ค้นพบแพลงก์ตอนสัตว์สายพันธุ์ใหม่ของโลกที่ภูเก็ต

ดร.ภูริพงศ์ เมฆสุวรรณ อาจารย์สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ (เอกชีววิทยา) คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ม.ราชภัฏภูเก็ต นักวิจัยผู้เชี่ยวชาญด้านความหลากหลายของสัตว์น้ำขนาดเล็กในระบบนิเวศทางน้ำ (แพลงก์ตอนสัตว์) ได้ร่วมกับอาจารย์จาก ม.เกษตรศาสตร์ ค้นพบแพลงก์ตอนสัตว์ จำพวกโรติเฟอร์ 2 สายพันธุ์ใหม่ของโลก ได้แก่ 1. Limnias novemceras (หนอนจักรเก้าเขา*) และ 2. Limnias lenis (หนอนจักรอกเรียบ)

ข่าวภูเก็ต

วันพุธ ที่ 6 กุมภาพันธ์ 2562, เวลา 09:19 น.

โดยนักวิจัยจาก PKRU ค้นพบสัตว์ขนาดเล็กดังกล่าว ณ ลำธาร ในพื้นที่ อ.อ่าวลึก จ.กระบี่ และพื้นที่ป่าพรุจิก ต.ไม้ขาว จ.ภูเก็ต โดยได้รับการรับรองและตีพิมพ์เผยแพร่การค้นพบในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ

พร้อมกับเล่าถึงการค้นพบดังกล่าวว่า แพลงก์ตอนเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีขนาดเล็กไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า ล่องลอยอยู่ในแหล่งน้ำตามธรรมชาติ สำหรับการค้นพบในครั้งนี้เกิดจากการลงพื้นที่สำรวจและจำแนกสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กในระบบนิเวศทางน้ำในพื้นที่จังหวัดฝั่งทะเลอันดามัน สำหรับ หนอนจักรอกเรียบ และหนอนจักรเก้าเขา พบอาศัยอยู่บนรากของพืชน้ำ เช่น รากผักตบชวา จอกแหน ฯลฯ ทั้งนี้ แพลงก์ตอนสัตว์กลุ่มโรติเฟอร์ แม้จะเป็นสิ่งมีชีวิตที่เล็กมาก แต่มีความสำคัญต่อสายใยอาหารในระบบนิเวศทางน้ำ เพราะโรติเฟอร์ เป็นอาหารที่หล่อเลี้ยงสิ่งมีชีวิตขนาดใหญ่ในน้ำ เช่น ลูกปลาชนิดต่าง ๆ เป็นต้น

ดร.ภูริพงศ์ กล่าวอีกว่า ทางคณะสำรวจได้เริ่มทำการสำรวจประมาณ 5 ปีที่แล้ว โดยผ่านกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ต่าง ๆ ทั้งการทบทวนเอกสารทางวิชาการที่เกี่ยวข้อง การเขียนร่างบทความวิจัย การตรวจสอบจากผู้ทรงคุณวุฒิ การกลั่นกรองจากวารสารวิชาการ จนได้รับการยอมรับและตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสาร Zookeys เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2561 

ซึ่งจากการค้นพบดังกล่าว เป็นเครื่องยืนยันถึงความหลากหลายทางด้านทรัพยากรชีวภาพของท้องถิ่นอันดามัน ที่ยังมีสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กสายพันธุ์ใหม่ ๆ ที่รอการค้นพบ อาศัยและดำรงชีวิตอยู่ ณ พื้นที่ธรรมชาติซึ่งมีวิวัฒนาการมาอย่างยาวนาน ในฐานะของนักวิจัยของ ม.ราชภัฏภูเก็ต ซึ่งเป็นหน่วยงานเพื่อท้องถิ่น สามารถนำข้อมูลการค้นพบดังกล่าวเป็นหลักฐานยืนยันว่ายังมีแหล่งธรรมชาติที่มีสิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก Unseen ดำรงอยู่ในพื้นที่ต่าง ๆ ในขณะที่เมืองมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว ประเด็นของการจัดสรรและบริหารจัดการพื้นที่ทางธรรมชาติ ร่วมกับการปกปักรักษาระบบนิเวศ ที่สมบูรณ์ให้คงอยู่สืบไปจากการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน และขยายผลสู่การท่องเที่ยวชุมชน ควรจะเกิดขึ้นจากความร่วมมือของทุกภาคส่วน อ.เต็นท์ กล่าวเสริม

นอกจากบทบาทของการจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น PKRU ซึ่งมีอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญในศาสตร์ด้านต่าง ๆ ได้ใช้ความเป็น Expert ศึกษาวิจัยประเด็นที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชนในเขตพื้นที่รับผิดชอบ (อันดามัน) เพราะเป็นรูปแบบของการจัดการศึกษายุคใหม่ ที่ไม่ตีกรอบการศึกษาเฉพาะในห้องเรียน แต่ต้องสามารถให้การสนับสนุนท้องถิ่น เป็นที่พึ่งทางวิชาการและองค์ความรู้ที่จับต้องได้ นำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป

 

 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่