ผู้ป่วยโควิด-19 ภูเก็ตสะสม 140 ราย เพิ่ม 14 กลับบ้านแล้ว 42 รอผลตรวจ 86 ราย ตาย 0

ภูเก็ต - คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดภูเก็ต เปิดเผยสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) จังหวัดภูเก็ต ตั้งแต่วันที่ 5 มกราคม – 7 เมษายน 2563 จังหวัดภูเก็ตมีผู้ป่วยยืนยันโรคโควิด-19 แล้วจำนวน 140 ราย (รายใหม่ 14 ราย) โดยผู้ป่วยรักษาหายกลับบ้าน 42 ราย จำหน่าย 1 ราย (* จำหน่ายด้วยเสียชีวิตจากเหตุการณ์อื่น) กำลังรักษาพยาบาลอยู่ 97 ในจำนวนนี้ อาการรุนแรง 3 ราย เสียชีวิต – ราย ที่เหลืออาการอยู่ในเกณฑ์ที่ดี ทั้งนี้ผู้ป่วยทั้ง 126 รายนี้รวมอยู่ในรายงานผู้ป่วยติดเชื้อยืนยันที่กระทรวงสาธารณสุขได้แถลงไปก่อนหน้านี้แล้ว

เอกภพ ทองทับ

วันพุธ ที่ 8 เมษายน 2563, เวลา 12:16 น.

รายงานสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) จังหวัดภูเก็ต วันที่  8  เมษายน 2563

รายงานสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) จังหวัดภูเก็ต วันที่ 8 เมษายน 2563

ผู้มีอาการเข้าเกณฑ์เฝ้าระวังสะสมทั้งหมด 1,846 ราย (รายใหม่ 90 ราย) โดยยังคงรักษาพยาบาล 183 ราย ในจำนวนนี้อยู่ระหว่างรอผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ 86 ราย ตรวจไม่พบเชื้อกลับบ้านแล้ว 1,620 ราย ข้อมูลจาก สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ณ วันที่ 7 เม.ย. 63 เวลา 18.00 น.

รายงานผู้เสียชีวิต 1 ราย นพ.เฉลิมพงษ์ สุคนธผล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต เปิดเผยเมื่อวันที่ 6 เม.ย.ว่า นักท่องเที่ยวชาวฮังกาเรียนที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน อาจได้รับเชื้อโควิด-19 ในขณะที่อยู่ในโรงพยาบาล ซึ่งอาจจะมีส่วนในการเสียชีวิตครั้งนี้ โดยชายคนดังกล่าวไม่ยอมเปิดเผยว่ามาจากพื้นที่เสี่ยง ทำให้เจ้าหน้าแพทย์พยาบาล จนท.ศูนย์ไข่มุก ต้องกักตัว รวม 112 คน (อ่านเพิ่มเติม คลิก) ล่าสุดจังหวัดภูเก็ตรายงานเป็นเสียชีวิต 0 ราย (คณะกรรมการระบุว่าจำหน่ายด้วยเสียชีวิตจากสาเหตุอื่น)

สำหรับผู้ป่วยยืนยันโรคโควิด-19 รายใหม่ทั้ง 14 ราย มีรายละเอียด ดังนี้

ผู้ป่วยรายที่ 127 ผู้หญิงชาวรัสเซีย อายุ 24 ปี เป็นนักท่องเที่ยวที่อยู่ในพื้นที่ ต.ป่าตอง มานานกว่า 1 เดือน มีประวัติไปสถานบันเทิงบริเวณถนนบางลาบ่อยครั้งและสัมผัสใกล้ชิดกับนักท่องเที่ยวต่างชาติ อาศัยอยู่ที่อพาร์ทเม้นท์แห่งเดียวกันกับผู้ป่วยยืนยันรายที่ 124, 125 และ126 ในเขต ต.ป่าตอง เริ่มมีอาการป่วยวันที่ 22 มี.ค. มีผู้สัมผัสความเสี่ยงสูงกับผู้ป่วยรายนี้ 2 ราย

ผู้ป่วยรายที่ 128 ผู้ชายไทย อายุ 28 ปี อาชีพพนักงานโหลดสัมภาระสนามบินนานาชาติภูเก็ต มีประวัติเดินทางไป 3 จังหวัดชายแดนใต้ก่อนป่วย และทำงานที่เดียวกันกับผู้ป่วยยืนยันรายที่ 121 พักอาศัยที่บ้านเช่า ต.สาคู โดยเริ่มมีอาการป่วยวันที่ 28 มี.ค. มีผู้สัมผัสความเสี่ยงสูงกับผู้ป่วยรายนี้ 7 ราย

