ความผิดซึ่งหน้า ความรู้สึกสำนึกผิดเมื่อโดนจับได้!

พูดถึงเรื่องของความสามารถชั้นเยี่ยมในการถ่ายทอดอารมณ์ต่าง ๆ ผ่านสีหน้า รวมถึงการตีความหมายของภาษากาย เราต้องยกให้บรรดาน้องหมาทั้งหลาย แต่ปัญหาคือ พวกเราชาวมนุษย์บางคน จริง ๆ แล้วส่วนมากเลยล่ะจะตีความหมายสิ่งเหล่านั้นผิดไป ไม่ต้องแปลกใจเลยว่า การตีความหมายผิด ๆ ของสัญญาณและอารมณ์เหล่านั้นจะเป็นสาเหตุของการเกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมา

Russell D Russell

วันอาทิตย์ ที่ 25 ตุลาคม 2563, เวลา 09:47 น.

หน้าเศร้า ๆ ที่เห็นทำให้เรามักจะตีความหมายผิดอยู่เสมอ ภาพ: Toshi / Unsplash

หน้าเศร้า ๆ ที่เห็นทำให้เรามักจะตีความหมายผิดอยู่เสมอ ภาพ: Toshi / Unsplash

ตัวอย่างที่เห็นได้โดยทั่ว ๆ ไปสำหรับตัวผมก็คือ แนวคิดของ “ความรู้สึกผิด” ผมมักจะได้ยินคำพูดที่ว่า “... ฉันรู้น่าว่ามันรู้สึกผิด!” อย่างเวลาคุณเดินเข้าไปในบ้านแล้วพบว่า น้องหมาฉี่ใส่พื้นบ้าน (อีกแล้ว!) หรือพบว่ามันแทะสายชาร์จคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กของคุณ เวลาที่คุณมองหน้าพวกมัน แล้วเห็นว่ากำลังทำท่าหงอยเหมือนจะละลายหายไปกับพื้นจากความรู้สึกผิดที่ได้ก่อขึ้น

อย่างไรก็ตาม “ความรู้สึกผิด” ที่คุณเห็นนั้นขึ้นอยู่กับสิ่งที่เราเรียกว่าหลัก “มานุษยวิทยา” ซึ่งโดยพื้นฐานแล้ว เป็นการแสดงลักษณะและ/หรือพฤติกรรมของมนุษย์ที่แสดงออกต่อสัตว์อื่น (แถมยังเป็นคำที่ยาวที่สุดในลิสต์คำศัพท์ของผมด้วย) การศึกษาทางวิทยาศาสตร์ได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ในการทดลองของสุนัขและเจ้าของสุนัขในเรื่องของสุนัขที่ “ประพฤติตัวไม่เหมาะสม” พบว่าสุนัขที่ถูกเจ้าของดุจะมีแนวโน้มที่จะแสดงพฤติกรรม “รู้สึกผิด” มากกว่าสุนัขที่มีเจ้าของที่วางตัวเฉย ๆ

คุณยังไม่เชื่อผมใช่ไหมล่ะ งั้นเราลองมาสังเกตลักษณะท่าทางที่แสดงถึง
“ความรู้สึกผิด” ซึ่งมักจะประกอบด้วย:

● หางม้วนจุกเข้าไปที่ท้อง
● มองเห็นส่วนของตาขาวของมันขณะที่มัน
มองไปทางอื่น
● ทำท่าหงอ (หมอบ, งอตัว) ด้วยความกลัว
● หาว
● เลีย
● ทำหูแบนลู่
● หรือแม้กระทั่งปัสสาวะราด

แต่ในความเป็นจริงแล้ว สิ่งเหล่านี้เป็นการแสดงออกถึงความกลัว ความวิตกกังวล และความเครียดในตัวสุนัข มันไม่ใช่อารมณ์ที่ซับซ้อนของความรู้สึกผิดที่เรากำลังนึกถึงกันอยู่เลย ความซับซ้อนโดยธรรมชาติของอารมณ์นั้นเป็นสิ่งที่ต้องการความเข้าใจที่ชัดเจนของเหตุและผล

