ภูเก็ตยืนยันนทท.ชาวรัสเซียเสียชีวิตจาก “ปอดอักเสบไม่ทราบสาเหตุ” ไม่ใช่โควิด-19

ภูเก็ต – เช้าวันนี้ (9 มี.ค.) นางบุษยา ใจเปี่ยม ประชาสัมพันธ์จังหวัดภูเก็ต เปิดเผยว่า ผู้อำนวยการโรงพยาบาลวชิระภูเก็ตยืนยัน นักท่องเที่ยวชาวรัสเซียไม่ได้เสียชีวิตจากการติดเชื้อ Covid-19 (โควิด-19) พร้อมทั้งเน้นย้ำอีกครั้งว่าจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ยังเป็นศูนย์

ข่าวภูเก็ต

วันจันทร์ ที่ 9 มีนาคม 2563, เวลา 12:32 น.

นางบุษยา รายงานข่าวอ้างอิงข้อมูลจากโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต หลังจากที่ได้มีการนำเสนอข้อมูลข่าวสารและเอกสารใบมรณะบัตรของ นายอิลยาส คาริมูฟ อายุ 64 ปีชาวรัสเซีย กรณีการเสียชีวิต ณโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต “ในเรื่องนี้สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดภูเก็ตได้ประสานขอข้อมูลจากโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต โดยนายแพทย์เฉลิมพงษ์ สุคนธผล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต เปิดเผยว่า นายอิลยาส คาริมูฟ ชาวรัสเซียอายุ 64 ปีได้เสียชีวิต เมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2563 เวลา 09:00 น. ณ โรงพยาบาลวชิระภูเก็ตหลังเข้ารับการรักษา ณ โรงพยาบาลวชิระภูเก็ตเป็นเวลา 14 วัน สาเหตุ การเสียชีวิตจากภาวะ อาการปอดอักเสบติดเชื้อรุนแรง

สำหรับประวัติการเจ็บป่วยและการรักษา นายอิลยาส มีดังนี้
11 ก.พ. 63 มีอาการไข้ หนาวสั่น เจ็บคอ รักษาคลินิก แพทย์บอกเป็นคออักเสบ ได้ยาทานอาการไม่ทุเลา
15 ก.พ. 63 มีอาการ ไข้ ไอมาก หายใจเหนื่อย T 36.6 R 22 ปอดมีเสียง crepitation + rhonchi (มีรอยโรคที่ปอดข้างขวา) แพทย์วินิจฉัย ปอดบวม รักษาแบบผู้ป่วยในโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต
16 ก.พ.63 ปอดมีเสียง crepitation + หอบเหนื่อย
17 ก.พ.63 มีอาการไข้ หายใจเหนื่อยมาก ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ
18 ก.พ. 63 ย้ายเข้า RCU (ICU ระบบทางเดินหายใจ) วัด T 38.1 R 22 แพทย์วินิจฉัย ARDS (ระบบทางเดินหายใจล้มเหลว), ปอดบวม, RF

สรุปการรักษา
เริ่มป่วย 11 ก.พ. รับการรักษา 15ก.พ. รพ.วชิระภูเก็ต แผนกอายุรกรรมชาย วันที่ 18 ก.พ. ย้าย RCU ปรึกษาพบเข้าเกณฑ์ PUI
ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ PCR Covid-19 เป็นผลลบ (เก็บซ้ำสองครั้งผลลบทั้งสองครั้ง) ผู้ป่วย เสียชีวิตวันที่ 29 ก.พ. วินิจฉัยปอดอักเสบไม่ทราบสาเหตุ (ARDS, Unspecified Pneumonia)

“ดังนั้นขอยืนยันว่าไม่ได้เสียชีวิตจากการติดเชื้อ Covid 19” นางบุษยา กล่าว พร้อมยืนยันว่า “ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด19 ของจังหวัดภูเก็ตยังเป็นศุนย์”

