ทีมวิจัยจุฬาฯ ประสบความสำเร็จศึกษาหาสารเคมีบ่งชี้ถึงความเครียดจาก ’กลิ่นเหงื่อ’

ทีมนักวิจัยคณะแพทยศาสตร์และคณะวิทยาศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประสบความสำเร็จอย่างสูงในการศึกษาหา “สารเคมีบ่งชี้ถึงความเครียดจากกลิ่นเหงื่อ” โดยสารเคมีในกลิ่นเหงื่อ บ่งบอกภาวะความเครียดสูง และซึมเศร้าได้

ประชาสัมพันธ์หน่วยงานรัฐ

วันพฤหัสบดี ที่ 22 มิถุนายน 2566, เวลา 12:22 น.

ภาพ สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์

ภาพ สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์

นักวิจัยจุฬาฯ นำร่องศึกษานักผจญเพลิงในกรุงเทพฯ ผลทดสอบแม่นยำถึง 90% พร้อมเดินหน้าตรวจคัดกรองสุขภาพจิตในกลุ่มอาชีพเครียดจัดและเสี่ยงสูงอื่น ๆ หวังลดปัญหาสุขภาพจิตและความรุนแรงในสังคม

ดร.ชฎิล กุลสิงห์ ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมมือกับ แพทย์หญิงภัทราวลัย สิรินารา ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ศึกษาหา “สารเคมีบ่งชี้ถึงความเครียดจากกลิ่นเหงื่อ” โดยนำร่องวิจัยกับนักผจญเพลิง 1,084 คน จากสถานีดับเพลิง 47 แห่งทั่วกรุงเทพมหานคร นับเป็นครั้งแรกที่พบสารเคมีในกลิ่นเหงื่อที่สามารถบ่งชี้สภาวะความเครียดของกลุ่มประชากรในกรุงเทพได้

กลิ่นเหงื่อ เผย ภาวะเครียด-ซึมเศร้า

ผศ.ดร.ชฎิล กล่าวว่า โครงการวิจัยนี้เป็นครั้งแรกที่มีการตรวจพบกลุ่มสารเคมีความเครียด (แบบระเหยง่าย) ในเหงื่อของคนกลุ่มใหญ่ที่ประกอบอาชีพเดียวกัน และเป็นความเครียดสะสมที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติจากการทำงานและในชีวิตประจำวันจริง ๆ ไม่ได้เป็นความเครียดที่เกิดจากการควบคุมหรือจำลองสถานการณ์ขึ้นเหมือนการศึกษาอื่น ๆ ที่ผ่านมา

“โดยหลักการ ผู้ที่เป็นโรคเดียวกันมักจะมีสารเคมีหรือกลุ่มสารเคมีที่เหมือนกันอยู่ คล้ายกันกับกรณีนี้ หากตรวจพบว่าใครที่มีสารเคมีกลุ่มนี้ในปริมาณที่เกินเกณฑ์หรือต่ำกว่าเกณฑ์ ทั้งหมดก็น่าจะสามารถระบุได้ว่าคน ๆ นั้นมีความเครียดสูงหรืออาจเป็นซึมเศร้าได้ โดยความแม่นยำในการระบุผลจากกลุ่มตัวอย่างที่ผ่านมาอยู่ที่ประมาณ 90%”

วิธีการตรวจคัดกรองภาวะเครียดจัดและซึมเศร้าจากเหงื่อเป็นวิธีที่สะดวก รวดเร็ว สามารถตรวจได้ครั้งละหลาย ๆ คน และใช้เวลาไม่นาน พร้อมต่อยอดคัดกรองสุขภาพจิตกลุ่มอาชีพเครียดจัด

นักผจญเพลิงที่เข้าร่วมวิจัยในโครงการนี้กล่าวพ้องกันว่าโครงการนี้ดีและเป็นประโยชน์ ทำให้พวกเขาเข้าถึงการตรวจคัดกรองสุขภาพจิตและทราบสภาวะจิตใจของตัวเอง บางคนให้ความเห็นว่าการตรวจสุขภาพจิตแบบที่พวกเขาเคยทำเป็นแบบทดสอบทางจิตวิทยาที่ดูรูปภาพและเขียนตอบตามความเข้าใจ ซึ่งเมื่อพวกเขาทำบ่อย ๆ ซ้ำ ๆ ก็จำได้ว่าควรต้องตอบอะไร หรือบางทีพวกเขาก็เข้าไปดูเฉลยในอินเทอร์เน็ต

“แบบนี้ ผลทดสอบก็จะคลาดเคลื่อน ไม่สะท้อนความจริง ในขณะที่การวัดด้วยสารเคมีได้ผลเที่ยงตรงและแม่นยำกว่า” พญ.ภัทราวลัย กล่าว

ถึงแม้การตรวจเหงื่อจะมีความคลาดเคลื่อนน้อยกว่า แต่ พญ.ภัทราวลัย ก็ย้ำว่าการตรวจวินิจฉัยสุขภาพจิตโดยบุคคลากรทางการแพทย์ก็ยังเป็นเรื่องจำเป็น

จากความสำเร็จในการวิจัยกับกลุ่มนักผจญเพลิง ทีมวิจัยมีแผนที่จะขยายการตรวจคัดกรองกับกลุ่มพยาบาลทั่วประเทศ เบื้องต้นได้มีการเริ่มเก็บตัวอย่างเหงื่อจากโรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยาแล้ว โดยงานวิจัยนี้ ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.)

- สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์

 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่