มหากาพย์ไลฟ์การ์ดภูเก็ต

บทความ - “หนังไตรภาค” ก็ไม่ปาน สำหรับการดำเนินการแก้ปัญหาการจัดหาเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยนักท่องเที่ยวชายฝั่ง (Life Guard) เพื่อประจำชายหาดต่าง ๆ ในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต

จุฑารัตน์ เปลรินทร์

วันเสาร์ ที่ 31 มีนาคม 2561, เวลา 09:00 น.

แฟ้มภาพ The Phuket News

แฟ้มภาพ The Phuket News

เพราะหลังจากที่ยื้อยุด ฉุดกระชาก ผลักดัน กันมาตลอดระยะเวลาหลายเดือน จนถึงวันนี้ ความกระจ่างและรูปแบบการทำงานก็ยังไม่ชัดเจน และเรื่องนี้ก็ยังคงเป็นปัญหาคลางแคลงใจชาวภูเก็ตและนักท่องเที่ยวหลายคนอยู่เรื่อยมา

ซึ่งที่ผ่านมา ทางจังหวัดโดยท่านผู้ว่าราชการจังหวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็ได้พยายามทำงานกันมาโดยตลอด “อย่างดีที่สุด” เพื่อเป้าหมายการสร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยวจำนวนนับล้าน ที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวบนเกาะสวรรค์ไข่มุกอันดามันแห่งนี้ไม่เว้นแต่ละวัน

หากว่ารูปแบบของการรักษาความปลอดภัยนักท่องเที่ยวชายฝั่ง ยังไม่ชัดเจนเช่นนี้แล้วละก็ มันอาจจะยิ่งสร้างความสะเทือนใจและหวาดหวั่นให้กับนักท่องเที่ยว ที่ต้องการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในฤดูมรสุมที่กำลังจะมาถึงในไม่ช้านี้ ที่ผ่านมาชายหาดของภูเก็ตมีเจ้าหน้าที่ดูแลความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวอยู่เสมอ มากบ้างน้อยบ้างตามอัตราสัญญาที่ตกลงกันระหว่างผู้ว่าจ้างกับผู้รับจ้าง แต่อย่างน้อย ก็ยังมีพนักงานปฏิบัติหน้าที่อยู่บนชายหาด ทำให้ผู้คนมั่นใจได้ว่ามีเจ้าหน้าที่คอยตรวจสอบเส้นทางของคลื่นอันตราย (ช่วงฤดูมรสุม) และคอยให้สัญญาณตักเตือนในบริเวณห้ามเล่นน้ำ และแม้แต่ช่วยชีวิตนักท่องเที่ยวที่อาจจะฝ่าฝืนคำสั่งหรือสัญลักษณ์ธงแดง (ห้ามเล่นน้ำ) ลงไปในทะเล

เข้าใจว่าทะเลในช่วงยังคงสงบเงียบและ “น่ารัก” อยู่ เพราะชายหาดส่วนใหญ่ก็ไม่ได้มีคลื่นที่ใหญ่โตหรือน่ากลัวมากนัก น้ำทะเลสีฟ้าใสที่เมื่อกระทบกับแสงแดดแล้วยิ่งงดงามต่อสายตาและหัวใจ จนอาจจะทำให้นักท่องเที่ยวผู้รักในการว่ายน้ำและสัมผัสท้องทะเลอันดามัน ที่มีความงามระดับโลกลืมเรื่องไลฟ์การ์ดไปบ้าง แต่เมื่อวันที่ฤดูมรสุมมาถึง วันที่ท้องฟ้ากลายเป็นสีเทา และน้ำทะเลเปลี่ยนเป็นคลื่นใหญ่ ในวันนั้น “มาตรการความปลอดภัยทางทะเล” ของภูเก็ตจะเป็นอย่างไร

 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่