วังวนอันตราย: ฟาร์มเพาะสุนัข แหล่งแพร่เชื้อพิษสุนัขบ้า

สัตว์เลี้ยง - กระแสความหวาดกลัวโรคพิษสุนัขบ้าที่แผ่ขยายวงอย่างกว้างขวางไปทั่วประเทศเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ดูเหมือนจะแผ่วลงจนถูกลืมเลือนไปเสียแล้ว แม้ว่ามันจะคร่าชีวิตคนไปถึง 14 ชีวิต พร้อมด้วยสุนัขที่โดนฆ่าด้วยการวางยาพิษหลายสิบตัว และในเวลาต่อมาก็มีสุนัขล้มตายอีกนับพันตัว หลังจากถูกนำไปขังยังด่านกักกันสัตว์ที่จังหวัดนครพนมเพื่อควบคุมโรค

มูลนิธิเพื่อสุนัขในซอย

วันศุกร์ ที่ 3 สิงหาคม 2561, เวลา 09:19 น.

ภาพ มูลนิธิเพื่อสุนัขในซอย (Soi Dog Foundation)

ภาพ มูลนิธิเพื่อสุนัขในซอย (Soi Dog Foundation)

แม้ว่าสถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าจะผ่านพ้นไปหลายเดือนแล้ว แต่ก็ยังไม่มีวี่แววว่าภาครัฐจะมีมาตรการควบคุมโรคร้ายแรงนี้แต่อย่างใด โดยเฉพาะตามแหล่งแพร่เชื้อแหล่งใหญ่อย่างฟาร์มเพาะสุนัขที่ส่งลูกสุนัขไปขายยังตลาดนัดและร้านสัตว์เลี้ยงในพื้นที่ต่างๆ

จริงอยู่ที่ฟาร์มเพาะสุนัขรวมถึงผู้เพาะพันธุ์สุนัขรายย่อยจำนวนไม่น้อยนั้นเพาะพันธุ์ลูกสุนัขอย่างมีจริยธรรมและมีความรับผิดชอบ โดยดูแลเหล่าลูกสุนัขเป็นอย่างดี แต่ก็ยังมีผู้เพาะพันธุ์สุนัขหลายรายที่มองสุนัขเป็นเพียงสินค้า ที่จะต้องลงทุนให้ต่ำที่สุดเพื่อให้ได้กำไรสูงสุด และลูกสุนัข จากแหล่งเพาะพันธุ์ที่ขาดจริยธรรมจรรยาบรรณเช่นนี้ก็มีอยู่เกลื่อนกลาดตามร้านขายสัตว์เลี้ยงและตลาดนัดต่างๆ ทั่วประเทศ และหากลูกสุนัขเหล่านี้ขายไม่ออกในเวลาที่กำหนด พ่อค้าแม่ค้าก็จะนำพวกมันไปทิ้ง

“ในฟาร์มเพาะสุนัขนั้นจะมีแม่พันธุ์สุนัขอยู่หลายตัว ซึ่งแม่พันธุ์เหล่านี้จะต้องตั้งท้องซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนถึงอายุที่ไม่สามารถผลิตลูกสุนัขได้อีก จากนั้นก็จะถูกฆ่าหรือเอาไปทิ้ง” นายจอห์น ดัลลีย์ ผู้ก่อตั้งมูลนิธิเพื่อสุนัขในซอย (Soi Dog Foundation) กล่าว

“ส่วนลูกสุนัขที่ขายไม่ออกนั้น จะไม่มีทางได้กลับมาฟาร์มอีก เพราะแม่พันธุ์ก็จะเริ่มตั้งท้องครอกใหม่และจะไม่ เหลียวแลลูกสุนัขครอกนี้แล้ว ถ้าเอาหลักการค้าที่เน้นลงทุนต่ำ-กำไรสูงมาใช้กับการเพาะพันธุ์สุนัข การนำสุนัขที่ขายไม่ออกกลับมายังฟาร์มมีแต่จะเพิ่มค่าใช้จ่าย เพราะแม่พันธุ์จะไม่ยอมให้นมลูกสุนัขครอกนี้แล้ว และจำเป็นจะต้องซื้ออาหารมาทดแทนให้ การนำไปทิ้งจึงเป็นเรื่องที่ง่ายกว่า”

นายจอห์นกล่าวว่า มีกรณีลูกสุนัขพิการตั้งแต่แรกเกิดหลายครอกที่ถูกทิ้ง และมูลนิธิฯ ได้นำมาดูแล ซึ่งตัวเขาเองเชื่อว่าลูกสุนัขเหล่านี้ส่วนใหญ่ก็คือ ‘สินค้า’ จากโรงงานผลิตลูกสุนัขนั่นเอง

“ลูกสุนัขหลายๆ ตัวเกิดมาพิการ เพราะผู้เพาะพันธุ์ ไม่สนใจที่จะควบคุมการผสมพันธุ์จนทำให้เกิดการผสมพันธุ์ระหว่างสายเลือดเดียวกันซึ่งส่งผลให้เกิดความผิดปกติทางพันธุกรรม
ลูกสุนัขที่เกิดมาพิการก็จะถูกทิ้ง เพราะไม่มีค่าไม่มีราคาสำหรับเขาแล้ว”

