พลิกฟื้นผืนป่าเมืองไทย ทั่วโลกต้องร่วมมือก่อนภัยพิบัติจะนำไปสู่การสูญพันธุ์ครั้งที่ 6

เดวิด แอทเทนเบอโร (David Attenborough) ผู้นำเสนอรายการประจำสถานีโทรทัศน์บีบีซี ได้นำเสนอสารคดี “สิ่งมีชีวิตบนโลกของเรา (A Life On Our Planet)” ผ่านทางช่อง Netflix โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับผลกระทบจากการกระทำของมนุษย์ ที่มีผลต่อธรรมชาติ โดยตลอดเวลา 50 ปีที่ผ่านมาที่ตัวเขาได้นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ไปจนถึงการพูดคุยถึงความคาดหวังและความวิตกกังวลเกี่ยวกับอนาคตของโลกใบนี้

Palmer Owyoung

วันอาทิตย์ ที่ 22 พฤศจิกายน 2563, เวลา 09:00 น.

ในช่วงการเดินทางของชีวิต เขาตั้งข้อสังเกตว่าประชากรโลกได้เพิ่มขึ้นจาก 2.3 พันล้านคนในปี พ.ศ. 2480 เป็นเกือบ 7.82 พันล้านคนในปี 2563 ในขณะที่เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ป่าในโลกลดลงจาก 66% เหลือเพียงแค่ 30% เท่านั้น

ภัยพิบัติที่มีความโหดร้ายรุนแรงต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นไฟไหม้ น้ำท่วม ความแห้งแล้ง พายุเฮอริเคนพัดกระหน่ำ โรคระบาดต่าง ๆ สิ่งเหล่านี้ทำให้อัตราการตายของสิ่งมีชีวิตเพิ่มมากขึ้นถึง 1,000 เท่าของอัตราการเสียชีวิตแบบปกติ การละลายของน้ำแข็งในอาร์กติก การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แม้แต่การเพิ่มขึ้นของการระเบิดของภูเขาไฟและแผ่นดินไหว ล้วนเป็นผลมาจากการตัดไม้ทำลายป่า ซึ่งสิ่งนี้ยังนำไปสู่การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ การหยุดชะงักของวงจรการหมุนเวียนของน้ำ และการเพิ่มขึ้นของก๊าซเรือนกระจกอีกด้วย

นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า เหตุการณ์เหล่านี้กำลังนำไปสู่การสูญพันธุ์ครั้งที่ 6 ของโลก ซึ่งการสูญพันธุ์ 5 ครั้งก่อนหน้านี้ก่อให้เกิดการตายของสิ่งมีชีวิตทั้งหมดบนโลกถึง 99% มีหลักฐานบอกว่าตอนนี้เราอยู่ในช่วงกึ่งกลางของการสูญพันธุ์ครั้งที่ 6 และการกระทำต่าง ๆ ของมนุษย์ในปัจจุบันนี้มีส่วนโดยตรงในการเร่งให้เกิดการสูญพันธุ์เกิดขึ้นเร็วขึ้น

สถานการณ์การแพร่ระบาดทั่วโลก

การตัดไม้ทำลายป่ามีผลให้เกิดการถ่ายทอดเชื้อโรคจากสัตว์สู่คน ซึ่งนี่เป็นสาเหตุที่น่าสงสัยของการเกิดโรคโควิด-19 และการระบาดทั่วโลกครั้งนี้ การศึกษาล่าสุดของ เลส คอฟแมน (Les Kaufman) ศาสตราจารย์ด้านชีววิทยาแห่งมหาวิทยาลัยบอสตันคาดการณ์ว่า ค่าใช้จ่ายรายปีในการป้องกันการแพร่กระจายของไวรัสชนิดใหม่จากป่าเขตร้อนอยู่ที่ประมาณ 22,200 - 30,700 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี ในขณะที่พวกเขาประเมินว่าโรคโควิด-19 จะทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกมีมูลค่าความเสียหายอยู่ที่ระหว่าง 8.1-15.8 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หลังจากทุกอย่างได้สิ้นสุดลง กล่าวอีกนัยหนึ่งความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากโรคโควิด-19 จะมากถึงประมาณ 500 เท่าของการป้องกันโรคไม่ให้เกิดขึ้นนั่นเอง

ปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศไทย

ประเทศไทยกำลังประสบปัญหาการตัดไม้ทำลายป่าเช่นเดียวกับหลายพื้นที่ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากข้อมูลของกรมป่าไม้ระบุว่าผืนป่าในประเทศครอบคลุมพื้นที่ 70% ในปี 2473 ลดลงเหลือ 31% ในปี 2561 สาเหตุหลักมาจากการขยายพื้นที่นาและกิจกรรมทางการเกษตรอื่น ๆ การตัดไม้อย่างผิดกฎหมายและการเปลี่ยนป่าชายเลนให้เป็นนากุ้ง