ผู้ป่วยรายที่ 129 ผู้หญิงไทย อายุ 31 ปี อาชีพพนักงานสถานบันเทิงบริเวณบางลา ทำงานที่เดียวกับผู้ป่วยยืนยันรายที่ 13, 27 และ 35 และมีประวัติสัมผัสใกล้ชิดกับชาวต่างชาติ พักอาศัยที่คอนโดมิเนียมในป่าตอง เริ่มมีอาการป่วยวันที่ 28 มี.ค. มีผู้สัมผัสความเสี่ยงสูงกับผู้ป่วยรายนี้ 2 ราย

ผู้ป่วยรายที่ 130 ผู้หญิงไทย อายุ 28 ปี อาชีพพนักงานนวด ในพื้นที่ ต.ป่าตอง มีประวัติทำงานสัมผัสใกล้ชิดกับชาวต่างชาติ และทำงานที่ร้านนวดเดียวกันกับผู้ป่วยยืนยันที่ ได้รับรายงานจากอุบลราชธานี พักอาศัยที่ห้องเช่าใน ต.ป่าตอง เริ่มมีอาการป่วยวันที่ 31 มี.ค. มีผู้สัมผัสความเสี่ยงสูงกับผู้ป่วยรายนี้ 5 ราย

ผู้ป่วยรายที่ 131 ผู้หญิงไทย อายุ 42 ปี อาชีพพนักงานนวด ในพื้นที่ ต.ป่าตอง มีประวัติทำงานสัมผัสใกล้ชิดกับชาวต่างชาติ พักอาศัยที่ห้องเช่าใน ต.ป่าตอง เริ่มมีอาการป่วยวันที่ 29 มี.ค. มีผู้สัมผัสความเสี่ยงสูงกับผู้ป่วยรายนี้ 25 ราย

ผู้ป่วยรายที่ 132 ผู้หญิงไทย อายุ 37 ปี อาชีพพนักงานนวด ในพื้นที่ป่าตอง มีประวัติทำงานสัมผัสใกล้ชิดกับชาวต่างชาติ และทำงานที่ร้านนวดเดียวกันกับผู้ป่วยยืนยันรายที่ 130 พักอาศัยที่ห้องเช่าใน ต.ป่าตอง เริ่มมีอาการป่วยวันที่ 22 มี.ค. มีผู้สัมผัสความเสี่ยงสูงกับผู้ป่วยรายนี้ 4 ราย

ผู้ป่วยรายที่ 133 ผู้หญิงไทย อายุ 64 ปี อาชีพพนักงานนวด ในพื้นที่ ต.ป่าตอง มีประวัติทำงานสัมผัสใกล้ชิดกับชาวต่างชาติ และทำงานที่ร้านนวดเดียวกันกับผู้ป่วยยืนยันรายที่ 130 และ 132 พักอาศัยที่ห้องเช่าใน ต.ป่าตอง ยังไม่มีอาการป่วย มีผู้สัมผัสความเสี่ยงสูงกับผู้ป่วยรายนี้ 1 ราย

ผู้ป่วยรายที่ 134 ผู้หญิงไทย อายุ 36 ปี อาชีพพนักงานเก็บเงินสถานบันเทิงบริเวณบางลา พักอาศัยที่ห้องเช่าใน ต.ป่าตอง ยังไม่มีอาการป่วย มีผู้สัมผัสความเสี่ยงสูงกับผู้ป่วยรายนี้ 5 ราย

ผู้ป่วยรายที่ 135 ผู้หญิงไทย อายุ 23 ปี อาชีพแม่บ้านโรงแรมในพื้นที่ ต.ป่าตอง มีประวัติเข้าไปทำความสะอาดห้องพักในโรงแรมของผู้ป่วยยืนยันรายที่ 58 พักอาศัยในเขต ต.ป่าตอง ยังไม่มีอาการป่วย มีผู้สัมผัสความเสี่ยงสูงกับผู้ป่วยรายนี้ 5 ราย

ผู้ป่วยรายที่ 136 ผู้หญิงไทย อายุ 40 ปี อาชีพแม่บ้านสถานบันเทิงบริเวณบางลา ทำงานที่เดียวกันกับผู้ป่วยยืนยันรายที่ 17, 36, 56 และ 71 พักอาศัยในเขต ต.ป่าตอง เริ่มมีอาการป่วยวันที่ 25 มี.ค. มีผู้สัมผัสความเสี่ยงสูงกับผู้ป่วยรายนี้ 1 ราย

