ผู้เชี่ยวชาญชี้ฟีนิกซ์ขึ้นสู่ผิวน้ำได้เร็วที่สุด “พรุ่งนี้”

ภูเก็ต – ทีมปฏิบัติการกู้ซากเรือทั้งหมดกว่าร้อยชีวิตทั้งจากไทยและต่างประเทศ ได้เริ่มดำเนินการตามแผนมาแล้วส่วนหนึ่ง เพื่อรอการมาถึงของเรือเครนพร้อมเรือลากจูง ซึ่งเดินทางมาจากประเทศสิงคโปร์ ทั้งนี้ทางทีมกู้เรืองานจะได้ทำการดึงตัวเรือขึ้นในเช้าวันพรุ่งนี้ (15 พ.ย. 61) โดยจะได้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมงในการกู้เรือขึ้นมาจากความลึก 45 เมตรและนำเรือเข้าเทียบท่าเรือน้ำลึก หากทุกอย่างเป็นไปตามแผนตัวเรือฟีนิกซ์จะสามารถโผล่พ้นผิวน้ำอีกครั้งในเวลาประมาณเที่ยงวัน ก่อนจะนำไปขึ้นคานไว้ที่ท่ารัตนชัย เพื่อดำเนินทำการตรวจสอบในส่วนของคดีต่อไป อย่างไรก็ตาม หากไม่สามารถนำเรือขึ้นสู่ผิวน้ำได้ภายในวันพรุ่งนี้ ทางบริษัทเชื่อว่าไม่เกิน 5 วัน เราจะได้เห็นภาพฟีนิกซ์ลอยเหนือผิวน้ำอีกครั้งอย่างแน่นอน

จุฑารัตน์ เปลรินทร์

วันพุธ ที่ 14 พฤศจิกายน 2561, เวลา 18:28 น.

เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา (14 พ.ย.61) พล.ต.อ.รุ่งโรจน์ แสงคร้าม รอง ผบ.ตร. พร้อมด้วย พล.ต.ต.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบช.ทท รรท.ผบช.สตม นำสื่อมวลชนไทยทั้งจากส่วนกลาง ท้องถิ่น และสื่อมวลชนต่างประเทศ กว่า 60 คน เข้าร่วมสังเกตการแผนปฏิบัติภารกิจกู้เรือฟีนิกซ์

สำหรับการกู้เรือฟีนิกซ์ในครั้งนี้ ดำเนินการโดย บริษัท ซีเควส มารีน จำกัด ซึ่งเป็นบริษัท ผู้รับจ้างรายใหม่ จากสิงคโปร์เข้าปฏิบัติภารกิจต่อจากบริษัทเดิมที่ถูกยกเลิกสัญญาไปตั้งแต่วันที่ 2 พ.ย. ที่ผ่านมา (อ่านเพิ่มเติม คลิก) โดยได้เดินทางมาถึงจังหวัดภูเก็ต และเข้าปฏิบัติภารกิจตั้งแต่วันที่ 7 พ.ย. ประกอบด้วยทีมงานมากกว่า 100 ชีวิต ทั้งไทยและต่างชาติที่ได้ ดำเนินการติดตั้งอุปกรณ์ใต้น้ำและพร้อมที่จะปฏิบัติการกู้เรือ โดยนำเรือเครนขนาด 1, 200 ตันความยาว 100 เมตรพร้อมเรือลากจูงความยาว 34 เมตร มาร่วมปฏิบัติการในครั้งนี้

พล.ต.อ.รุ่งโรจน์ กล่าวว่า ในส่วนของราชการพยายามผลักดันให้มีการกู้เรือให้ได้เพราะซากเรือถือเป็นหลักฐานส่วนหนึ่งที่จะใช้ในการประกอบการดำเนินคดี สำหรับการดำเนินคดี กับผู้กระทำผิดในคดีเรือล่ม พนักงานสอบสวนได้สรุปสำนวนส่งอัยการเป็นที่เรียบร้อยและได้ส่งฟ้องต่อศาลแล้ว

