ภูเก็ตวางฐานลงเกาะตัวอ่อนปะการัง 3D Printing ณ อ่าวสยาม เกาะราชาใหญ่

ภูเก็ต - กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับ SCG โดย CPAC Green Solution ดำเนินการจัดวางวัสดุฐานลงเกาะตัวอ่อนปะการัง 3D Printing จำนวน 88 ชุด ในบริเวณแนวปะการังที่เสื่อมโทรมพื้นที่อ่าวสยาม เกาะราชาใหญ่ จังหวัดภูเก็ต

ข่าวภูเก็ตประชาสัมพันธ์หน่วยงานรัฐ

วันพุธ ที่ 22 พฤศจิกายน 2566, เวลา 10:00 น.

ซึ่งได้รับมอบวัสดุฐานลงเกาะตัวอ่อนปะการังจาก บริษัทไทยยูเนี่ยนกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ภายใต้โครงการรักษ์ทะเล โดยมี มีนายวีระพันธุ์ ทองมาก ผู้อำนวยการส่วนฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเล กองอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล, นายไพทูล แพนชัยภูมิ ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์และกำหนดมาตรการจัดการทรัพยากรทางทะเล กองอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล, นายอดัม เบรนนัน ผู้อำนวยการกลุ่มด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน บริษัทไทยยูเนี่ยนกรุ๊ป จำกัด (มหาชน), นายสุขธวัช พัทธวรากร ผู้อำนวยการทรัพยากรธรรมชาติและพันธกิจสังคม เอสซีจี ตลอดจนอาสาสมัครนักดำน้ำ ผู้ประกอบการในพื้นที่เกาะราชาใหญ่ นักดำน้ำอาสาสมัครชาวต่างชาติในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตเข้าร่วม

นายไพทูล กล่าวว่า พื้นที่แนวปะการังเกาะราชาใหญ่ อ่าวสยามจังหวัดภูเก็ต มีประมาณ 50 ไร่ จากการสำรวจสภาพโดยทั่วไปในหลายพื้นที่ส่วนใหญ่พบว่ามีสภาพเสื่อมโทรมบางบริเวณเสียหายสูญเสียพื้นที่อย่างถาวร เหลือแต่พื้นทราย ซึ่งมาจากหลายสาเหตุ ทั้งกิจกรรมท่องเที่ยวดำน้ำ การทิ้งสมอเรือ และการฟอกของปะการังตามธรรมชาติ และสามารถฟื้นตัวเองได้ยาก เนื่องจากมีปัจจัยอย่างที่มีผลกระทบต่อการลงเกาะของตัวอ่อน

นายไพทูลกล่าวต่อว่า การเจริญเติบโตของปะการัง การเพิ่มขึ้นของตะกอน กิจกรรมการท่องเที่ยวในพื้นที่ที่มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นทำให้รบกวนการฟื้นตัวของปะการัง โดยเฉพาะพื้นที่แห่งนี้เดิมที่ปะการังเขากวางหรือปะการังที่มีความเปราะบางแทรกปนอยู่กับปะการังโขด พบว่าเมื่อปะการังเหล่านี้ตายก็จะเหลือซากที่เป็นหินปูนและนานวันเข้าก็จะผุกร่อนหักยุบตัวลงเป็นเศษชิ้นส่วนเล็ก โดยปกติซากปะการังเหล่านี้ก็จะเป็นฐานสำหรับให้ตัวอ่อนปะการังที่มีอยู่ตามธรรมชาติลงเกาะและเจริญเติบโตต่อไปได้และต้องใช้ระยะเวลาหลายปี ในช่วงที่ยังไม่มีตัวอ่อนลงเกาะหรือเคลือบซากเมื่อมีคลื่นก็จะถูกคลื่นซัดขึ้นบนฝั่งหรือออกไปนอกแนวปะการังในที่น้ำลึก ทำให้เป็นพื้นที่ที่มีเศษปะการังกลายเป็นพื้นทราย และไม่เหมาะกับที่ตัวอ่อนปะการังลงเกาะ และพื้นที่เกาะราชาใหญ่โดยเฉพาะอ่าวต่าง ๆ รวมถึงอ่าวสยามเป็นจุดสอนดำน้ำที่มีนักท่องเที่ยวลงแต่ละวันเป็นจำนวนมาก พื้นที่เหล่านี้จึงถูกรบกวนอยู่ตลอดเวลาเมื่อมีตัวอ่อนไม่สามารถลงเกาะและเติบโตได้ จึงจำเป็นต้องปรับพื้นท้องทะเลหรือพื้นทรายที่แทรกอยู่ระหว่างแนวปะการังให้เหมาะสมกับการลงเกาะของตัวอ่อน

