ผู้ว่าเชื่อไม่ใช่ฉลามที่กัดนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นแต่เป็นปลาสากหลังสอบข้อมูลจากหลายฝ่าย

ภูเก็ต – หลังเกิดเหตุผู้สื่อข่าวได้สอบถามไปยังแหล่งข่าวที่น่าเชื่อได้หลายราย ซึ่งในเบื้องต้นมีความคิดเห็นแตกออกเป็นปลา 2 ชนิดคือปลาฉลามและปลาสาก ส่วนดร. ธรณ์ได้ให้ความเห็นว่ามีความเป็นไปได้ว่าอาจเป็นฉลามหูดำขนาดเล็ก พร้อมกล่าวว่า 'อย่าเกลียดฉลาม'

ข่าวภูเก็ต

วันศุกร์ ที่ 18 สิงหาคม 2560, เวลา 09:03 น.

นายนรภัทร ปลอดทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ภาพ ปชส.ภูเก็ต

นายนรภัทร ปลอดทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ภาพ ปชส.ภูเก็ต

จากกรณีเมื่อวันที่ 16 ส.ค.ที่ผ่านมา มีนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่น ทราบชื่อภายหลังคือนายเคอิตะ โคชิโกเอะ อายุ 37 ปีประสบเหตุถูกปลาไม่ทราบชนิดกัดที่บริเวณส้นเท้าซ้าย มีเลือดไหลออกมาจำนวนมาก และมีร่องรอยบาดแผลถูกกัดด้วยฟันจนฉีกขาด นอกจากนั้น ยังพบว่าบริเวณหลังเท้าด้านซ้ายมีร่องรอยถูกกัดอีก 3 แผล (อ่านเพิ่มเติม คลิก)

ล่าสุดนายนรภัทร ปลอดทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตได้เปิดเผยภายหลังสอบถามข้อมูลจากนักวิชาการศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งทะเลอันดามันภูเก็ต ซึ่งสันนิษฐานตามลักษณะของบาดแผลและพื้นที่เกิดเหตุว่า ปลาที่กัดนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นนั้นเป็นปลาบาราคูด้า ซึ่งภาษาถิ่นเรียกว่าปลาน้ำดอกไม้หรือปลาสาก

“ปลาชนิดนี้มีรูปร่างลักษณะตัวยาว มีฟันแหลมคมมาก ชอบกินลูกปลาที่อยู่บริเวณผิวน้ำเป็นอาหาร และสันนิษฐานว่าขณะนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นรายดังกล่าวกำลังเล่นวินเซิร์ฟอยู่นั้นก็เกิดมีฟองอากาศเหนือผิวน้ำตรงกับบริเวณที่ปลาสากตัวดังกล่าวอยู่ จึงคิดว่าเป็นลูกปลาที่เคยกินเป็นอาหารจึงได้กัดเข้าที่เท้าของนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่น” นายนรภัทร กล่าว

“นอกจากนี้จากการสอบถามกำนัน ผู้ใหญ่บ้านและผู้นำท้องถิ่นในพื้นที่ ต.กมลา อ.กะทู้ จ.ภูเก็ตซึ่งเป็นพื้นที่เกิดเหตุนั้นต่างยืนยันว่าในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมาชาวบ้าน ชาวประมง ผู้ประกอบการรวมไปถึงนักท่องเที่ยวไม่เคยพบเห็นปลาฉลามในละแวกนี้ ส่วนปลาสากนั้นชาวประมงจับขึ้นมาได้เป็นประจำโดยส่วนใหญ่นำมาทำเป็นลูกชิ้นปลาและปลาสากนี้ก็อาศัยอยู่รอบ ๆ น่านน้ำเกาะภูเก็ต เป็นจำนวนมาก จึงมีความน่าเชื่อสูงว่าปลาที่กัดนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นนั้นเป็นปลาสากไม่ใช่ปลาฉลามตามที่มีกระแสข่าว”

ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ยังกล่าวถึงการลงเล่นน้ำของนักท่องเที่ยวในพื้นที่หาดกมลาว่า สามารถลงเล่นน้ำทำกิจกรรมชายหาดได้ตามปกติ และยังพบว่านักท่องเที่ยวและประชาชนก็ไม่ได้ตระหนกกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ยังคงใช้ชีวิตบริเวณชายหาดแบบปกติเหมือนทุกวันและยังลงเล่นน้ำทะเลได้ตามปกติ “อย่างไรก็ตาม อยากฝากให้ผู้ประกอบการชายหาดช่วยประชาสัมพันธ์กับนักท่องเที่ยวไม่ให้ออกเล่นน้ำห่างชายหาดมากเกินไป และขอให้เล่นน้ำในบริเวณที่ปลอดภัยและมีเจ้าหน้าที่กู้ภัยไลฟ์การ์ดประจำอยู่ในพื้นที่” นายนรภัทร กล่าว

ด้าน ดร. ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ได้โพสต์ภาพและข้อความ ผ่านเฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat โดยข้อความบางส่วนระบุว่า “วันนี้มีข่าวเรื่องปลาทำร้ายนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ลงไปโต้คลื่นหาดกมลา ภูเก็ต ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดเมื่อวาน (16 ส.ค.) จากบาดแผลที่เห็นในภาพ นักวิชาการให้ความเห็นว่าน่าจะเป็นปลา 2 อย่าง อันดับแรกคือ ฉลาม อย่างที่สองคือ ปลาสาก #กรุณาอย่าเกลียดฉลาม

จากประสบการณ์ของผมคิดว่า น่าจะเป็นฉลามขนาดเล็กมากกว่าปลาสาก ซึ่งเป็นกรณีกับที่แหม่มสาวเคยโดนกัดเมื่อเดือนกันยายน ปี 58 ในบริเวณใกล้กัน ความคิดเห็นของผมตรงกับ ดร.ก้องเกียรติ ผู้เชี่ยวชาญจากกรมทะเลและผมให้สัมภาษณ์ไปเช่นนั้น ฉลามในที่นี้อาจเป็นฉลามหูดำขนาดเล็กที่พบได้ทั่วไปในชายฝั่งของประเทศไทย โดยเฉพาะชายฝั่งภูเก็ตหรืออาจเป็นลูกฉลามขนาดใหญ่ชนิดอื่นที่เข้ามาเป็นครั้งคราว การระบุให้ชัดเจนว่าเป็นปลาประเภทใดอาจต้องอาศัยการวิเคราะห์กันต่อไป แต่ที่ไม่ต้องวิเคราะห์คือ “กรุณาอย่าเกลียดฉลาม”

 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่