การต่อสู้กับ “แบคทีเรียกินเนื้อคน” หรือโรคเนื้อเน่า ของชายต่างชาติในภูเก็ต

เอ็ด โอลีสแลเกอร์ ‘Ed Olieslagers’ ชายชาวต่างชาติที่พักอาศัยระยะยาวบนเกาะภูเก็ต กำลังปฏิบัติภารกิจเพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับ Necrotizing fasciitis หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ โรคแบคทีเรียกินเนื้อคน หรือโรคเนื้อเน่า หลังจากที่เขาถูกยุงกัดและสุดท้ายเขาต้องสูญเสียขาของเขาไป

ข่าวภูเก็ต

วันพุธ ที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566, เวลา 10:00 น.

ซ้าย: ภาพเท้าของ Ed Olieslagers เมื่อเขามาถึงโรงพยาบาล ขวา: เอ็ดที่ขาของเขาถูกตัดเพื่อรักษาชีวิตใน 4 เดือนต่อมา

ซ้าย: ภาพเท้าของ Ed Olieslagers เมื่อเขามาถึงโรงพยาบาล ขวา: เอ็ดที่ขาของเขาถูกตัดเพื่อรักษาชีวิตใน 4 เดือนต่อมา

“มันสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคนและเกิดได้ทุกเวลา การแพทย์มีประสบการณ์เกี่ยวกับโรคนี้น้อยเกินไป และมักจะวินิจฉัยโรคได้ช้าเกินไปด้วย ซึ่งการละเลยไม่ใส่ใจกับบาดแผลเล็ก ๆ ที่คิดว่าไม่เป็นอันตรายคือจุดเริ่มต้นของปัญหา” เอ็ด กล่าวเตือน

เอ็ด อายุ 62 ปี มีพื้นเพเป็นชาวเนเธอร์แลนด์ แต่ได้พักอาศัยอยู่ในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2549 โดยเขาอาศัยอยู่ที่ภูเก็ตในระหว่างปี 2553-2557 อดีต ‘ผู้ซื้อ/เจ้าหน้าที่เชิงกลยุทธ์ระดับโลก’ ให้กับ ‘รถยนต์/รถบัสวอลโว่’ ปัจจุบันอาศัยอยู่ที่อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา แต่เขามีแผนจะย้ายกลับมาอยู่ที่ภูเก็ตในปีนี้

แพทย์วินิจฉัยโรคเมื่อวันที่ 17 เมษายนปีที่แล้ว หลังจากที่เขาถูกยุงกัด จนเกิดอักเสบและอาการแย่ลง “สัญญาณแรกคือความเจ็บปวดแสนสาหัส ซึ่งคล้ายกับอาการของโรคเกาต์” เอ็ดเล่า

หลังจากความกังวลเกี่ยวกับสัญญาณของการติดเชื้ออย่างต่อเนื่อง เขาไปพบหมอรักษาโรคไขข้อโรคข้อเป็นครั้งแรก และเขาก็ต้องอยู่ที่โรงพยาบาลในอีก 4 ชั่วโมงต่อมา ในแง่หนึ่งเอ็ดยังโชคดีที่ทางแพทย์ของโรงพยาบาลวินิจฉัยการติดเชื้อได้ถูกต้องภายในเวลาเพียง 2 ชั่วโมง โดยเอ็ดได้แสดงภาพถ่ายที่เป็นหลักฐานว่าเกิดอะไรกับเท้าของเขาในเวลา 2 ชั่วโมงนั้น

“และนั่นเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการผ่าตัดที่ยาวนาน การใช้ยา และความเจ็บปวดแสนสาหัส ที่ผมยังไม่สามารถอธิบายเป็นคำพูดได้” เอ็ดกล่าว

เอ็ดเข้ารับการผ่าตัดทั้งหมด 9 ครั้ง ในที่สุดก็ส่งผลให้เขาต้องตัดขาซ้ายช่วงเหนือเข่า ขาขวาท่อนล่างใต้เข่าของเขาก็ต้องถูกตัดเช่นกัน เนื่องจากภาวะแทรกซ้อนที่เกี่ยวข้องกับการเกิดลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือด

“ในที่สุดผมก็ออกจากโรงพยาบาลได้ในวันที่ 15 สิงหาคม 2565 โดยรวมแล้ว น้ำหนักผมลดลงไป 25 กิโลกรัม ในช่วงเวลา 4 เดือน” เอ็ดกล่าว ซึ่งในช่วงเวลานั้นมีหลายครั้งที่เขากังวลเป็นอย่างมาก ว่าเขาจะมีชีวิตรอดต่อไปหรือไม่

“ผมตื่นขึ้นมาในวันรุ่งขึ้น (16 ส.ค.) และถามตัวเองว่าผมจะต้องทำยังไง” เอ็ดเล่าต่อไปว่า ผลกระทบทางอารมณ์ที่เกิดขึ้นนั้นมันหนักหนามากและต้องใช้เวลาพอสมควร กว่าที่เขาจะทำใจได้กับสถานการณ์ใหม่ในชีวิตของเขาด้วยการ “ยอมรับสถานการณ์และแก้ปัญหาตามที่ปรากฏตรงหน้า”

การฟื้นตัวทางกายภาพและการเงินก็มีความสำคัญเช่นกัน “วางแผนเอาชีวิตรอดเพื่อเป็นอิสระและฝึกฝนร่างกายให้กลับมาอยู่ในสภาพเดิมโดยเร็วที่สุด” เอ็ดกล่าว

