ภูเก็ตรับเรือยอชท์วันแรก 3 ลำ ทิ้งสมอในจุดที่กำหนด คัดกรองกักตัว 14 วัน

ภูเก็ต - จังหวัดภูเก็ตรับเรือยอชท์วันแรก 3 ลำ ทิ้งสมอในจุดที่กำหนด ศรชล.ภาค 3 บูรณาการหน่วยงานปฏิบัติรับเรือยอชท์เข้าภูเก็ตที่บริเวณอ่าวปอ พร้อมส่งทีมเจ้าหน้าที่ทำการตรวจคัดกรองและกักตัวตามกำหนดเป็นระยะเวลา 14 วัน

เอกภพ ทองทับ

วันศุกร์ ที่ 27 พฤศจิกายน 2563, เวลา 15:35 น.

เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2563 พลเรือโทเชิงชาย ชมเชิงแพทย์ ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 3 ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ภาค 3 (ศรชล.ภาค 3 ) กล่าวว่า ในวันนี้ (27 พ.ย.63) เป็นวันแรกของการเข้ามาของเรือยอชท์ โดยศรชล.ภาค 3 ได้บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการปฏิบัติการรับเรือยอชท์ที่เข้ามาในประเทศไทย และจะจอดทิ้งสมอในบริเวณจุดที่กำหนดบริเวณ ใกล้เกาะนาคา ตำบลป่าคลอก อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต ตามประกาศของกรมเจ้าท่า คือ บริเวณกลางทะเลอ่าวปอ ห่างจากชายฝั่งประมาณ 6.20 กิโลเมตร เพื่อให้เจ้าหน้าที่ทำการตรวจคัดกรองและกักตัวตามกำหนด

ศรชล.ภาค 3 มอบหมายให้ พลเรือตรี สุชาติ เปรมประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักฝ่ายอำนวยการศรชล.ภาค 3, นาวาเอก เกรียงไกร ลายเงิน หัวหน้าศูนย์ควบคุมความมั่นคงท่าเรือจังหวัดภูเก็ต, นาวาเอก ปุณณรัตน์ เลาวัณศิริ รอง ผบ.หมวดเรือเฉพาะกิจ ศรชล.ภาค 3 ร่วมปฏิบัติการควบคุมดูแลร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย

พลเรือโท เชิงชาย กล่าวต่อไปว่า การรับเรือยอชท์เข้ามาในราชอาณาจักร ตามข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี ในสรุปผลการประชุม ศบค.ครั้งที่ 13/2563 ในวันที่ 21 ต.ค. 63 โดยมอบหมายให้ ศรชล.เป็นหน่วยงานในการอำนวยการและบูรณาการการปฏิบัติในการรับเรือยอชท์เข้ามาในราชอาณาจักรโดยมีประกาศในส่วนที่เกี่ยวข้องในการปฏิบัติจากกระทรวงมหาดไทยและกรมเจ้าท่า รวมทั้งการกำหนดมาตรการป้องกันและรายละเอียดการปฏิบัติตามคำสั่งจังหวัดภูเก็ต ที่ 6460/2563

"ศรชล.ภาค 3 ออกคำสั่งจัดตั้งหน่วยเฉพาะกิจควบคุมเรือสำราญและกีฬา (เรือยอชท์) ที่เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรด้านฝั่งทะเลอันดามันเพื่อการท่องเที่ยว จังหวัดภูเก็ต ศรชล.ภาค 3 (นก.ครภก.ศรชล.ภาค 3) เมื่อวันที่ 25 พ.ย.63 มีหน้าที่ควบคุมกำกับดูแลด้านการรักษาความปลอดภัย ความสงบเรียบร้อยและความมั่นคง เมื่อเรือยอชท์เดินทางมาถึงภูเก็ต”