อย่างไรก็ตาม จากกรณีที่ได้มีเอกสาร “รายงานสถานการณ์โรคไวรัสโคโรนา-19” ของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ที่เผยแพร่บนเว็บไซต์กองควบคุมโรคติดต่อ(DDC) สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร (กทม.) เมื่อวันที่ 12 ก.พ. เผยจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 33 ราย 1 ในนั้นมีข้อมูลเกี่ยวกับผู้ป่วยที่ติดเชื้อในจังหวัดภูเก็ต 1 ราย ซึ่งคนไข้ลำดับที่ 26 เป็นชาวจีน อายุ 35 ปี วันที่ 3 ก.พ. เข้าไปรักษาตัวในโรงพยาบาลเอกชนของจังหวัดภูเก็ตจากอาการเจ็บคอและมีไข้ 37.7 องศา และเข้าห้องไอโซเลทที่รพ.วชิระภูเก็ต ผิดการตรวจจากห้องปฏิบัติการพบว่า ตรวจพบเชื้อในตระกูลโคโรนาไวรัส ซึ่งต่อมาพบว่าเอกสารหัวสีชมพูดังกล่าวหายไปจากเว็บไซต์ แต่ยังมีการพูดถึงกรณีดังกล่าวอย่างต่อเนื่องบนโลกโซเชียลมีเดีย

ในเรื่องนี้ นพ.ขจรศักดิ์ แก้วจรัส รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ได้กล่าวในโอกาสเดินทางตรวจเยี่ยม ศูนย์ปฏิบัติการคัดกรองไข้หวัด/คลินิกโรคทางเดินหายใจ และหอผู้ป่วย พร้อมด้วยผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและคณะ เพื่อเข้ารับฟังบรรยายสรุปการดำเนินงานเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์โควิด-19ที่จังหวัดภูเก็ตเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า ภายหลังจาก ผอ.รพ.วชิระภูเก็ต ตั้งโต๊ะเคลียร์ข้อกล่าวหา หมอภูเก็ตโร่แจ้งความร้องเรียนบกพร่อง “ป้องกันโควิด-19” (อ่านเพิ่มเติม คลิก)

นพ.ขจรศักดิ์ กล่าวว่า ตนได้ตรวจสอบรายงานดังกล่าวของกรมควบคุมโรคแล้ว แต่ข้อมูลในรายงานหัวกระดาษสีชมพูนั้นยังไม่สามารถนำมาอ้างอิงได้ เนื่องจากต้องมีการตรวจสอบและอัพเดทอีกครั้งก่อนโพสต์ขึ้นเว็บไซต์ ส่วนเอกสารที่กรมควบคุมโรคเผยแพร่ต่อสาธารณะนั้นจะมีหัวกระดาษ “สีน้ำเงิน” The Phuket News รายงาน

ผู้สื่อข่าวสอบถามเพื่อให้ รองอธิบดีกรมควบคุมโรคยืนยันหลังตรวจสอบรายงานดังกล่าวแล้ว ว่าผู้ป่วยลำดับที่ 26 ในรายงานนั้นติดเชื้อในตระกูลโคโรนาจริงหรือไม่ นพ.ขจรศักดิ์ปฏิเสธที่จะตอบคำถามดังกล่าว และปฏิเสธการตอบคำถามว่าในจังหวัดภูเก็ตมีผู้ติดเชื้อหรือไม่ โดยกล่าวแต่เพียงว่า ยอมรับว่ามีผู้ป่วยที่อยู่ในขั้นตอนการเฝ้าระวังที่รพ.วชิระภูเก็ต เนื่องจากเข้าข่ายต้องสงสัยติดเชื้อโควิด-19 แต่ปฏิเสธไม่ขอเปิดเผยจำนวนผู้ป่วยเข้าข่ายเฝ้าระวัง

อย่างไรก็ตาม นพ.ขจรศักดิ์ กล่าวในที่ประชุมว่า “จากการที่ได้ตรวจสอบกระบวนการคัดกรองโรคโควิด-19 ของรพ.วชิระภูเก็ต ผลปรากฏว่าไม่พบข้อบกพร่อง ทุกกระบวนการไปเป็นตามมาตรฐานการคัดแยกผู้ป่วย และสำหรับในส่วนของการดูแลบุคลากรทางการแพทย์ทางโรงพยาบาลยังมีความพร้อมในส่วนของอุปกรณ์ป้องกันเชื้อ ทั้งชุด PPE ของแพทย์ผู้ดูแล และหน้ากากอนามัยยังมีความเพียงพอ”

 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่