การบินไทยลดเงินเดือนผู้บริหาร ฝ่าวิกฤตความเสี่ยงล้มละลาย

เว็บไซต์ กระทรวงคมนาคม เปิดเผย แถลงการณ์ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ชี้แจงกรณีมีกระแสข่าวในโลกโซเชียลมีเดีย เรื่องขอความร่วมมือผู้บริหารการบินไทยลดลดเงินเดือน กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ยอมรับ ถึงเวลาแล้วจริง ๆ ที่เราต้องรวมพลังกัน ต้องช่วยกันทุกวิถีทาง ในการรักษาองค์กรให้พ้นวิกฤตการณ์นี้ไปให้ได้ และต้องเสียสละเพื่อองค์กร

ข่าวภูเก็ต

วันจันทร์ ที่ 19 สิงหาคม 2562, เวลา 13:59 น.

แฟ้มภาพ ข่าวภูเก็ต : เกวลิน พิภักดี

แฟ้มภาพ ข่าวภูเก็ต : เกวลิน พิภักดี

นายสุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ชี้แจงว่า เรื่องนี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากการประชุมคณะกรรมการบริษัทเมื่อวันที่ 19 ก.ค. 62 เรื่องดังกล่าวเป็นการขอความช่วยเหลือ ตามความสมัครใจในกลุ่มผู้บริหารระดับสูง ซึ่งไม่มีผลบังคับใช้ใด ๆ กับพนักงานระดับปฏิบัติการทั้งสิ้น

“ทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งของมาตรการการลดค่าใช้จ่าย เพื่อให้การบินไทยกลับมาสู่สถานะที่แข่งขันได้ในธุรกิจการบินในปัจจุบัน การแสดงสปิริตของคณะกรรมการบริษัทฯ และผู้บริหารระดับสูง เป็นการจุดประกายให้ทุกคนในองค์กรตระหนักว่า ถึงเวลาแล้วจริง ๆ ที่เราต้องรวมพลังกัน ต้องช่วยกันทุกวิถีทาง ในการรักษาองค์กรให้พ้นวิกฤตการณ์นี้ไปให้ได้ อะไรที่เสียสละได้ ต้องเสียสละ” นายสุเมธ กล่าว

"อย่างไรก็ตาม ขอให้พนักงานในระดับปฎิบัติการทุกคนไม่ต้องกังวลว่าการลดค่าตอบแทนครั้งนี้ จะถูกบังคับใช้ในระดับตนด้วย เพราะฝ่ายบริหารจะพยายามจัดการทุกอย่าง ไม่ให้กระทบถึงความเป็นอยู่ของพนักงาน ซึ่งเป็นแนวทางเดียวกันในการบริหารลดต้นทุนที่จะไม่ให้กระทบถึงคุณภาพการบริการ” นายสุเมธ กล่าว (อ่านแถลงการณ์ การบินไทยฯ คลิก)

เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา โพสต์ทูเดย์ รายงานว่า นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวถึงการจัดซื้อเครื่องบินใหม่ 38 ลำวงเงิน 1.56 แสนล้านบาท ว่าทางผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด(มหาชน) ยืนยันว่าจะไม่เป็นภาระของงบประมาณ โดยจะทำการกู้ในนามบริษัทและรับภาระความเสี่ยงไว้แต่เพียงผู้เดียว

ด้านนายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงเรื่องนี้ว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นของการจัดซื้อเครื่องบินใหม่ในอดีต คือ การบินไทยไม่ดำเนินการตามหลักลงทุน คือ ต้องวางแผนก่อนเป็นอันดับแรก (Plan) ก่อนเริ่มการจัดซื้อ (Buy) และทำการบิน (Fly) ทว่าการบินไทยเริ่มซื้อก่อน (Buy) แล้วทำการบินแบบไม่มีแผน (Fly without Plan) ส่งผลให้ขาดทุนมากถึงหลายพันล้านบาท

ส่วนประเด็นด้านตั๋วโดยสารที่มีราคาแพงกว่าสายการบินอื่นนั้น ตนคิดว่าไม่ใช่ปัจจัยโดยตรงที่จะทำให้ผู้โดยสารไปใช้บริการสายการบินอื่น เนื่องจากลูกค้ามีกลุ่มความต้องการที่หลากหลาย มีกลุ่มลูกค้าที่ดูเรื่องคุณภาพบริการด้วยไม่ใช่แค่เรื่องราคา (อ่านข่าวโพสต์ทูเดย์ คลิก)

ล่าสุดวันนี้ (19 ส.ค.) โพสต์ทูเดย์ รายงานว่า กระทรวงคมนาคมระบุว่า ปัจจุบันการบินไทยขาดทุนขั้นวิกฤตเสี่ยงต่อการล้มละลาย ขณะนี้การบินไทยหนี้สินรวม 245,133 ล้าน ทำให้อัตราหนี้สินต่อทุน (debt to equity) สูงถึง 14.55 เท่า หนี้สินต่อกระแสเงินสด (debt to EBITDA) 86.43 เท่าตัว

ในขณะที่อัตราส่วนความสามารถชำระภาระผูกพัน (debt service coverage ratio) ลดต่ำลงเหลือแค่ 0.62 เท่า ส่งผลให้อาจต้องกู้เงินเพิ่มหรือผลัดหนี้ออกไปก่อน ดังนั้นการลงทุนจัดซื้อเครื่องบินใหม่ 156,000 ล้านบาท จะทำให้การบินไทยเป็นสายการบินที่มีหนี้สินมากที่สุดในโลก

 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่