ในส่วนของปฏิบัติการกู้เรือฟีนิกซ์ในครั้งนี้คาดว่า จะสามารถ กู้เรือขึ้นมาได้ภายในระยะเวลา 5 วันจากนั้นจะมีการตรวจสอบ ทางวิศวกรรม ของเรือว่ามีการก่อสร้างถูกต้องตามแบบแปลนที่กำหนดหรือไม่ และหาข้อมูลว่าเรือดังกล่าวมีการดำเนินการก่อสร้างผิดไปจากแบบแปลนหรือไม่ เพื่อนำข้อมูลไปประกอบทางคดีเพิ่มเติม

ด้านพล.ต.ต.สุรเชษฐ์ กล่าวว่า การพยายามกู้เรือทุกภาคส่วนได้ดำเนินการอย่างเต็มที่ ในส่วนของสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาภูเก็ตโดยกรมเจ้าท่าได้พยายามอย่างเต็มที่ ในการกู้เรือให้สำเร็จแม้ว่าในครั้งที่ผ่านมาจะดำเนินการไม่สำเร็จก็ตาม

การกู้เรือในครั้งนี้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้มีความตั้งใจจริงที่จะให้ภารกิจการกู้เรือสำเร็จโดยเร็วที่สุด จึงมอบหมายให้มีการดำเนินการนำเรือเครนจากสิงคโปร์เข้ามาร่วมปฏิบัติการกู้เรือ เนื่องจากศักยภาพของเรือเครนลำดังกล่าว มีน้ำหนักกว่า 1,000 ตันจึงสามารถที่จะกู้เรือขนาดใหญ่ได้อย่างแน่นอน ทั้งนี้ในส่วนของเรือฟีนิกซ์ที่จมอยู่ในท้องน้ำมีน้ำหนัก 200 ตัน พร้อมทั้งได้ส่งทีมผู้เชี่ยวชาญมาปฏิบัติการกู้เรือด้วย จึงยืนยันได้ว่าการกู้เรือจะใช้เวลา ไม่เกิน 5 วันก็จะสามารถนำเรือขึ้นมาวางบนคานได้ สำหรับการดำเนินการทางคดีจะอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิดของ พล.ต.อ.รุ่งโรจน์ แสงคร้าม รอง ผบ.ตร.

สำหรับการลงพื้นที่สำรวจการปฏิบัติงานของทีมกู้ซากเรือฟีนิกซ์ในครั้งนี้ มีนายธนภัทร เหมังกร ผู้ควบคุมดูแลโปรเจคกู้เรือฟีนิกซ์ เป็นผู้อธิบายถึงขั้นตอนการปฏิบัติงานรวมถึงปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ พร้อมให้ความมั่นใจว่าการทำงานในครั้งนี้ได้ผ่านอุปสรรคที่คิดว่าสำคัญที่สุดมาแล้ว คือการเดินทางของเรือเครนจากสิงคโปร์สู่ภูเก็ต (อ่านเพิ่มเติม คลิก) จากนี้ไปคาดว่าทางบริษัทสามารถรับมือได้ไม่ยากแล้ว

ในขณะเดียวกัน เจ้าท่าภูเก็ตประกาศห้ามเรือทุกชนิดเดินเรือผ่านรัศมี 1 ไมล์จุดจมฟีนิกซ์ (อ่านเพิ่มเติม คลิก) เพื่อให้การปฏิบัติการกู้เรือเป็นไปด้วยความเรียบร้อย และเพื่อความปลอดภัยในการเดินเรือ

