การแพทย์ออนไลน์ รักษาผ่าน VDO Call ส่งยาทางไปรษณีย์ มีเงื่อนไขอะไรบ้าง

เช็กรายชื่อ 27 โรงพยาบาลในสังกัดกรมการแพทย์ ที่นำร่องให้บริการทางการแพทย์ออนไลน์ผ่านระบบ VDO Call และส่งยาทางไปรษณีย์ ให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาในสถานการณ์โควิด-19

โพสต์ทูเดย์

วันจันทร์ ที่ 27 เมษายน 2563, เวลา 15:00 น.

รองอธิบดีกรมการแพทย์ เผยเงื่อนไขการแพทย์ออนไลน์ รักษาผ่าน VDO Call ส่งยาทางไปรษณีย์ ภาพ โพสต์ทูเดย์

รองอธิบดีกรมการแพทย์ เผยเงื่อนไขการแพทย์ออนไลน์ รักษาผ่าน VDO Call ส่งยาทางไปรษณีย์ ภาพ โพสต์ทูเดย์

จากการแถลงข่าวสถานการณ์ไวรัสโคโรนา 2019 ณ สำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข โดยนายแพทย์ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เผยว่า ปัจจุบันประชาชนยังคงมีความกังวลว่าการมาโรงพยาบาลค่อนข้างลำบากมากขึ้น จึงเกิดระบบบริการทางการแพทย์แบบใหม่ (New Normal Medical Service) การรักษาออนไลน์ผ่านระบบ VDO Call และส่งยาทางไปรษณีย์ ผ่านแนวคิดยึดผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง ลดความแออัด ให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาในสถานการณ์โควิด-19 (อยู่บ้าน เว้นระยะห่าง) ลดค่าใช้จ่ายของผู้ป่วยและญาติ เพิ่มขีดความสามารถการรักษา และนำเทคโนโลยีการรักษาส่งถึงบ้าน

เกณฑ์ผู้ป่วยที่สามารถรับบริการ สำหรับเกณฑ์ผู้ป่วยที่สามารถรับบริการ ได้แก่

ต้องเป็นผู้ป่วยเก่าที่ได้รับการประเมินจากแพทย์ว่าสามารถรับบริการได้
ผู้ป่วยต้องสมัครใจการรับบริการผ่าน VDO Call และรับยาทางไปรษณีย์ และ
ผู้ป่วยหรือญาติสามารถใช้สมาร์ทโฟน ในการสื่อสารกับเจ้าหน้าที่ได้

ขั้นตอนการเข้าร่วม

เมื่อผู้ป่วยถึงคราวนัดไปโรงพบาบาลครั้งต่อไป ให้แจ้งความประสงค์รับบริการทางออนไลน์ แต่ต้องเข้าใจก่อนว่าโรงพบาบาลบางแห่งทำได้ บางแห่งยังทำไม่ได้ โดยสามารถแจ้งได้ตรงจุดพยาบาลว่าครั้งต่อไปจะรับบริการผ่านระบบนี้ได้หรือไม่ แพทย์ พยาบาล จะประเมินจากประวัติการรักษาและโรคของท่านว่าเหมาะสมหรือ

หากสามารถทำได้ก็จะให้เซ็นยินยอมรับการรักษาด้วยวิธีนี้

รอแจ้งวันนัด ซึ่งเมื่อถึงวันนัด อาจจะเป็น 3-6 เดือนข้างหน้า จะมีคนโทรไปหรือส่งข้อความไปเพื่อนัดช่องทางในการวิดีโอคอล ซึ่งจะมีการพัฒนาแอปพลิเคชันเป็นช่องทางเฉพาะในการรักษาออนไลน์ด้วย

วิธีนี้เหมาะกับผู้ป่วยแบบไหน

วิธีการดังกล่าวเหมาะกับผู้ป่วยที่เป็นโรคเรื้อรัง ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคกระดูก โรคระบบประสาท ผู้ป่วยเด็ก และผู้ป่วยมะเร็งที่อาการคงที่ แต่ต้องได้รับการดูแลต่อเนื่อง ไม่ลุกลาม ซึ่งส่วนใหญ่จะมีอาการคงที่ และต้องการเพียงกินยาต่อเนื่องเท่านั้น โดยผู้ป่วยที่มีความพร้อมสามารถติดต่อขอรับบริการได้เมื่อผ่านการประเมินจากแพทย์แล้วโดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม นอกจากนี้ จะมีการถ่ายโอนข้อมูลประวัติการรักษาให้ผู้ป่วยเก็บไว้เอง เพื่อความสะดวกหากเปลี่ยนไปใช้ในสถานพยาบาลอื่นจะไม่เสียเวลาสอบถามประวัติการรักษา

รายชื่อ 27 โรงพยาบาลสังกัดกรมการแพทย์ ครอบคลุมทั้งกรุงเทพฯ ปริมณฑล และต่างจังหวัด ได้แก่

โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี
โรงพยาบาลราชวิถี
โรงพยาบาลเลิดสิน
โรงพยาบาลสงฆ์
สถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ
สถาบันทันตกรรม
สถาบันประสาทวิทยา
สถาบันพาธิวิทยา
สถาบันมะเร็งแห่งชาติ
สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี
สถาบันโรคผิวหนัง
สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี
โรงพยาบาลประสาทเชียงใหม่
โรงพยาบาลมะเร็งชลบุรี
โรงพยาบาลมะเร็งลพบุรี
โรงพยาบาลมะเร็งอุบลราชธานี
โรงพยาบาลมะเร็งอุดรธานี
โรงพยาบาลมะเร็งสุราษฎร์ธานี
โรงพยาบาลมหาวชิราลงกรณธัญบุรี
โรงพยาบาลธัญญารักษ์เชียงใหม่
โรงพยาบาลธัญญารักษ์สงขลา
โรงพยาบาลธัญญารักษ์ขอนแก่น
โรงพยาบาลธัญญารักษ์แม่ฮ่องสอน
โรงพยาบาลธัญญารักษ์อุดรธานี
โรงพยาบาลโรคผิวหนังเขตร้อนภาคใต้ จังหวัดตรัง
โรงพยาบาลสมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ จังหวัดชลบุรี
โรงพยาบาลเวชชารักษ์ จังหวัดลำปาง
สำหรับรูปแบบนี้เปิดให้บริการมาแล้วเป็นเวลา 2 เดือน ปัจจุบันระบบบริการทางการแพทย์แบบใหม่ให้บริการผ่าน VDO Call ทั้งหมด 4,316 คน เฉลี่ย 200 คนต่อวัน ผู้รับยาทางไปรษณีย์ทั้งหมด 7,717 คน เฉลี่ย 363 คนต่อวัน นอกจากนี้ ยังให้คำปรึกษาแก่โรงพยาบาลอื่นๆ ในต่างจังหวัดอีกด้วย

สำหรับแผนงานในอนาคต คือการขยายการบริการได้ทุกสถานพยาบาลในสังกัดสาธารณสุข เชื่อมโยงข้อมูลการรักษาระหว่างโรงพยาบาลและข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ป่วย ผู้ป่วยสามารถเก็บข้อมูลการรักษาของตัวเองไว้ในแอปพลิเคชั่น นอกจากนี้ ยังมุ่งพัฒนาสู่ระบบการส่งต่อและให้คำปรึกษาโดยผู้เชี่ยวชาญ และขยายการบริการครอบคลุมกลุ่มโรคอื่นๆ มากขึ้น

(อ่านโพสต์ทูเดย์ คลิก)

 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่