การติดเชื้อและการรักษาตัวในโรงพยาบาลส่งผลกระทบต่อการเงินของเอ็ด ก่อนเกิดโควิด-19 เขาเคยทำธุรกิจออกแบบและก่อสร้างสระว่ายน้ำที่ประสบความสำเร็จในชื่อ บริษัท สมุย วอเตอร์ โซลูชั่นส์ จำกัด อย่างไรก็ตาม เช่นเดียวกับธุรกิจอื่น ๆ ผลกระทบของการระบาดใหญ่ทำให้ธุรกิจของเขาพังทลาย

เงินออมของเขาหมดลงและไม่มีรายได้ ส่งผลให้ประกันสังคมของเขาขาดไป เอ็ดได้ขอความช่วยเหลือผ่าน Go Fund Me ในชื่อ ‘Ed Olieslagers’s Road to Mobility’ มีเป้าหมายที่ 50,000 ยูโร (ประมาณ 1.78 ล้านบาท) จนถึงตอนนี้เขาได้รับเงินบริจาคเพียงประมาณ 780 ยูโร (ประมาณ 27,802 บาท)

เป้าหมายคือการจ่ายค่ารักษาพยาบาลที่ยังค้างอยู่ ซึ่งมีจูดี้เพื่อนชาวออสเตรเลียเป็นผู้รับผิดชอบจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาล ซึ่งเอ็ดต้องการจ่ายคืนเป็นเงินจำนวน 650,000 บาท สำหรับจำนวนเงินอีก 500,000 บาท จะเป็นเงินสำหรับขาเทียมและการแก้ปัญหาด้านการเคลื่อนไหว “ขาเทียมมีราคาแพง และผมยังวางแผนที่จะใช้รถเอทีวีเพื่อใช้ขับไปไหนมาไหนด้วย” เอ็ดกล่าว ส่วนที่เหลือจะถูกใช้เป็นค่าครองชีพซึ่งก็เพียงระยะสั้นเท่านั้น “ผมกำลังเริ่มต้นธุรกิจใหม่ แต่นั่นก็ต้องใช้เวลา กว่าที่จะกลับมาเริ่มต้นใหม่ได้” เอ็ดอธิบาย

สำหรับการทางเลือกในการกลับบ้านเกิดนั้นก็เต็มไปด้วยปัญหา “สายการบินไม่อนุญาตให้ผมเดินทางคนเดียวโดยไม่มีขาเทียม เมื่อกลับถึงบ้านจะใช้เวลา 4 สัปดาห์ ในการการแจ้งที่อยู่อย่างเป็นทางการ และการร้องขอสวัสดิการสังคมที่จะใช้เวลาอย่างน้อย 8 สัปดาห์ในการดำเนินการ หลังจากนั้นประกันสุขภาพสำหรับชาวต่างชาติที่เดินทางกลับจะใช้เวลาอีก 8 สัปดาห์ และการประเมินต่าง ๆ สำหรับขาเทียมจะใช้เวลา 8 ถึง 12 สัปดาห์ก่อนที่จะเริ่มต้นได้” เขากล่าว

และเพื่อสนับสนุนเอ็ดทางกลุ่ม Immortals Thailand ได้จัดงานระดมทุนที่จังหวัดนครราชสีมา เมื่อวันเสาร์ที่ 28 ม.ค.ที่ผ่านมา และเพื่อเป็นการเน้นย้ำถึงอันตรายของโรคนี้ด้วย

เอ็ดอธิบายว่าอีกว่า โรคนี้เป็นรูปแบบหนึ่งของการติดเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งในสังคมทั่วไปยังไม่มีการตระหนักรู้เกี่ยวกับโรคนี้ แม้ในทางการแพทย์เองก็ยังไม่ได้มีความรู้อย่างลึกซึ้ง และการรักษามักจะเริ่มต้นด้วยการลองผิดลองถูก

“ในกรณีเฉพาะของผมร่างกายเริ่มมีปฏิกิริยา จากนั้นการติดเชื้อใหม่ก็พัฒนาครั้งแล้วครั้งเล่า ในที่สุดผมก็จบลงด้วยภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดถึงสองครั้ง หมายความว่าร่างกายเริ่มปิดการทำงานส่วนที่ไม่สำคัญ ซึ่งส่งผลให้เสียชีวิตเว้นแต่คุณจะรับการรักษาอย่างฉับพลันทันท่วงทีเช่นการตัดแขนขา” เขาอธิบาย

“กรณีของผมเกิดจากการถูกยุงกัด มันสามารถเริ่มต้นจากแผลใด ๆ ของเนื้อเยื่อผิวหนังก็ได้” เขากล่าวเสริม และสังเกตว่าการติดเชื้อโรคเนื้อเน่า สามารถมาจากรอยข่วนของแมว แผลเปิดที่เท้าจากการก้าวพลาด หรือแม้แต่การโกนขน

“ผู้คนมักจะคิดว่า ‘แค่นี้ไม่เป็นไรหรอก ทำไมต้องกังวล’ ‘มันจะไม่เกิดขึ้นกับตัวเราหรอก’ ซึ่งนั่นเป็นความเสี่ยงครั้งใหญ่ ไม่เพียงแต่กับผู้ป่วยโรคเบาหวานและเซลลูไลติสเท่านั้น แต่รวมถึงทุกคนเช่นคุณและผมด้วย และแม้จะเกิดขึ้นได้น้อย แต่เด็ก ๆ ก็ไม่ได้รับการยกเว้น” เขากล่าว

“ในส่วนของความรู้สึกที่มีต่อเรื่องนี้นั้น ตอนนี้ผมสามารถจัดการมันได้แล้ว แต่ถึงวันนี้มันยังไม่มีใครสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ ผมจึงต้องลงมือทำเอง และวันพรุ่งนี้ผมก็ต้องทำให้ได้ดีกว่าวันนี้!” เอ็ดกล่าว

 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่