ม.ราชภัฏภูเก็ต “มัดสีเติมฝัน” นำโคลนทะเล สร้างสรรค์ผ้ามัดย้อม

ชุมชน – เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา (17-18 ตุลาคม) สาขาวิชาการพัฒนาชุมชน คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.ราชภัฏภูเก็ต จัดโครงการมัดสีเติมฝัน สร้างสรรค์ชุมชน ซึ่งเป็นกิจกรรมประกวดในโครงการ “ปั้นฝันเดอะบัณฑิต ปีที่ 5” โดยนักศึกษาสาขาวิชาการพัฒนาชุมชน ทีม “ปั้นฝันสีรุ้ง” สามารถผ่านเข้ารอบ 10 ทีมสุดท้าย โครงการพัฒนาชุมชนจากมหาวิทยาลัยที่ได้เข้าร่วมแข่งขันจากทั่วประเทศ

ข่าวภูเก็ต

วันจันทร์ ที่ 22 ตุลาคม 2561, เวลา 14:00 น.

ดร.ธีรกานต์ โพธิ์แก้ว อาจารย์ประจำสาขาวิชาการพัฒนาชุมชน (ผู้รับผิดชอบโครงการ) ปราชญ์ชาวบ้าน ผู้ประกอบการ และนักศึกษา ได้เข้าร่วมถ่ายทอดองค์ความรู้การผลิตผ้ามัดย้อมแก่ชาวบ้านในชุมชนเป้าหมาย 2 ชุมชน ณ หมู่บ้านสามช่องใต้ อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา และ หมู่บ้านหินลูกเดียว อ.ถลาง จ.ภูเก็ต

สำหรับการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ก็เพื่อแสดงพลังของเครือข่ายความร่วมมือสร้างสรรค์ชุมชน โดยได้รับเกียรติจาก นายประกอบ วงศ์มณีรุ่ง รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธาน ร่วมด้วย ผศ.ดร.หิรัญ ประสารการ อธิการบดี ม.ราชภัฏภูเก็ต ตลอดจน ผู้บริหาร บุคลากร และนักศึกษา เข้าร่วมกิจกรรมการเต้นออกกำลังกายประกอบเพลง มัดย้อมหยำ ณ วงเวียนภิรมย์รัตน์ พร้อมทีมงานสื่อมวลชนเข้าร่วมถ่ายทำรายการและมิวสิควีดีโอเพื่อประชาสัมพันธ์กิจกรรมการลงพื้นที่พัฒนาชุมชนของนักศึกษานำเสนอผ่านช่องดิจิตอลทีวีอีกด้วย

ดร.ธีรกานต์ กล่าวว่า “ปัจจุบันผ้ามัดย้อมได้รับความนิยมในวงกว้าง สาขาวิชาการพัฒนาชุมชน จึงเล็งเห็นโอกาสในการสร้างสรรค์นวัตกรรมผ้ามัดย้อมที่สามารถใช้สีที่สกัดจากโคลนทะเล และวัตถุดิบธรรมชาติต่าง ๆ ในชุมชน ซึ่งสามารถออกแบบลวดลายและเฉดสีที่เป็นเอกลักษณ์ ไม่ซ้ำใคร ลดต้นทุนการผลิต และต่อยอดเป็นสินค้าชุมชนประเภทผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรม สร้างงานสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านในพื้นที่เป้าหมายฝั่งจังหวัดอันดามันตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง”

“มหาวิทยาลัยจึงได้จัดโครงการดังกล่าว ขับเคลื่อนด้วยแกนนำนักศึกษาสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ด้วยการต่อยอดภูมิปัญญาการมัดย้อมสีธรรมชาติและสร้างนวัตกรรมใหม่การมัดย้อมผ้าด้วยโคลนทะเล โดยมีการวางแผนการพัฒนาโครงการอย่างเป็นระบบ อีกทั้งบูรณาการการทำงานอย่างมีส่วนร่วมกับชุมชนในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่โดยใช้นวัตกรรม การพัฒนาการตลาดโดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ และการสร้างเครือข่ายชุมชนท้องถิ่นในเขตพื้นที่อันดามันเพื่อเป็นการเผยแพร่ผลงาน โดยสร้างการมีส่วนร่วมของเยาวชน สตรี และผู้สูงอายุในชุมชน ให้เกิดความพร้อมและพึ่งพาตนเองได้ อีกทั้งเป็น Social Lab ให้นักศึกษาได้ฝึกฝนทักษะการให้บริการชุมชนและองค์ความรู้ในการประกอบอาชีพในอนาคต” ดร.ธีรกานต์ กล่าว

 - งานประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่