ฝนฟ้ากระหน่ำเหนือจรดใต้ กับการสูญเสียที่ไม่มีใครอยากให้เกิด

บทความ - ตลอดช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ทั้งชาวไทยและต่างชาติต่างก็จดจ่อกับข่าวคราวที่เกิดขึ้นในประเทศของเรา เริ่มตั้งแต่ทีมฟุตบอลเยาวชน ทีมหมูป่าอะคาเดมี ที่ได้เดินทางเข้าไปท่องเที่ยวในถ้ำหลวง ภายในวนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ในหมู่บ้านจ้องวัด หมู่ 9 ต.โป่งผา อ.แม่สาย จ.เชียงราย และติดอยู่ภายในถ้ำตั้งแต่ช่วงเย็นวันที่ 23 มิ.ย. เนื่องจากมีฝนตกหนักทำให้น้ำป่าไหลหลากปิดทางออกจากถ้ำ

จุฑารัตน์ เปลรินทร์

วันอาทิตย์ ที่ 22 กรกฎาคม 2561, เวลา 09:00 น.

ภาพประกอบ Jo Naylor/Flickr

ภาพประกอบ Jo Naylor/Flickr

ก่อให้เกิดพลังสามัคคีของชาวไทยและชาวต่างชาติ ร่วมระดมกำลังในภารกิจค้นหาและช่วยเหลือทั้ง 13 ชีวิตออกมาได้ด้วยความยากลำบาก แต่ก็ต้องสูญเสียกำลังพลไปหนึ่งนาย คือ น.ต.สมาน กุนัน หรือจ่าแซม วีรบุรุษถ้ำหลวง ขุนน้ำนางนอน นักทำลายใต้น้ำจู่โจม ผู้เสียสละชีวิตในการปฏิบัติการดำน้ำเข้าไปช่วยเหลือ 13 ชีวิต

ค่ำคืนวันที่ 2 กรกฎาคม 2561 ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย แถลงข่าวยืนยันเมื่อเวลา 22.32 น. ว่าพบนักฟุตบอลและโค้ช 13 ชีวิตทีมหมู่ป่าอะคาเดมีที่ติดอยู่ภายในถ้ำหลวงแล้ว ทุกคนยังปลอดภัย สร้างเสียงโห่ร้องดีใจไปทั่วพื้นที่ถ้ำหลวงและผู้ที่ติดตามข่าวสารนี้ที่เรียกได้ว่าดังไปทั่วโลก แม้ว่าหนทางข้างหน้าจะยากเย็นกว่าการค้นหา นั่นคือภารกิจคือการนำตัวเด็ก ๆ และโค้ชออกมาจากถ้ำอย่างปลอดภัย

ดีใจได้เพียงไม่นาน ประเทศไทยของเราก็ต้องประสบกับข่าวร้ายอีกครั้งเมื่อเรือฟีนิกซ์ล่มกลางทะเลอันดามัน ในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม ที่ผ่านมา เนื่องจากสภาพลมฟ้าอากาศที่มีพายุฝนลมกรรโชกแรงคลื่นสูง ส่งผลให้มีผู้สูญหายหลายสิบชีวิตและเสียชีวิตรวมกว่า 47 ราย สร้างความโศกเศร้าและกระแสสังคมกับคำถามด้านความปลอดภัยทางน้ำและมาตรการดูแลนักท่องเที่ยวของจังหวัดภูเก็ตและประเทศไทย

อย่างที่ทราบกันที่ว่าจังหวัดภูเก็ตเป็นเกาะกลางทะเลอันดามัน และมีช่วงฤดูมรสุมพัดผ่านเป็นเวลากว่าครึ่งปี ซึ่งหากท่านที่อาศัยอยู่บนเกาะนี้เป็นระยะเวลาพอสมควรก็จะทราบดีว่า ช่วงฤดูมรสุมจะพบว่าในวันที่อากาศร้อน แดดเปรี้ยง อาจเปลี่ยนเป็นพายุฝนฟ้าคะนองได้ในชั่วพริบตา

สำหรับเรื่องนี้ ข่าวภูเก็ต เองก็มีปัญหาคาใจอยู่เล็กน้อยในเรื่องของการประชาสัมพันธ์เตือนภัยพายุฝนฟ้าคะนองในรูปแบบต่าง ๆ เนื่องจากเมื่อช่วงเช้าของ วันพฤหัสบดี ที่ 5 กรกฎาคม ในวันเดียวกับที่เกิดเหตุโศกนาฏกรรมเรือฟีนิกซ์นั้น ทางเราได้โทรไปสอบถามเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับประกาศเตือนพายุฝนฟ้าคะนองของจังหวัดภูเก็ต เพราะดูจากสภาพอากาศแล้วคาดว่าอาจจะต้องมีประกาศเตือนอย่างแน่นอน

คำตอบคือ “มี” แต่ความประสงค์แรกของเจ้าหน้าที่คือให้เรา “ใช้” ข้อความเตือนจากเว็บไซต์กรมอุตุนิยิมวิทยาได้เลย ซึ่ง “ถ้อยคำ” นั้นก็กระทบจิตใจของเราเบา ๆ แต่ก็ได้อธิบายกลับไปว่าประกาศของจังหวัดนั้นมีความจำเป็นกับสื่อท้องถิ่น ด้วยน้ำหนักของผู้ใหญ่ในจังหวัดที่เซ็นชื่อออกคำสั่งเตือนนั้น ๆ เพื่อประกอบกับคำเตือนจากกรมอุตุฯ สุดท้ายเจ้าหน้าที่ก็เข้าใจและส่ง “แฟกซ์” ให้เรา

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าวันนี้ศพที่ 47 จะถูกเก็บกู้จากท้องทะเลอันดามันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่คำถามเรื่องความปลอดภัยและมาตรการป้องกันภัยในรูปแบบต่าง ๆ รวมไปถึงการบังคับใช้กฎหมายควบคุมผู้ประกอบการท่องเที่ยวในทุกมิติ ก็ยังคงเป็นปัญหาคาใจของใครหลายคน ซึ่งเป็นเรื่องที่ทางภาครัฐและผู้ประกอบการเองต้องพิสูจน์ให้ได้และให้เห็นเป็นรูปธรรมว่า ภูเก็ตเรามีมาตรฐานความปลอดภัยและยังเป็นสวรรค์แห่งการท่องเที่ยวทางทะเลของทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ

 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่