การสูญเสียป่าชายเลนนับเป็นปัญหาสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากพวกมันทำหน้าที่เป็นกันชนระหว่างผืนน้ำในมหาสมุทรและผืนดิน ปกป้องแนวปะการัง ป้องกันพายุและคลื่นสึนามิ และยังเป็นตัวป้องกันการพังทลายของดินอีกด้วย นอกจากนี้ป่าชายเลนยังได้มีส่วนสำคัญของการมีสิ่งแวดล้อมที่มีคุณภาพ พื้นที่ที่มีความปลอดภัยให้แก่บรรดาปลา นก ปู กุ้งและสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ให้สามารถเจริญเติบโตได้ ประมาณกันว่า 80% ของปลาที่จับได้พึ่งพาอาศัยป่าชายเลนทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นทางตรงหรือทางอ้อม นอกจากนี้ป่าชายเลนยังสามารถช่วยกำจัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่าป่าเขตร้อนถึง 5 เท่า ปัจจุบันนี้พบว่าตั้งแต่ปี พ.ศ. 2504 ประเทศไทยสูญเสียป่าชายเลนไปแล้วเกือบ 60%

ความหวังยังมี

นายแอทเทนเบอโรได้ชี้ให้เห็นว่า นอกเหนือจากการเปลี่ยนไปใช้พลังงานหมุนเวียนและลดการขยายปริมาณประชากรแล้ว หนึ่งในกลยุทธ์สำคัญในการช่วยโลกของเราคือการฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งก็คือการปลูกป่าทดแทนและให้เวลาอย่างเพียงพอแก่โลกของเราในการฟื้นฟูรักษาตัวเอง
เขาได้ยกตัวอย่างประเทศคอสตาริกาว่าเป็นกรณีศึกษาที่ประสบความสำเร็จประเทศหนึ่ง โดยในช่วงยุค 50 หรือประมาณช่วง 10 ปีจากพ.ศ. 2493 พื้นที่ 70% ของประเทศถูกปกคลุมไปด้วยป่าไม้ แต่ในช่วงยุค 80 (จากปี 2523) ผืนป่าลดลงเหลือเพียง 25% เนื่องจากการตัดไม้ทำลายป่า อย่างไรก็ตามภายใน 25 ปี ป่าไม้ที่คอสตาริก้ากลับมาได้ถึง 50% เนื่องจากโครงการของรัฐบาลที่ให้เงินช่วยเหลือแก่เจ้าของที่ดินเพื่อเป็นแรงจูงใจในการปลูกพันธุ์ไม้พื้นเมืองในพื้นที่ของตัวเอง

พลิกฟื้นผืนป่าเมืองไทย

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้ดำเนินการเพื่อปกป้องทรัพย์สินทางธรรมชาติ ซึ่งรวมถึงโครงการปลูกป่าทางอากาศที่ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกองทัพอากาศ โดยทำการทิ้งเมล็ดพันธุ์จำนวนหลายล้านลูกจากอากาศลงบนพื้นดินที่ได้รับความเสียหาย ในเขตจังหวัดทางภาคเหนือ เริ่มตั้งแต่ปี 2556 โดยมีเป้าหมายเพื่อฟื้นฟูพื้นที่ป่าให้ได้ 40% ภายในปี 2567

นอกจากนี้ยังมีความพยายามอย่างยิ่งในการที่จะปกป้องป่าชายเลน โดยการทำงานร่วมกับองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร เช่นโครงการ Mangrove Action ซึ่งทำงานร่วมกับชาวบ้านในการฟื้นฟูป่าชายเลนที่ได้รับความเสียหาย จากนากุ้งที่ถูกทิ้งร้างในเขตจังหวัดระนองและกระบี่

ทั้งนี้ นายแอทเทนโบเรอได้สรุปไว้ในสารคดี “ชีวิตบนโลกของเรา” ว่า “มันไม่เกี่ยวกับการช่วยโลกใบนี้ แต่เป็นการช่วยเหลือตัวเราเอง” ธรรมชาตินั้นมีทั้งความยืดหยุ่นและชาญฉลาด หากเราทำงานร่วมกับมันเราจะสามารถทำให้โลกกลับคืนสู่ช่วงเวลาก่อนเกิดไฟไหม้ น้ำท่วม ภัยแล้ง การตัดไม้ทำลายป่า เฮอริเคนและโรคระบาดทั่วโลกที่เราเห็นในปัจจุบัน ถ้าไม่ใช่เพื่อตัวเราเองก็เพื่อลูกของเรา เราจำเป็นต้องเรียนรู้ที่จะอยู่อย่างสมดุลกับโลกใบนี้มากกว่าที่จะขัดแย้งกับมัน เราไม่มีทางเลือกอื่น”

Palmer Owyoung (พาล์มเมอร์ โอว์ยัง) เป็นนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมที่ทำงานร่วมกับ Kamala Green Club และ Global Sustainability Hub

แปลและเรียบเรียงโดย ธิชา/ข่าวภูเก็ต

 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่