ของที่ระลึกจากปาล์มน้ำมัน บ้านแผ่นดินเสมอ โครงการพัฒนาท้องถิ่นตามพระราโชบาย

ข่าวภูเก็ต

วันอาทิตย์ ที่ 9 มิถุนายน 2562, เวลา 09:00 น.

พัฒนาท้องถิ่นตามพระราโชบาย / ภาพ ม.ราชภัฏภูเก็ต

พัฒนาท้องถิ่นตามพระราโชบาย / ภาพ ม.ราชภัฏภูเก็ต

มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต จัดโครงการบูรณาการพันธกิจสัมพันธ์ เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน ตามยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาท้องถิ่นตามพระราโชบาย โดยการดำเนินงานของทีมงานสาขาวิชาออกแบบผลิตภัณฑ์คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และสถาบันวิจัยและพัฒนา ร่วมกับชุมชนหมู่ 2 บ้านแผ่นดินเสมอ ต.คลองท่อมเหนือ อ.คลองท่อม จ.กระบี่ ในกิจกรรม “สร้างสรรค์ของที่ระลึกจากปาล์มน้ำมัน”

สำหรับโครงการบริการวิชาการในเขตพื้นที่บ้านแผ่นดินเสมอ ซึ่งเป็นพื้นที่ห่างไกล การเดินทางยากลำบาก ชาวบ้านในพื้นที่มีอาชีพทำสวนปาล์ม มหาวิทยาลัยได้ร่วมออกแบบรูปโฉม ปรับปรุงกระบวนการผลิต และพัฒนาบรรจุภัณฑ์ เพื่อมุ่งหวังสร้างรายได้เสริมให้ชาวบ้านจากปัญหาทางเศรษฐกิจที่กำลังประสบปัญหาอยู่ในปัจจุบัน

นายธนพัฒน์ แก้วเจือ รองประธานกลุ่มเมล็ดปาล์ม บ้านแผ่นดินเสมอ หมู่ 2 ต.คลองท่อมเหนือ กล่าวถึงการสนับสนุนจาก ม.ราชภัฏภูเก็ต ว่า “จากปัญหาทางเศรษฐกิจ ราคาผลผลิตปาล์มตกต่ำ ทางกลุ่มจึงได้จัดทำของที่ระลึกจากเมล็ดปาล์มที่เหลือทิ้งจากการสกัดเป็นน้ำมันแล้ว เพื่อสร้างอาชีพเสริมและรายได้จุนเจือในสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ซึ่งในช่วงแรกผลิตภัณฑ์มีกระบวนการผลิตที่ไม่มีมาตรฐาน ไม่ทนทาน และขาดอัตลักษณ์ด้านการออกแบบ ส่งผลให้ของที่ระลึกของชาวบ้าน หมู่ 2 บ้านแผ่นดินเสมอ ไม่สามารถแข่งขันกับตลาดได้ จากปัญหาดังกล่าว ทีมนักวิจัยจาก ม.ราชภัฏภูเก็ต ได้ลงมาในชุมชนเพื่อร่วมรับฟังปัญหา และช่วยวางแผนพัฒนาสินค้าของที่ระลึกจากเมล็ดปาล์ม จึงเกิดเป็นรูปแบบของการออกแบบเมล็ดปาล์มในรูปลักษณ์ของปูดำ และนกแต้วแล้วท้องดำ ซึ่งเป็นสัตว์ที่เป็นสัญลักษณ์ของ จ.กระบี่

นอกจากนั้นมหาวิทยาลัย ยังได้มีการสนับสนุนเครื่องมือในการเจาะและขัดไม้ ในขั้นตอนการขึ้นรูปสินค้า รวมถึงฝึกฝนชาวบ้านให้มีทักษะ และกระบวนการ ในการผลิตตั้งแต่ขึ้นรูปไม้ ลงสี เคลือบเงา อีกทั้งได้มีการออกแบบแพ็กเกจ จนออกมาเป็นสินค้าที่ระลึกสวยงามเป็นที่พอใจของชาวบ้าน ทั้งนี้การช่วยเหลือในครั้งนี้ของมหาวิทยาลัย เป็นกำลังใจให้ชาวบ้านได้ร่วมมือกันสร้างงาน สร้างรายได้จุนเจือครอบครัวในสภาวะราคาผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ ซึ่งตอนนี้ทางกลุ่มได้ร่วมกับส่วนราชการในการวางจำหน่ายสินค้า ณ ท่าอากาศยานนานาชาติ จ.กระบี่ ต้องขอขอบคุณ ม.ราชภัฏภูเก็ต ที่ช่วยเหลือชุมชนในพื้นที่ห่างไกลให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น”

จากรูปแบบการศึกษาที่ชุมชนต้องเดินทางเข้าเมืองเพื่อศึกษาหาองค์ความรู้ คงไม่สามารถพัฒนาท้องถิ่นได้อย่างทันท่วงที ม.ราชภัฏภูเก็ต ได้สนองพระราโชบาย โดยการส่งบุคลากรลงไปยังชุมชนในเขตพื้นที่รับผิดชอบ จังหวัดฝั่งทะเลอันดามัน เพื่อสนับสนุนความรู้ ทักษะ และเครื่องมือที่เป็นประโยชน์กับชาวบ้าน โดยมีเป้าหมายเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนได้อย่างยั่งยืน

- ม.ราชภัฏภูเก็ต

 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่