ผู้ป่วยรายที่ 137 ผู้ชายไทย อายุ 41 ปี อาชีพพนักงานเสิร์ฟร้านอาหารอิตาลีใน ต.ป่าตอง มีประวัติทำงานในร้านอาหารเดียวกับผู้ป่วยยืนยันรายที่ 59 และ 60 ผู้ป่วยรายนี้เป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูงของผู้ป่วยยืนยันจึงได้นำมากักตัวที่โรงแรมที่กำหนดไว้ เริ่มมีอาการป่วยวันที่ 30 มี.ค. ไม่มีผู้สัมผัสความเสี่ยงสูงกับผู้ป่วยรายนี้

ผู้ป่วยรายที่ 138 ผู้หญิงไทย อายุ 24 ปี อาชีพพนักงานสถานบันเทิงบริเวณบางลา มีประวัติสัมผัสใกล้ชิดกับชาวต่างชาติ และเป็นเพื่อนสนิทของผู้ป่วยยืนยันรายที่ 87 พักอาศัยในเขต ต.กะทู้ เริ่มมีอาการป่วยวันที่ 26 มี.ค. มีผู้สัมผัสความเสี่ยงสูงกับผู้ป่วยรายนี้ 3 ราย

ผู้ป่วยรายที่ 139 ผู้หญิงไทย อายุ 28 ปี อาชีพบริการ มีประวัติไปเที่ยวสถานบันเทิงบริเวณบางลาบ่อยครั้ง สัมผัสใกล้ชิดกับชาวต่างชาติ และเป็นเพื่อนสนิทของผู้ป่วยยืนยันรายที่ 87 และ 138 พักอาศัยในเขต ต.กะทู้ เริ่มมีอาการป่วยวันที่ 4 เม.ย. มีผู้สัมผัสความเสี่ยงสูงกับผู้ป่วยรายนี้ 4 ราย

ผู้ป่วยรายที่ 140 ผู้หญิงไทย อายุ 34 ปี อาชีพบริการ มีประวัติไปเที่ยวสถานบันเทิงบริเวณบางลาบ่อยครั้ง สัมผัสใกล้ชิดกับชาวต่างชาติ และเป็นเพื่อนสนิทของผู้ป่วยยืนยันรายที่ 87, 138 และ 139 พักอาศัยในเขต ต.กะทู้ เริ่มมีอาการป่วยวันที่ 22 มี.ค.มีผู้สัมผัสความเสี่ยงสูงกับผู้ป่วยรายนี้ จำนวน 4 ราย**

ทั้งนี้ผู้ป่วยทุกราย ทีมงานสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ตและผู้เกี่ยวข้องได้ดำเนินการสอบสวนควบคุม ป้องกันโรคตามแนวทางของกระทรวงสาธารณสุข

สำหรับผู้ป่วยยืนยันโรคโควิด-19 ที่พบเพิ่มในวันนี้ 12 จาก 14 รายเป็นกลุ่มที่พบจากการตรวจหาเชื้อเชิงรุก ซึ่งทางกระทรวงสาธารณสุขได้ดำเนินการเพิ่มเป็นพิเศษในเขตพื้นที่ ต.ป่าตอง อ.กะทู้ เพื่อค้นหาผู้ป่วยกลุ่มผู้ที่มีอาชีพเสี่ยงสูง อยู่ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงและผู้สัมผัสของผู้ป่วยยืนยัน ทางทีมงานสาธารณสุขและเทศบาลป่าตองได้ร่วมกันค้นหา และนำมากักตัวไว้ในสถานที่ซึ่งทางเทศบาลป่าตองได้เตรียมไว้ ส่วนผู้ป่วยยืนยันอีก 2 ราย มีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วยยืนยันและไปยังสถานที่เสี่ยง

ทั้งนี้คณะกรรมการฯเน้นย้ำว่า จากข้อมูลนี้จะเห็นได้ว่าโรคโควิด-19 นี้สามารถติดต่อจากคนไปสู่คนได้ง่ายโดยเฉพาะผู้ที่อาศัยอยู่ที่เดียวกัน ทำงานใกล้ชิดกัน มีการพูดคุย สัมผัส หรือใช้สิ่งของร่วมกัน จึงอยากจะเน้นย้ำ เรื่องมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม ถึงแม้จะไม่มีอาการป่วยก็ควรแยกตัวเองออกจากบุคคลอื่น งดกิจกรรมที่ไม่จำเป็น ไม่เข้าไปในที่ชุมชน ใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา หมั่นล้างมือด้วยสบู่หรือแอลกอฮอล์บ่อยๆ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อไปสู่บุคคลที่เรารัก และถ้าหากมีอาการไข้ ไอ น้ำมูก เจ็บคอ เหนื่อย จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส ปวดศีรษะ ถ่ายเหลว ให้รีบไปพบแพทย์

สำหรับประชาชนทั่วไป ขอให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด

 

 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่