“โดยมีดำเนินการวางกำลังในการควบคุมกำกับดูแลลูกเรือและเรือยอชท์, ควบคุมลูกเรือและเรือยอร์ชเข้าจอดเรือและออกเรือให้อยู่ในพื้นที่จอดเรือตามที่กำหนด, ควบคุมการผ่าน เข้า - ออก ของบุคคลและเรือในพื้นที่จอดเรือ ห้ามบุคคลและเรือที่ไม่ได้รับอนุญาตเข้า - ออก พื้นที่จอดเรือ, ให้ความช่วยเหลือลูกเรือและเรือยอชท์ในกรณีจำเป็นหรือฉุกเฉิน, ประสานการปฏิบัติกับกำลังจากหน่วยราชการอื่นในพื้นที่ จังหวัดภูเก็ต เพื่อสนับสนุนภารกิจการควบคุมและช่วยเหลือเรือยอชท์, ปฏิบัติกิจอื่น ๆ ตามที่หมวดเรือเฉพาะกิจ เรือศรชล.ภาค 3 สั่งการ" พลเรือโท เชิงชาย กล่าว

ทางด้าน พลเรือ ตรีสุชาติ กล่าวว่า ศรชล.ภาค 3 กำกับและอำนวยการส่วนราชการต่าง ๆ ในการควบคุมการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผู้อำนวยการศรชล.

"ศรชล.ภาค 3 จัดตั้งหมู่เรือรักษาความปลอดภัยเรือยอชท์ที่เข้ามาในพื้นที่ ได้วางกำลัง จัดหมู่เรือรวม 3 ชุด ประกอบด้วย ชุดที่ 1.ชุดปฏิบัติการพิเศษทัพเรือภาคที่ 3 ชุดที่ 2 และ 3 เป็นเรือจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่บูรณาการร่วมกัน ประกอบด้วย เรือตำรวจน้ำ เรือกรมเจ้าท่า เรือกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เรือสปีดโบ๊ทจากอำเภอถลาง โดยเรือทั้งสามลำที่เข้ามาลูกเรือซึ่งเป็นผู้ขับเรือเป็นชาวต่างประเทศทั้งหมด ลำละ 1 คน ไม่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาด้วย" พลเรือตรีสุชาติ กล่าว

โดยในวันนี้( 27 พ.ย.) ได้มีเรือยอชท์จากต่างประเทศเดินทางเข้ามายังน่านน้ำจังหวัดภูเก็ต 3 ลำ ประกอบด้วย เรือ Crabby เรือสัญชาติ ออสเตรีย ลอยลำอยู่ในน่านน้ำประเทศไทย ขอเข้าจอดในพื้นที่กำหนดที่จังหวัดภูเก็ต โดย Mr.Walter Felber สัญชาติ ออสเตรีย เป็นผู้แจ้งนำเรือเข้า, เรือ Investigator 2 สัญชาติ มาเลเซีย ลอยลำอยู่ในน่านน้ำประเทศไทย ขอเข้าจอดในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตกำหนด โดย Mr.Hubert Ehfbank สัญชาติ ออสเตรีย เป็นผู้แจ้งนำเรือเข้า และเรือ Cayenne สัญชาติ มาเลเซีย มาจากท่าเรือในประเทศมาเลเซีย ขอเข้าจอดในจังหวัดภูเก็ตในพื้นที่กำหนด โดย Mr.Graham John Bennett สัญชาติ บริติช เป็นผู้แจ้งนำเรือเข้า พร้อมด้วยกัปตันเรือ ลำละ 1 คน และผู้ช่วยกัปตันอีก 1 คน รวมเป็น 4 คน โดยเรือทั้ง 3 ลำนี้เป็นเรือที่ได้แจ้งความประสงค์จะเข้าน่านน้ำภูเก็ตเป็นเวลานานแล้ว

และในวันที่ 28 พ.ย.นี้ มีเรือขอแจ้งเข้ามาอีกไม่เกิน 10 ลำ ทุกลำที่เข้ามาต้องปฏิบัติตามมาตรการที่กำหนดเพื่อควบคุมป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิด-19

 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่