รฟม.เผย “รถไฟรางเบาภูเก็ต” เริ่มก่อสร้าง 63 ให้บริการ 66

ภูเก็ต – ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาโครงการรถไฟฟ้า การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ รฟม.อยู่ระหว่างศึกษาเพื่อจัดทำรายงานตาม พ.ร.บ. การให้เอกชนร่วมลงทุน คาดว่าจะสามารถเริ่มงานก่อสร้างได้ในปี พ.ศ.2563 และจะเปิดให้บริการได้ในปี พ.ศ.2566

จุฑารัตน์ เปลรินทร์

วันพุธ ที่ 19 กันยายน 2561, เวลา 16:46 น.

นายกาจผจญ อุดมธรรมภักดี ผอ.ฝ่ายพัฒนาโครงการรถไฟฟ้า รฟม.

นายกาจผจญ อุดมธรรมภักดี ผอ.ฝ่ายพัฒนาโครงการรถไฟฟ้า รฟม.

นายกาจผจญ อุดมธรรมภักดี ผอ.ฝ่ายพัฒนาโครงการรถไฟฟ้า รฟม. ได้กล่าวถึงความคืบหน้าโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต ระบบรถไฟฟ้ารางเบา ในโครงการผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตพบสื่อมวลชน ที่จัดขึ้นวานนี้ (18 ก.ย.) ณ ศาลากลางจังหวัดภูเก็ต โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานการแถลงข่าว

นายกาจผจญ กล่าวว่า กระทรวงคมนาคม ได้มีการมอบหมายให้ รฟม. เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินงานโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต (รถไฟฟ้ารางเบา) หลังจากที่ ครม.อนุมัติให้ รฟม.เป็นผู้ดำเนินโครงการเมื่อวันที่ 11 ก.ย. ที่ผ่านมา เพื่อพัฒนาระบบขนส่งมวลชนของจังหวัดภูเก็ตให้มีมาตรฐานและมีประสิทธิภาพ รองรับการขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว อำนวยความสะดวกในการเดินทางให้กับประชาชนและนักท่องเที่ยว รวมทั้งเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาการจราจรของจังหวัด

กำหนดดำเนินโครงการแบ่งเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ช่วงท่าอากาศยานนานาชาติจังหวัดภูเก็ต ห้าแยกฉลอง ระยะทาง 42.0 กม. และระยะที่ 2 ส่วนต่อขยายจากจุดตัดทางหลวง 402 และ 4026 เพื่อเชื่อมต่อกับระบบรถไฟสถานีรถไฟท่านุ่น ระยะทาง 16.5 กม. ซึ่งทั้งโครงข่ายมีจำนวนทั้งสิ้น 24 สถานี ในช่วงท่าอากาศยานนานาชาติจังหวัดภูเก็ต - ห้าแยกฉลอง มี 21 สถานี แบ่งเป็น สถานีระดับพื้นดิน 19 สถานี, สถานียกระดับ 1 สถานี และสถานีใต้ดิน 1 สถานี (อ่านเพิ่มเติม คลิก)

“ขณะนี้ อยู่ระหว่างศึกษาเพื่อจัดทำรายงานตามพ.ร.บ. การให้เอกชนร่วมลงทุน โดย รฟม.ได้จ้างที่ปรึกษาเพื่อศึกษารูปแบบการเปิดให้เอกชนร่วมทุน (PPP) คาดว่าจะสามารถสรุปการศึกษาได้ในเดือนตุลาคมนี้ และเสนอบอร์ด รฟม.เพื่อเสนอคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (บอร์ด PPP) ต่อไป มีภาคเอกชนภูเก็ตพัฒนาให้ความสนใจที่จะร่วมลงทุน ซึ่งเบื้องต้นจะใช้รูปแบบ PPP Net Cost เพื่อลดภาระการลงทุนภาครัฐ” นายกาจผจญ อธิบาย

“สำหรับประเด็นสำคัญเรื่องรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ในต้นเดือนตุลาคมนี้จะได้มีการหารือร่วมกันเพื่อหาข้อสรุปการใช้พื้นที่เขตทางของทางหลวงหมายเลข 402คาดว่าภายในเดือน ต.ค. หรือ พ.ย. นี้จะได้ข้อยุติ อย่างอื่นไม่น่ามีปัญหาอะไร จากนั้นจะสามารถนำเสนอ ครม.ต้นปีหน้า หลังจากนั้นหากได้รับความเห็นชอบจาก ครม. ก็จะได้ใช้เวลาในการคัดเลือกตัวผู้ร่วมลงทุน ซึ่งคาดว่าจะสามารถเริ่มงานก่อสร้างได้ในปี พ.ศ.2563 และตามแผนจะเปิดให้บริการได้ในปี พ.ศ.2566” นายกาจผจญ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ผอ.ฝ่ายพัฒนาโครงการรถไฟฟ้ารฟม. ระบุว่า ก่อนเริ่มดำเนินโครงการจะมีการประชุมจัดการ บริหารให้ดีที่สุด เพื่อลดปัยหาความหนาแน่นการจราจรให้เกิดขึ้นน้อยที่สุด

"เราคงเลี่ยงไม่ได้ที่จะได้รับผลกระทบบ้าง แต่ก่อนที่จะมีการก่อสร้างทางเราจะได้หารือกับจังหวัดเพื่อการจัดการและบริหารโครงการให้มีผลกระทบน้อยที่สุด"

 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่