ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีเมื่อวันที่ 26 มิ.ย. 65 มีเพจชมรมช่วยเหลืออาชญากรรมได้โพสต์ทวงถามตำรวจจังหวัดภูเก็ต ถึงความคืบหน้าการสืบสวนจับกุมคนร้าย หลังมีผู้เสียหายไปแจ้งความ แต่ทางเจ้าหน้าที่เพียงแค่ลงแค่บันทึกประจำวัน พร้อมระบุอีกว่า หากเรื่องไม่ถึงสื่อทางเจ้าหน้าที่คงไม่ดำเนินการใด ๆ
โดยทางเพจระบุว่า สืบเนื่องจากบริษัทเอเจนซีรับทำวีซ่าอยู่ต่อในไทยให้คนต่างชาติแห่งหนึ่งในภูเก็ต ได้รับเงินชาวต่างชาติไปแล้วและเก็บพาสสปอร์ตชาวต่างชาติไว้ด้วย พร้อมอ้างว่าจะนำไปดำเนินการต่อกับตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดภูเก็ต (ตม.) ให้ แต่เวลาก็ผ่านไปจากเดือนเป็นสองเดือนถึงกว่าสามเดือน
กระทั่งชาวต่างชาติบางส่วนรอไม่ไว้ จึงไปขอคืนและพบว่ามิได้ดำเนินการใด ๆ ให้เลย จนทำให้วีซ่าของชาวต่างชาติทุกคนอยู่ในสถานะอยู่เกินกำหนดที่ได้รับอนุญาต (Overstay) ซึ่งส่วนหนึ่งวีซ่าไม่เกิน 90 วัน แต่บางส่วนวีซ่าเกิน 90 วัน ซึ่งกลุ่มคนชาวต่างชาติส่วนหลังนี้ไม่กล้าไปแจ้งความ เพราะรู้ตนเองว่าอยู่เกิน พาสปอร์ตชาวต่างชาติส่วนหนึ่งเอเจนซีนั้นยังเก็บไว้และไม่ยอมส่งคืนให้เจ้าตัว โดยเบื้องต้นทราบว่ามีชาวต่างชาติที่ได้รับความเดือดร้อนกับบริษัทนี้ร่วมร้อยคน
ล่าสุดวันนี้ (27 มิ.ย. 65) มีผู้เสียหายบางรายเข้าแจ้งความเพิ่มเติม และบางรายเข้าแจ้งความไว้กับโรงพักอื่นในจังหวัดภูเก็ต ให้ไปแจ้งความเพิ่มเติมที่ สภ.เมืองภูเก็ต
นางคิม สัญชาติออสเตรเลีย ชาวต่างชาติที่พำนักในประเทศไทยมานานกว่า 30 ปี และเป็นผู้ประสานแทนผู้เสียหายเปิดเผยกับผู้สื่อข่าว (เป็นภาษาไทย) ว่า ตนได้โทรสอบถามไปยังตัวแทนดำเนินการยื่นต่อวีซ่าให้ชาวต่างชาติ แต่กลับพูดจากลับไปกลับมา ไม่น่าเชื่อถือ และเธอทราบว่าเมื่อปีที่แล้วชาวต่างชาติหลายรายก็เคยประสบเหตุการณ์คล้าย ๆ กัน เธอจึงแนะนำให้ผู้เสียหายติดต่อเจ้าหน้าที่ ตม. พร้อมทั้งเข้าแจ้งความด้วย แต่ปัญหาที่ตามมาคือเจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งให้ไปติดต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจในท้องที่อื่น ซึ่งเป็นท้องที่เกิดเหตุและมีการเก็บพาสปอร์ตของลูกค้าชาวต่างชาติเอาไว้
“เมืองไทยเป็นเมืองเปิด นักท่องเที่ยวพร้อมเดินทางมาท่องเที่ยวที่ประเทศไทย แต่กลับมีคนบางกลุ่มทำเรื่องไม่ดีเช่นนี้ ฉันว่ามันไม่โอเคเลย” เธอกล่าว
ด้าน พ.ต.อ.สราวุธ ชูประสิทธิ์ ผกก.สภ.เมืองภูเก็ต กล่าวว่า ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจรับทราบเรื่องแล้ว ได้ทำการตรวจสอบในเบื้องต้นและประสานยัง ผกก.ตม.ภูเก็ต ถึงกรณีดังกล่าว รวมทั้งได้มีการหารือไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้บัญชาแล้ว โดยมีข้อสรุปว่า การทำต่อวีซ่าเป็นเรื่องเฉพาะตัวของนักท่องเที่ยว ที่จะต้องเดินทางไปทำวีซ่าที่ ตม. ด้วยตัวเอง
“ในกรณีที่นักท่องเที่ยวได้อ้างว่าถูกหลอกลวงนั้น ทางตำรวจจะดำเนินการตรวจสอบ ถ้าบริษัทไหนได้ทำการหลอกลวงนักท่องเที่ยว เราก็จะดำเนินคดีให้ถึงที่สุด ทั้งนี้การทำวีซ่าเป็นหน้าที่ที่นักท่องเที่ยวที่พึงรู้ กรณีว่าจ้างไปแล้วและใกล้จะครบกำหนดก็ต้องรีบไปติดต่อ ตม. เพื่อจะขออยู่ต่อ” พ.ต.อ.สราวุธ กล่าว
“อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นการเยียวยานักท่องเที่ยว หากโดนหลอกลวงทางเราก็จะดำเนินคดีกับบริษัทเอเย่นต์ พร้อมทั้งดูแลค่าเสียหายที่นักท่องเที่ยวได้จ่ายไป โดยจะติดตามทวงถามให้ ส่วนในเรื่องของการต่อวีซ่านั้นขอเน้นย้ำว่าเป็นเรื่องเฉพาะตัวของนักท่องเที่ยว ที่จะต้องรู้ระยะเวลาที่ได้รับอนุญาตให้พำนักในเมืองไทย และเมื่อครบเวลาแล้วต้องไปต่อวีซ่าด้วยตัวเอง”