ทช.เปิดรับอาสาสมัครพิทักษ์ทะเล ให้โอกาสเหล่าเรนเจอร์ผู้พิทักษ์ได้มาร่วมกันปกป้องสมบัติของชาติ

ภูเก็ต - กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) เปิดรับอาสาสมัครทั้งคนไทยและชาวต่างชาติเข้าร่วมโครงการ “อาสาสมัครพิทักษ์ทะเล” เพื่อปกป้องแนวปะการังและบริเวณชายฝั่งต่าง ๆ รวมทั้งป่าชายเลน ร่วมกันสอดส่องดูแลไม่ให้ทรัพยากรทางธรรมชาติได้รับความเสียหายจากผู้ประกอบการท่องเที่ยวทางทะเล ที่ปราศจากความรับผิดชอบ และกลุ่มคนที่ไร้ศีลธรรมไม่ซื่อสัตย์กับอาชีพ

ข่าวภูเก็ต

วันอาทิตย์ ที่ 9 มิถุนายน 2562, เวลา 12:00 น.

นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวกับ The Phuket News ว่า “เราต้องการอาสาสมัครพิทักษ์ทะเลที่มีใจรักในธรรมชาติ เพื่อปกป้องแนวปะการัง สัตว์น้ำสงวน/คุ้มครอง ป่าชายเลน และแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่มีคุณค่าอื่น ๆ ตามบริเวณแนวชายฝั่งตะวันตกของประเทศไทย ซึ่งรวมถึงจังหวัดภูเก็ตด้วย”

“ลำพังเจ้าหน้าที่ของเรานั้นมีน้อย ไม่เพียงพอต่อการดูแลทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทั้งประเทศ โดยเฉพาะบริเวณรอบ ๆ เกาะภูเก็ต เพราะฉะนั้นเราจึงต้องการที่จะพัฒนาประสิทธิภาพในการป้องกันทรัพยากรธรรมชาติให้ดียิ่งขึ้น ด้วยการปกป้องครอบคลุมทุกพื้นที่ที่สิ่งแวดล้อมทางทะเลได้รับผลกระทบจากการดำเนินกิจกรรมของมนุษย์ ทั้งการทำลายทรัพยากรทางทะเลอย่างรู้เท่าไม่ถึงการณ์ และแบบตั้งใจ” นายจตุพร อธิบาย

ทั้งนี้ อธิบดี ทช.ย้ำว่า ทางกรมฯเปิดรับทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ แบบไม่จำกัดจำนวน ‘ยิ่งมีคนมาสมัครเยอะ ยิ่งดี’

อาสาสมัครพิทักษ์ทะเล (อสทล.) หรือในชื่อภาษาอังกฤษ “Marine Rangers” เป็นโครงการที่จัดทำขึ้นเพื่อเสริมสร้างศักยภาพ ความเข้มแข็ง กระบวนการเรียนรู้และพึ่งตนเองของชุมชนในการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเล และชายฝั่งอย่างยั่งยืนในท้องถิ่นของตนเอง, ประสานการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งระหว่างระดับนโยบาย และในระดับชุมชน ซึ่งรวมไปถึงการสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งในท้องถิ่นของตนเอง

อาสาสมัครพิทักษ์ทะเล จะได้รับสิทธิพิเศษต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น เครื่องแต่งกาย และประดับเครื่องหมายอาสาสมัครพิทักษ์ทะเล, บัตรประจำตัว, สิทธิในการเข้าร่วมกิจกรรมหรือการรับเลือกให้เป็นตัวแทนกลุ่มฯ, นำเสนอข้อมูล และเสนอแนะข้อคิดเห็นต่อการปรับปรุงการดำเนินงาน ทั้งยังสามารถรายงานข้อร้องเรียน หรือตรวจสอบกิจกรรมที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่พื้นที่ทางทะเลโดยตรงต่อกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ผ่านเว็บไซต์หลักหรือแอปพลิเคชั่นไลน์, สิทธิการเข้าชมสถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำ จังหวัดภูเก็ต อุทยานแห่งชาติ และสถานที่ท่องเที่ยวอื่น ๆ ในสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และสิทธิอื่นตามที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งกำหนด รวมไปถึงให้การสนับสนุนการพัฒนาโครงการอนุรักษ์ เพื่อเป็นการส่งเสริมเจ้าหน้าที่ทางทะเลโดยการจัดกิจกรรมเล็ก ๆ เช่น การร่วมกันเก็บขยะใต้ทะเล การเข้าร่วมกิจกกรรมและ การให้ความช่วยเหลือโครงการฟื้นฟูแนวปะการังต่าง ๆ อีกด้วย ซึ่งการปฏิบัติงานนั้นจะอยู่ภายใต้การควบคุมของเจ้าหน้าที่ ที่มีอำนาจในการจับกุมผู้กระทำความผิดตามกฎหมาย

