การทำความสะอาดชายหาดสำคัญอย่างไร เก็บขยะชายหาดวันแล้ววันเล่าส่งผลอย่างไรต่อสัตว์ทะเลและมนุษย์

เชื่อว่า ณ จุดนี้ พวกเราคงจะมีประสบการณ์การเดินเล่นบนชายหาดแล้วรู้สึกขัดใจ เมื่อได้เห็นกองขยะพลาสติกที่ถูกพัดขึ้นมาจากท้องทะเลในช่วงฤดูมรสุมเกลื่อนกลาดเต็มหาด และด้วยความที่เป็นคนรักสิ่งแวดล้อม พวกเราก็มักจะเข้าร่วมกิจกรรมเก็บขยะหน้าหาด เดินเก็บขยะมากมายดาษดื่นบนหาดใส่ถุงดำในมือ ผ่านไปสัก 1-2 ชั่วโมง คุณก็จะได้เห็นชายหาดสวยสะอาดตามากยิ่งขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าชั่วขณะนั้นคุณรู้สึกดีที่ได้ทำความดี แต่แล้วสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้เลยก็คือ ในวันรุ่งขึ้นที่คุณกลับไป ณ จุดเดิมคุณก็จะได้พบกับขยะกองใหม่ก็ถูกพัดขึ้นมาเต็มหาดเหมือนเดิม

Palmer Owyoung

วันเสาร์ ที่ 12 กันยายน 2563, เวลา 12:22 น.

การทำความสะอาดชายหาดนั้น ดูเหมือนว่าจะเป็นประสบการณ์ที่ออกจะทำให้เรารู้สึกเหนื่อยหน่ายรำคาญใจ แต่จริง ๆ แล้วการกระทำนี้มีความสำคัญต่อการรักษาทะเลของเราให้สะอาดมากทีเดียว

เส้นทางขยะพลาสติก

เพื่อให้เข้าใจว่าการที่เราทำความสะอาดชายหาดนั้นทำให้มีความสำคัญอย่างไร เข้าใจว่าขยะพลาสติกเหล่านี้ไปอยู่ตรงไหนหลังจากที่ถูกพัดลงไปในทะเล จากการศึกษาของยูโนเมีย (Eunomia) ที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อมในสหราชอาณาจักร เมื่อปี พ.ศ. 2559 พบว่าจากปริมาณขยะพลาสติกปีละ 12.2 ล้านตัน ที่ถูกทิ้งลงในมหาสมุทรนั้นมีเพียงแค่ 1% ที่ถูกพัดเข้าสู่วงวนของกระแสน้ำทั้ง 5 ส่วนขยะอีก 5% ถูกน้ำพัดขึ้นไปอยู่บนชายหาด และอีก 94% จมอยู่ใต้ก้นมหาสมุทร ซึ่งเป็นการยากที่จะเอาขยะพวกนี้กลับคืนมาได้ มีการคาดการณ์ว่าที่ก้นมหาสมุทรนั้นมีขยะพลาสติกมากถึง 70 กิโลกรัมต่อตารางกิโลเมตร เมื่อเราไม่สามารถรู้ได้ว่าก้นมหาสมุทรนั้นมีความลึกแค่ไหน เราจึงไม่รู้ได้เลยว่าขยะพลาสติกเหล่านั้นจะมีผลกระทบอย่างไรกับห่วงโซ่อาหารและต่อโลกของเรา

ในช่วงเวลาหนึ่ง ขยะพลาสติกจะลอยไปมาระหว่างชายฝั่งกับผืนน้ำทะเล ลอยกลับไปกลับมาตามกระแสน้ำ ดังนั้นการที่คุณช่วยกันทำความสะอาดชายหาด ถือเป็นการช่วยป้องกันขยะเหล่านั้นไม่ให้ถูกพัดให้กลับไปสู่ท้องทะเลลึก และจมหายไปที่ก้นมหาสมุทร

ดังนั้นการทำความสะอาดชายหาดจึงถือว่าเป็นเรื่องที่ง่ายกว่า เพราะว่าเราสามารถเข้าถึงขยะได้มากกว่า และความสนใจในขยะบนพื้นดินก็ยังมากกว่าในทะเลอีกด้วย มีการจดบันทึกปริมาณขยะพลาสติกในทะเลบริเวณวงวนของกระแสน้ำทางฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกตอนเหนือ (North Pacific Gyre) อยู่ที่ 18 กิโลกรัมต่อตารางกิโลเมตร ในขณะที่บนพื้นโลกจะเฉลี่ยอยู่ที่ 2,000 กิโลกรัมต่อตารางกิโลเมตร

