กรมการแพทย์เตือนดื่มยาดองผสมสัตว์มีพิษอันตรายถึงตาย ไม่พบหลักฐานการรักษาโรค

กรมการแพทย์ โดยสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) เตือนอันตรายจากการดื่มสุรา ที่นอกจากจะส่งผลโดยตรงต่อร่างกายแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ ทั้งยังเน้นย้ำไปถึงกลุ่มผู้ที่นิยมดื่มยาดองสัตว์มีพิษ เพื่อหวังผลในการรักษาหรือบำรุงกำลัง ว่าออกฤทธิ์รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต และยังไม่พบหลักฐานทางการแพทย์ว่าใช้รักษาโรคได้

ข่าวภูเก็ต

วันอาทิตย์ ที่ 27 ตุลาคม 2562, เวลา 12:00 น.

ภาพ นายแพทย์มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์

ภาพ นายแพทย์มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์

นายแพทย์มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า สุรา มีเอทิลแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบสำคัญ มีฤทธิ์กดระบบประสาทส่วนกลาง เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะถูกดูดซึมและกระจายไปทุกส่วนของร่างกาย มีผลต่อการทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกาย การดื่มสุราเป็นระยะเวลานานส่งผลกระทบต่อผู้ติดสุราทำให้เสียสุขภาพ เสียสัมพันธภาพกับคนในครอบครัวและการงาน ซึ่งการสูญเสียเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของผู้ติดสุรา พิษสุราแบบเฉียบพลัน ทำให้ขาดสติ ควบคุมตัวเองไม่ได้ อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุหรือทะเลาะวิวาทได้ง่าย หลังการดื่มอย่างหนักเช้าตื่นมาจะเมาค้าง ทำให้อ่อนเพลีย คลื่นไส้ ปวดศีรษะ หัวใจเต้นเร็ว การดื่มสุราปริมาณมากในระยะเวลาสั้น ๆ อาจทำให้เกิดภาวะแอลกอฮอล์เป็นพิษเฉียบพลัน อันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้ และพิษแบบเรื้อรัง จะหมกมุ่นกับการหาสุราดื่มตลอดเวลา ทำให้สุขภาพร่างกายทรุดโทรม ขาดความรับผิดชอบ หากมีการผสมสารพิษในสุราจะยิ่งทำให้เกิดพิษทางร่างกายอย่างรุนแรงและอาจเสียชีวิตได้

นพ.สรายุทธ์ บุญชัยพานิชวัฒนา ผอ.สบยช. กล่าวเพิ่มเติมว่า การดื่มสุราส่งผลต่อสุขภาพทำลายตับ เหยื่อบุกระเพาะ ลำไส้อักเสบ เป็นแผลในกระเพาะอาหาร และในกลุ่มผู้ที่นิยมนำสุราไปดองกับสัตว์มีพิษแล้วดื่ม เพื่อหวังผลทางการรักษาอาการเจ็บป่วย หรือเพื่อบำรุงร่างกาย บำรุงกำลัง อันตรายมากเพราะอาจได้รับพิษจากสัตว์ถึงขั้นเสียชีวิต และในทางการแพทย์ยังไม่พบหลักฐานในการรักษาโรคได้ ผู้ที่ดื่มสุราจนติด เมื่อหยุดดื่มจะเกิดอาการถอนพิษ ซึ่งสามารถรักษาให้หายได้เป็นปกติ

การบำบัดรักษาสุรามี 2 รูปแบบ คือ การบำบัดรักษาแบบผู้ป่วยนอก เหมาะสำหรับผู้ติดแบบไม่รุนแรงมาก สามารถดูแลการทานยาและควบคุมการหยุดดื่มได้ ไม่มีภาวะแทรกซ้อนทางกาย และการบำบัดแบบผู้ป่วยใน เหมาะสำหรับผู้ที่ไม่สามารถควบคุมการดื่มได้ โดยแพทย์จะบำบัดรักษาอาการถอนพิษสุราและภาวะแทรกซ้อน จากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูสมรรถภาพเพื่อฟื้นฟูกระบวนการคิด สมรรถภาพร่างกายและจิตใจควบคู่กันไป หากประสบปัญหาเกี่ยวกับสุรา หรือยาและสารเสพติด ขอรับคำปรึกษาได้ที่ สายด่วนยาเสพติด 1165 หรือ สบยช.ปทุมธานี และโรงพยาบาลธัญญารักษ์

ในส่วนภูมิภาคทั้ง 6 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาล ธัญญารักษ์เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ขอนแก่น อุดรธานี สงขลา และปัตตานี สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.pmindat.go.th

 

 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่