นายธนภัทร อธิบายว่า ขณะนี้ตัวเรือฟีนิกซ์ซึ่งจมอยู่ได้ทะเลในระดับความลึก 45 เมตรนั้นตำแหน่งค่อนข้างจะตรง (อาจจะไม่ถึงกับ 90 องศา) สำหรับงานในช่วงบ่ายของวันนี้คือการทิ้งสมอ 8 ตัว เพื่อให้เรืออยู่คงที่ที่สุด โดยให้หัวเรือขนานกับเรือฟีนิกซ์ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จในวันนี้ เวลาประมาณ 6 โมงเย็น จากนั้นจึงจะเริ่มทำการกู้เรือในรุ่งเช้า โดยการนำเชือกสอดเข้าไปที่บริเวณหัวเรือ 2 เส้น ผ่านทางช่องหน้าต่าง ซึ่งเชือกแต่ละเส้นสามารถรับน้ำหนักได้เส้นละ 160 ตัน ส่วนท้ายก็จะสอดเชือกเข้าไปอีก 2 เส้นเช่นเดียวกัน เพื่อนำมาเกี่ยวกับตัวตะขอและดึงตัวเรือขึ้นสู่ผิวน้ำ

“เรือลำนี้จมลงไปในก้นทะเลประมาณ 80 เซนติเมตร เราจะทำการยกขึ้นมาให้พ้นท้องทะเลก่อน เพื่อจะดูการทรงตัวของเรือผ่านกล้องใต้น้ำ จากนั้นจะยกขึ้นมาอีก 50 เซนติเมตร เพื่อดูการทรงตัวของเรืออีกครั้ง เมื่อเรามั่นใจในการทรงตัวของเรือแล้ว เราก็จะทำการดึงตัวเรือขึ้นอย่างช้า ๆ ด้วยสปีดที่ต่ำมาก ซึ่งจะใช้เวลาประมาณครึ่งชั่วโมงกว่าจะยกหัวเรือพ้นจากน้ำ (ในขณะที่ตัวเรือส่วนใหญ่ยังอยู่ใต้น้ำ) จากนั้นเราจะทำการสูบน้ำออกจากเรือ เมื่อสูบน้ำออกแล้วเรือจะสามารถลอยตัวได้ด้วยตัวของมันเอง” นายธนภัทร กล่าว

หลังจากนั้นทางบริษัทจะส่งทีมงานลงไปเพื่อสำรวจรอยรั่ว พร้อมกับอุปกรณ์ในการอุดรอยรั่ว เมื่อฟีนิกซ์สามารถลอยเหนือผิวน้ำได้ด้วยตัวเองแล้ว ก็จะนำมาจอดเทียบกับเรือบาส ซึ่งเรามีเจ้าหน้าที่เตรียมปั๊มน้ำพร้อมอุปกรณ์อุดรอยรั่วตลอดระยะทางที่จะลากเรือลำนี้เข้าไปที่ฝั่ง ซึ่งห่างไปประมาณ 7 ไมล์ทะเล (ใช้เวลาประมาณ 30 นาที ถึงท่าเรือน้ำลึก)

“ตัวเรืออยู่ในสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ ส่วนพวกอุปกรณ์ย่อย เช่น ราวกันตกได้มีการหลุดออกไปหมดแล้ว ณ เวลานี้ภูเก็ตคลื่นลมไม่แรงเพราะไม่ใช่หน้ามรสุม เราไม่คิดว่าจะเจอปัญหาอุปสรรคคลื่นลม ซึ่งขณะนำเรือฟีนิกซ์เข้าฝั่งจะมีเรือบาสลอยลำเป็นพี่เลี้ยงตลอดเส้นทาง โดยจะใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมงในการลากเข้าฝั่ง”

“ตามการคาดการณ์ในการยกเรือ เราคาดเอาไว้ 2 เวลา คือ วันพรุ่งนี้เช้าเวลา 7 โมงเช้า หรือพรุ่งนี้ช่วงบ่าย ขึ้นอยู่กับว่าเราพร้อมและมั่นใจว่าเราสามารถยกได้ แต่ไม่น่าเกินพรุ่งนี้บ่าย” นายธนภัทร กล่าว

ข้อมูล: สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดภูเก็ต

 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่