มีข้อสังเกตอีกอย่างคือ มีข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งก็คือ เราจะไม่มีทางรู้เลยว่า พวกน้องหมาคิดอะไรอยู่ ในช่วงเวลาระหว่างที่มันเคี้ยวรองเท้าคู่โปรดของคุณและคุณกลับบ้านมาเจอพอดี แต่ที่แน่ ๆ พวกเรารู้ว่าน้องหมามีความหวาดกลัวและความเครียด ซึ่งถือเป็นการตอบสนองทางชีววิทยาที่เราสามารถวัดและประเมินได้ ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้สูงที่พฤติกรรมที่ “รู้สึกผิด” ของน้องหมานั้น มาจากความพยายามที่จะลดความไม่พอใจของคุณลง มากกว่าการขอโทษในสิ่งที่ทำไป

สิ่งที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมนี้คือพวกเราเองนี่แหละ ผมเชื่อว่า 99% ของพวกเราเวลาที่กลับถึงบ้าน เราดีใจที่ได้เจอน้องหมาของเรา เราจะเล่นจะกอดพวกมันก่อนที่จะเดินเข้าไปในบ้าน ซึ่งนี่คือสิ่งปกติที่เกิดขึ้น แต่มันก็จะมีซักครั้งหนึ่งแหล่ะ ที่เรากลับบ้านไปแล้วไปพบกับสิ่งที่คุณไม่อยากจะเจอ ตอนนี้แหล่ะ ภาษากายของคุณก็จะเปลี่ยนไปทันที แถมเปลี่ยนไปในทางไม่ดีเสียด้วยสิ
น้องหมาจัดได้ว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญในการอ่านภาษากายและรับรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่นี้ แต่พวกมันไม่รู้สาเหตุหรอกว่าเกินอะไรขึ้น พฤติกรรมของพวกเราเองนี่แหละที่บอกมันว่ามีบางสิ่งบางอย่างเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการตะโกน การชี้มือชี้ไม้ การขึ้นเสียง รวมถึงระดับความเครียดที่เพิ่มสูงขึ้นล้วนบอกมันว่า “บางอย่างไม่ปกติ” ซึ่งสิ่งนี้สื่อออกมาถึงความไม่พอใจของตัวคุณเอง การตอบสนองของน้องหมามักจะออกมาในทางที่มันพยายามที่จะเอาใจคุณและเพื่อจะบอกคุณว่า “ฉันไม่รู้นะว่ามันเกิดอะไรขึ้น ฉันขอโทษด้วย มันไม่น่าจะเกี่ยวอะไรกับฉันนะ”

ปัญหาใหญ่ที่สุดอย่างหนึ่งก็คือ เราอาจจะมองว่าเป็นอะไรที่ตลกดี ที่เราจะแกล้งน้องหมาที่ “กำลังแสดงความรู้สึกผิด” แต่จริง ๆ แล้วการทำแบบนี้อาจเป็นปัญหาที่ร้ายแรงมาก และหากคุณกำลังอ่านสัญญาณจากน้องหมาของคุณผิดไป หรือยิ่งแย่กว่านั้นคือการทำสิ่งต่าง ๆ เช่นการถูจมูกน้องหมาท่ามกลางข้าวของกระจัดกระจายที่มันทำไว้ ยิ่งเป็นการทำให้สิ่งต่าง ๆ แย่ลงไปมาก การลงโทษน้องหมาหลังจากที่สิ่งต่าง ๆ เกิดขึ้นไปแล้วนั้นไม่มีผลใด ๆ นอกจากการเพิ่มความเครียดและความวิตกกังวลให้กับพวกมัน เพราะพวกมันไม่มีทางรู้เลยว่าทำไมพวกมันถึงถูกลงโทษ

ทางออกที่ดีที่สุดในการหลีกเลี่ยงดราม่าดังกล่าวคือ การทำงานร่วมกับสุนัขของคุณ เพื่อป้องกันไม่ให้สถานการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นตั้งแต่แรก ซึ่งนั่นมันก็จะประกอบกับสิ่งอื่น ๆ ด้วย และเรามั่นใจว่าเราสามารถช่วยคุณได้อย่างแน่นอน

ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการฝึกสุนัขหรือปัญหาด้านพฤติกรรมสุนัข โทร 091-6541960 อีเมล info@k9pointacademy.com หรือเข้าไปที่ www.k9pointacademy.com Canine Point Acedemy ได้รับการรับรองจาก Certification Council for Professional Dog Trainers (CCPDT) และเป็น American Kennel Club (AKC) Evaluator

แปลและเรียบเรียง: ธิชา/ข่าวภูเก็ต

 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่