได้ออกกำลังกายเลย หลังอ่านบทความนี้จบควรจะออกกำลังกาย

8.ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ Atrial Fibrillation ภาวะนี้คือการที่หัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะสม่ำเสมอ ซึ่งการที่หัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะ จะมีช่วงที่หัวใจไม่บีบตัว หรือบีบตัวช้ากว่าปกติ ทำให้เลือดในห้องหัวใจไม่ไหลเวียน อาจเกิดการตกตะกอนของเลือดกลายเป็นลิ่มเลือดได้ เปรียบเทียบได้กับน้ำที่ไม่ไหลเกิดตกเป็นตะกอน แล้วลิ่มเลือดที่เกิดขึ้นในห้องหัวใจก็เกิดหลุดขึ้นไปอุดตันในเส้นเลือดสมอง ภาวะนี้เกิดได้มากขึ้นในผู้สูงอายุ ซึ่งปกติแล้วคนไข้มักไม่มีอาการ การตรวจสุขภาพประจำปีอาจจะช่วยให้พบภาวะนี้ได้ จากสถิติพบว่าถ้ามีภาวะ Atrial Fibrillation นี้จะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นถึง 6 เท่าเลยทีเดียว แล้วถ้าเราตรวจพบโรคนี้ตั้งแต่เนิ่นๆ ก็สามารถให้ยาต้านการแข็งตัวของเลือดได้ ซึ่งก็จะช่วยลดการเกิดโรคหลอดเลือดสมองได้เยอะเลยทีเดียว

(อ่านโพสต์ทูเดย์ คลิก)

 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่