ทส.มั่นใจขยะไทยไหลลงสู่ท้องทะเลลดลง หลังนำขยะกลับมาใช้ประโยชน์เพิ่มขึ้น

สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ เปิดเผยเมื่อต้นเดือนตุลาคมว่า นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) อดีต อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กล่าวถึงปัญหาขยะทะเลของประเทศไทยว่า ปริมาณขยะทะเลของประเทศไทยมีแนวโน้มลดลง หลังจากที่ได้มีการนำขยะกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่

ข่าวภูเก็ต

วันจันทร์ ที่ 14 ตุลาคม 2562, เวลา 09:00 น.

ภาพ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

ภาพ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

โดยในปี 2561 ขยะมีแนวโน้มถูกชะพัดพาลงสู่ทะเลลดลงเหลือประมาณ 21,700 - 32,600 ตันต่อปี จากเดิมปี 2559 ขยะมีแนวโน้มถูกชะพัดพาลงสู่ทะเลจำนวนมาก อยู่ที่ประมาณ 33,900 - 51,000 ตันต่อปี เนื่องจากประเทศไทยได้นำขยะกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 25 จากเดิมเพียงร้อยละ 15 เท่านั้น อย่างไรก็ตาม จากกิจกรรมเก็บขยะชายหาดที่ทช.ได้จัดขึ้นล่าสุดนั้นยังพบว่า มีขยะประเภทพลาสติกครองแชมป์อยู่ใน 3 อันดับแรกจากปริมาณขยะกว่า 10 ตันที่เก็บได้

ทางทช.ได้ทำการศึกษาการปนเปื้อนของไมโครพลาสติกในสิ่งแวดล้อม จากการแตกตัวของขยะพลาสติกขนาดใหญ่ที่ปนเปื้อนลงสู่สิ่งแวดล้อมทางทะเลและชายฝั่ง จนกระทบห่วงโซ่อาหารและสุขภาพของมนุษย์ระยะยาวในปี 2561 รวม 26 พื้นที่ ใน 18 จังหวัดชายฝั่งทะเล พบในฤดูแล้งตะกอนทรายชายหาดมีไมโครพลาสติกหนาแน่นเฉลี่ย 53 - 2,102 ชิ้น/ตร.ม. และในฤดูฝนตะกอนทรายชายหาดมีไมโครพลาสติกหนาแน่นเฉลี่ย 0 - 974 ชิ้น/ตร.ม.

วันเก็บขยะชายหาดสากล (International Coastal Cleanup Day) ซึ่งตรงกับวันที่ 3 ของเดือนกันยายนของทุกปี ทช.ได้จัดกิจกรรมขึ้นเมื่อวันที่ 21 ก.ย. ที่ผ่านมาในพื้นที่ 24 จังหวัดชายฝั่งทะเล ด้วยการเก็บขยะออกจากระบบนิเวศทางทะเลได้มากกว่า 230,000 ชิ้น น้ำหนักกว่า 10 ตัน ซึ่งขยะที่พบมากที่สุด คือ ขยะจากพลาสติกในรูปแบบต่าง ๆ จาก 5 อันดับแรกของขยะทะเลที่พบมากที่สุด คือ ถุงพลาสติก ร้อยละ 22 ขวดพลาสติก ร้อยละ 16 โฟมบรรจุอาหาร ร้อยละ 9 ขวดแก้ว ร้อยละ 5 และหลอดดูดพลาสติกร้อยละ 5

นายจตุพรได้กล่าวย้ำว่า ปัจจุบันนี้สามารถเก็บรวบรวมขยะตกค้างในพื้นที่ชายฝั่งและหาดต่าง ๆ ใน 74 พื้นที่ 23 จังหวัดชายฝั่งทะเล รวม 350,081 ชิ้น น้ำหนักรวม 32,834.68 กิโลกรัม หรือประมาณ 32.8 3 ตัน จากการรวบรวมและจำแนกประเภทขยะพบขยะตกค้างมากที่สุด คือ ถุงพลาสติก ร้อยละ 11.71 รองลงมาเป็นกล่องอาหารโฟม ห่อหรือถุงอาหาร

ทั้งนี้ในเดือนกันยายนที่ผ่านมา ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ หรือ “อาจารย์ธรณ์” อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล แฟนพันธุ์แท้ทะเลไทย เล่าเรื่องราวของการศึกษาไมโครพลาสติกที่กำลังเป็นกระแสอยู่ในขณะนี้ ให้กลุ่มเพื่อนธรณ์ให้ฟังผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว พร้อมบรรยายข้อความและภาพบรรยายที่เข้าใจง่าย เพื่อเป็นการสร้างความตระหนักแก่เพื่อนธรณ์ว่าเวลาของพวกเราทุกคนเหลือเหลือน้อยเต็มที ต้องรีบจริงจังก่อนความพินาศมาเยือน

“สมัยก่อนเราไปเกาะเจอแต่เปลือกหอยและเศษปะการัง สมัยนี้หาดเต็มไปด้วยเม็ดโฟมและเศษพลาสติก” พร้อมระบุอีกว่า พวกเรากำลังเข้าสู่ยุคของความน่าหวาดหวั่น เพราะขยะที่สะสมในทะเลไทยกำลังกลับมาทำร้ายเราอย่างสาหัส และทางแก้ทางเดียวคือ “ลดขยะทะเลให้มากที่สุด เพื่อไม่ให้เกิดเม็ดโฟมและไมโครพลาสติกมากไปกว่านี้” อาจารย์ธรณ์ กล่าว (อ่านเพิ่มเติม คลิก)

 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่