เหตุผล 4 ข้อที่ทำให้เห็นว่าการทำความสะอาดชายหาดนั้นมีความสำคัญ

ช่วยป้องกันขยะพลาสติกไม่ให้ย่อยสลายไปเป็นไมโครพลาสติก หรือชิ้นส่วนพลาสติกขนาดเล็ก (ซึ่งมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางน้อยกว่า 5 มิลลิเมตร) โดยปลาหรือสัตว์ทะเลอื่น ๆ จะเผลอกินเข้าไป และทำให้มีผลต่อห่วงโซ่อาหารที่ก่อให้เกิดสารพิษแก่ต่อพวกเราและลูกหลานของเรา
2. ป้องกันขยะพลาสติกจมลงสู่ก้นทะเล ที่ซึ่งไม่สามารถจะนำกลับขึ้นมาได้
3. ช่วยในด้านเศรฐกิจของจังหวัดภูเก็ต ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วต้องพึ่งพาอาศัยอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว การลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ที่ล้วนแล้วแต่ต้องอาศัยความสะอาดสวยงามของหาดทราย
4. ช่วยรักษาชีวิตของสัตว์น้ำนานาชนิด ด้วยการลดจำนวนปริมาณขยะพลาสติกที่พวกมันจะกินเข้าไป

ขยะพลาสติกมาจากไหน?

เรามักจะสับสนว่าพวกเศษซากขยะทั้งหลายที่เราพบเห็นบนชายหาดภูเก็ตนั้นมีต้นตอมาจากที่ไหนกันแน่ บางคนบอกว่ามาจากมาเลเซีย บางคนก็โทษอินโดนีเซีย แต่จากการศึกษาของสถาบันยูโนเมียพบว่า 80% ของขยะในทะเลมาจากขยะบนบกนี่เอง ดังนั้นขยะพลาสติกส่วนมากที่เราเห็นบนหาดของภูเก็ตนั้นมาจากพวกเรากันเอง หรืออาจจะมาจากจังหวัดเพื่อนบ้านในประเทศไทย ไม่ได้มาจากประเทศอื่น โดยมีแหล่งที่มาหลัก ๆ ได้แก่:

ถังขยะ รถขยะ และกองขยะ : ขยะจากแหล่งต่าง ๆ เหล่านี้จะถูกลมพัดพาไปสู่ท้องทะเล หรือลำคลองที่ไหลลงสู่ทะเล

การทิ้งขยะ : บางคนทิ้งขยะลงพื้น หรือทิ้งไว้บนหาดทรายโดยที่ไม่ได้สนใจใยดีเลย ซึ่งขยะเหล่านี้ก็จะถูกลมพัดลงทะเลโดยตรงหรือลงสู่ลำคลองต่าง ๆ

ขยะจากห้องน้ำ : อย่างพวกทิชชู่เปียก สำลีก้านสำหรับเช็ดหู ผ้าอนามัย ที่บ่อยครั้งจะถูกทิ้งลงในชักโครกแทนการทิ้งลงในถังขยะ

อุตสากรรมการประมง : ข้อมูลจากหัวหน้านักวิทยาศาสตร์ขององค์กรไม่แสวงหาผลกำไร Ocean Conservancy พบว่าเกือบครึ่งหนึ่งของขยะพลาสติกที่พบเจอในกระแสน้ำหลักทั้ง 5 วงนั้นประกอบด้วยตาข่ายตกปลาและอุปกรณ์ตกปลา

คุณสามารถทำอะไรได้บ้าง?

ลดปริมาณการบริโภคเนื้อปลา : ซึ่งการลดปริมาณการบริโภคเนื้อปลาหรืองดการบริโภคปลาไปเลยนั้น เหมือนจะเป็นเพียงตัวเลือกเดียวที่มีอยู่ ตราบใดที่เรายังหาวิธีจับปลาโดยไม่ใช้ตาข่ายไม่ได้

ไม่รับ : ปฏิเสธที่จะรับถุงพลาสติกให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยหันมาใช้ถุงหรือขวดที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้

พลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพ : มีพลาสติกอีกมากมายที่ไม่ได้ผลิตจากผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี แต่ทำมาจากน้ำมันจากต้นไม้และสารที่ย่อยสลายได้ ซึ่งจะสามารถนำมาใช้แทนพลาสติกได้ ตัวอย่างเช่น ผลิตภัณฑ์ของ Avani Eco ซึ่งมีพวกถุงและจานชามที่ทำมาจากมันสำปะหลังและอ้อย และผลิตภัณฑ์ของ ecoACTIVE ที่มีผลิตบรรจุภัณฑ์ทำมาจากเห็ดแทนการใช้โฟม

การรีไซเคิล : คงจะเป็นการยากที่จะไม่ใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นพลาสติกเลยในยุคสมัยนี้ แต่เราก็สามารถนำมันไปรีไซเคิลได้จากแหล่งรีไซเคิลหลายแห่งที่มีอยู่ทั่วเกาะภูเก็ต