“ที่ผ่านมากรม ทช. ได้ดำเนินการฟื้นฟูปะการังทั้งการปลูกปะการังและการจัดวางฐานลงเกาะรูปแบบต่าง ๆ เช่น รูปโดม สี่เหลี่ยม หรือการวางอิฐบลอกในพื้นที่ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ อย่างไรก็ตามเนื่องจากพื้นที่เกาะราชาเป็นแหล่งท่องเที่ยว ทำให้วัสดุที่วางลงไปมีสภาพไม่สวยงามอยู่กับแนวปะการัง จึงได้คิดค้นหาวิธีการที่จะหาวัสดุที่มีสภาพกลมกลืน สวยงามหรือใกล้เคียงกับแนวปะการังธรรมชาติมาจัดวาง จึงเป็นที่มาของการพัฒนาวัสดุฐานลงเกาะตัวอ่อนปะการัง โดยกองอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล ร่วมกับ SCG CPAC Green Solution และคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จนได้วัสดุคอนกรีตที่ใช้เทคโนโลยี 3D Printing ซึ่งออกแบบจำลองรูปทรงของปะการังธรรมชาติชนิดต่าง ๆ มีความแข็งแรง คงทน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมทางทะเล มีความซับซ้อนเป็นที่อยู่ของสัตว์น้ำได้ด้วย และที่สำคัญมีน้ำหนักไม่มาก สามารถติดตั้งขนย้ายได้สะดวก นักดำน้ำสามารถคลื่อนย้ายได้ใต้น้ำเพื่อประหยัดงบประมาณและเป็นการสร้างการมีส่วนร่วมของนักดำน้ำมาช่วยจัดวาง เป็นไปตามแนวทางของกรมฯ ที่เน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน”

สำหรับกิจกรรมในครั้งนี้ บริษัทไทยยูเนี่ยนกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ได้ให้การสนับสนุนงบประมาณดำเนินการ ซึ่งในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตบริษัทฯ จะสนับสนุนดำเนินการต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 3 ปี จากปีนี้เป็นต้นไป หลังการจัดวางในครั้งนี้คาดว่าจะใช้ระยะเวลา 1 ปี ปะการังจึงจะเริ่มลงเกาะ และหลังการจัดวางครั้งนี้จะมีกิจกรรมของกรมฯ ต่อเนื่อง โดยนักดำน้ำอาสาสมัครในพื้นที่จะเก็บเศษชิ้นส่วนปะการังที่แตกหักอยู่ตามพื้นที่และยังมีชีวิตอยู่ไปติดบนฐาน เรียกว่าเป็นการปลูกปะการัง จะช่วยให้ฐานเหล่านี้มีปะการังลงเกาะและจะปกคลุมวัสดุได้เร็วขึ้น โดยจะมีการติดตามเป็นระยะ ๆ ต่อไป

นอกจากนี้ กรม ทช. จะส่งเสริมให้ผู้ประกอบการร้านดำน้ำในพื้นที่ซึ่งมีนักดำน้ำที่ผ่านการฝึกอบรมของกรม ทช. สามารถจัดกิจกรรมนำนักท่องเที่ยวมาปลูกปะการังในพื้นที่โดยอยู่ภายใต้การกำกับของเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายต่อไป

 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่