นายฉัตร ชลารัตน์ เจ้าพนักงานป่าชำนาญงาน ส่วนส่งเสริมการมีส่วนร่วม สำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 9 (ภูเก็ต) กล่าวกับ The Phuket News ว่าพื้นที่หลักของจังหวัดภูเก็ตที่ต้องการอาสาสมัครพิทักษ์ทะเลได้แก่ เกาะเฮ เกาะไม้ท่อน เกาะราชาใหญ่ และเกาะราชาน้อย

“ผมรู้สึกเป็นกังวลอย่างมากกับการดำเนินกิจกรรมของมนุษย์ ทั้งคนที่พักอาศัยอยู่ในพื้นที่และนักท่องเที่ยว ซึ่งกำลังส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทางทะเลในท้องถิ่น” นายฉัตร กล่าว

“เราอยากจะแสดงให้ผู้คนได้เห็นซึ่งผลจากการกระทำของพวกเขาที่ทำให้เกิดการหักพังของปะการัง หรือการฟอกขาว รวมไปถึงการได้รับความเสียหายอันเนื่องมาจากการจัดกิจกรรมการท่องเที่ยว, สาเหตุที่หญ้าทะเลถูกทำลายและกำลังจะหมดไป และสัตว์น้ำตามแนวปะการังที่กำลังได้รับผลกระทบไปด้วย” เขากล่าวเพิ่มเติม

ข้อมูล ณ วันที่ 7 มิ.ย. 62 ของเว็บไซต์อาสาสมัครพิทักษ์ทะเลพบว่า จังหวัดภูเก็ตมีอาสาสมัครแล้วทั้งสิ้นจำนวน 264 คน นับเป็น 3.91% ของอาสามัครทั่วประเทศจำนวน 6,759 คน 

หน้าที่ของอาสาสมัครพิทักษ์ทะเล

(1) ให้ความร่วมมือและช่วยเหลือการปฏิบัติงานราชการกับพนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายตามที่ได้ร้องขอ ทั้งนี้ในการปฏิบัติงานแต่ละครั้งอาสาสมัครต้องอยู่ในความควบคุม กำกับ ดูแลของพนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ หรือมีอำนาจในการจับกุมผู้กระทำความผิดตามกฎหมายอย่างใกล้ชิด

(2) ช่วยเหลือและสนับสนุนการดำเนินงานตามแผนงาน โครงการหรือกิจกรรม เกี่ยวกับการอนุรักษ์ สงวน คุ้มครอง และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งในท้องถิ่น

(3) สร้างกระบวนการมีส่วนร่วมและสร้างความตระหนักให้ภาคประชาชนรู้สภาพปัญหาด้านทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ของท้องถิ่นและสามารถกำหนดแผนงานเพื่อแก้ไขปัญหาเองได้ รวมถึงการ
กระตุ้นให้ประชาชน เข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งในพื้นที่ หรือชุมชนของตนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

(4) ส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งของชุมชน

(5) ทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์ รับและแจ้งให้ประชาชนได้ทราบถึงนโยบาย ข่าวสาร กิจกรรม ตลอดจนผลงานที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

(6) สดับตรับฟังข่าว หรือหาข่าวการดำเนินกิจกรรมที่ผิดกฎหมายที่เกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง หรือเป็นภัยร้ายแรงต่อส่วนรวม หรือประเทศชาติ

(7) ติดตาม ตรวจสอบ เฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงคุณภาพทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งของชุมชน

รายงานเพิ่มเติม: ธัญลักษณ์ สากูต
แปล: ซาลิมา โต๊ะหมาด

 

 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่