การทำความสะอาดชายหาด : ช่วงนี้การทำความสะอาดชายหาดคงจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด ในการช่วยกำจัดขยะพลาสติกที่จะถูกพัดลงสู่ทะเล สำหรับเกาะภูเก็ตเองก็มีองค์กร 2 แห่งที่จัดกิจกรรมนี้อยู่บ่อย ๆ ได้แก่ Trash Hero และ Clean The Beach Bootcamp

ทางแก้ที่น่าจะเป็นไปได้

เพิ่มจำนวนถังขยะรีไซเคิล : เพิ่มจำนวนถังขยะที่มีฝาปิดตามที่ต่าง ๆ บริเวณชายหาดหรือในเมือง วิธีนี้น่าจะเป็นวิธีที่ง่ายที่สุด ในการป้องกันขยะพลาสติกและขยะอื่น ๆ ไม่ให้ถูกพัดลงไปในทะเล

วางตาข่ายดักขยะตามแม่น้ำลำคลอง : หลายเมืองในประเทศไทยรวมถึงเมืองอื่น ๆ ทั่วโลกก็ได้มีการวางตาข่ายดักขยะนี้ตามแหล่งน้ำ เพื่อเป็นการดักขยะทั้งหลายไว้ก่อนที่จะไหลลงสู่ทะเล โดยเมืองต่าง ๆ รวมถึงพัทยา ระยอง อ่าวแทมปา และที่
อื่น ๆ ในรัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา และเมืองเพิร์ท ประเทศออสเตรเลีย ในบาหลีได้มีการติดตั้งตาข่ายนี้จำนวนนับร้อย โดยการจัดการขององค์กรที่ชื่อว่า Make a Change World

ทำให้การรีไซเคิลเป็นเรื่องง่าย : 97% ของปริมาณขวดที่ซื้อขายกันในประเทศนอร์เวย์ที่มีอยู่กว่า 5 ร้อยล้านขวด ได้ถูกนำมาแลกเปลี่ยนเป็นเงินมูลค่าประมาณขวดละ 10 เซ็นต์ ซึ่งอิงตามราคาซื้อขาย ผู้บริโภคจะนำขวดพลาสติกไปที่เครื่องแลกขวดอัตโนมัติ หรือไปตามร้านค้าเพื่อแลกเปลี่ยนเป็นเงิน

การแก้ปัญหาในอนาคต

พลาสติกเกิดใหม่ – ในปี 2559 นักวิทยาศาสตร์ชาวญี่ปุ่นได้ค้นพบแบคทีเรียที่วิวัฒนาการจนสามารถกินพลาสติกใสประเภท PET ซึ่งจากการค้นพบนี้ทำให้ Carbios บริษัทจากประเทศฝรั่งเศสสามารถพัฒนาเอนไซม์ที่ทำปฏิกิริยาให้ผลิตภัณฑ์พลาสติกมีความบริสุทธิ์ได้อีกครั้ง (revirginized plastic)

ซึ่งการพัฒนานี้สามารถทำให้พลาสติกเหล่านั้นสามารถนำกลับมารีไซเคิลได้ถึง 100% นั่นเท่ากับว่าเราสามารถนำพลาสติกกลับมาใช้ใหม่ได้ครั้งแล้วครั้งเล่า เช่นเดียวกับการที่พวกเราใช้วัสดุจำพวกโลหะ แทนที่การลดทอนมาตรฐานพลาสติกให้ไปเป็นวัสดุอื่นที่ด้อยคุณภาพลงไปอีก

การทำความสะอาดชายหาดนับเป็นงานที่ค่อนข้างน่าหงุดหงิดเลยทีเดียว เมื่อเราตื่นมาในวันรุ่งขึ้นแล้วพบว่าสิ่งที่เราได้ทำมาอย่างยากลำบากนั้นได้มลายหายไปในเวลาเพียงชั่วข้ามคืน อย่างไรก็ตาม ถ้าหากเราทำสิ่งเหล่านี้ไปพร้อม ๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นวิธีการใช้ตาข่ายดักขยะ การจัดการรีไซเคิลอย่างเป็นระบบ การจัดการขยะมูลฝอยที่ดีขึ้น รวมถึงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของแต่ละบุคคล ซึ่งทุกวิธีที่กล่าวมานั้นล้วนแล้วแต่เป็นการช่วยให้ปริมาณขยะต่าง ๆ บนชายหาดและในท้องทะเลของเราลดน้อยลง จนกว่าพวกเราจะมีวิธีการแก้ปัญหาด้วยวิธีอื่น ๆ ที่ครอบคลุมมากขึ้น จนกว่าจะถึงเวลาที่มนุษย์เรามีเทคโนโลยีที่ดีขึ้นในอนาคต

Palmer Owyoung คือนักเคลื่อนไหวด้าน สิ่งแวดล้อม ผู้ซึ่งทำงานร่วมกับ Kamala Green Club และ the Global Sustainability Hub

ธิชา/ข่าวภูเก็ต: แปล

 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่