นอกจากนี้ ยังพบว่าสุนัขพันธุ์ส่วนใหญ่นั้นมีโรคที่เกิดจากการผสมระหว่างสายเลือดเดียวกัน สุนัขพันธุ์ที่ได้รับความนิยมมากในหมู่คนไทยอย่าง ชิสุ เฟรนช์บูลด็อก และปั๊ก นั้นมีความเสี่ยงที่จะมีปัญหาเรื่องการหายใจ และโรคเกี่ยวกับตาค่อนข้างมาก เมื่อสุนัขที่เคยน่ารักเหล่านี้เริ่มไม่สบาย และมีค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลสูง เจ้าของบางคนก็ตัดปัญหาด้วยการทอดทิ้ง

นายจอห์นกล่าวว่า ในกรณีที่ลูกสุนัขในท้องตลาดไม่แข็งแรงและตายหลังจากที่ถูกซื้อไปแล้ว เจ้าของก็มีแนวโน้มที่จะกลับมาซื้อตัวใหม่ไปแทนที่ ซึ่งเป็นประโยชน์สองต่อสำหรับผู้ค้า

นอกจากกรณีที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ยังมีสุนัขอีกจำนวนหนึ่งที่แข็งแรงดี แต่ถูกทอดทิ้งอยู่ตามวัด ซึ่งก็มาจากเจ้าของที่ซื้อสุนัขไปเลี้ยงโดยไม่คำนึงถึงความรับผิดชอบและสิ่งที่จะตามมา เช่น ลูกสุนัขอาจฉี่ใส่พรม หรือ โซฟา หรือกัดทำลายรองเท้าราคาแพงๆ เจ้าของสุนัขเหล่านี้ไม่เข้าใจวิธีการฝึกสุนัข และสุดท้ายก็ตัดสินใจที่จะทอดทิ้งพวกมันไป

สำหรับคนรักสุนัขแล้ว ทั้งหมดนี้คงฟังดูน่าหดหู่ แต่สำหรับคนอื่นๆ ทั่วๆ ไป ก็อาจจะมีคำถามในใจว่า แล้วยังไง? เรื่องนี้เกี่ยวอะไรกับชีวิตของเรา?

คำตอบก็คือ เรื่องฟาร์มเพาะสุนัขนี้ยังมีอีกแง่มุม ซึ่งเป็นแง่มุมที่เกี่ยวกับโรคพิษสุนัขบ้า

โดยปกติแล้ว ลูกสุนัขจะต้องมีอายุ 12 สัปดาห์ (3 เดือน) หรือมากกว่านั้นเพื่อรับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า แต่ลูกสุนัขที่ขายอยู่ตามตลาดหรือร้านขายสัตว์เลี้ยงนั้น ยังมีอายุน้อยกว่าที่กำหนดมาก หลายตัวอายุเพียง 4 สัปดาห์ (1 เดือน) เท่านั้น เพราะลูกสุนัขที่อายุน้อยเช่นนี้มีความน่ารักและขายง่าย แม้ว่าพวกมันจะยังเล็กเกินไป และยังไม่ได้รับวัคซีนก็ตาม

“ลูกสุนัขในวัยเด็กมากเช่นนี้ถูกหมุนเวียนขายอยู่ทั่วประเทศนับพันๆ ตัวทุกๆ เดือน” นายจอห์นกล่าว

“อย่างที่รู้ว่าฟาร์มเพาะสุนัขจำนวนมากนั้นคำนึงถึงผลกำไรเป็นหลัก เพราะฉะนั้น มีความเป็นไปได้ว่าผู้เพาะพันธุ์จะไม่ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้กับแม่พันธุ์เพื่อประหยัดต้นทุน และลูกสุนัขจากครอกนั้นๆ ก็มีสิทธิ์ที่จะติดโรคจากแม่สุนัขตั้งแต่แรกคลอด”

“โรคพิษสุนัขบ้าเป็นโรคติดต่อร้ายแรงที่มีอยู่ทั่วประเทศไทย ยกเว้นจังหวัดภูเก็ต ในขณะที่บางพื้นที่ของประเทศถูกกำหนดเป็นพื้นที่สีแดง ลองจินตนาการดูว่าจะเป็นอย่างไรหากลูกสุนัขที่เพาะในฟาร์มใกล้พื้นที่เสี่ยงถูกนำมาขายในตลาดใกล้ๆ บ้านเรา”

“หลายคนยังไม่รู้ว่าจริงๆ แล้ว คนส่วนใหญ่ไม่ได้ติดเชื้อพิษสุนัขบ้าจากสุนัขที่มีอาการน้ำลายฟูมปากหรือดุร้ายไล่กัดคนแต่อย่างใด แต่กลับติดเชื้อจากการถูกสัตว์เลี้ยงของตนเองกัด ข่วน หรือเลียบนแผลเปิด ซึ่งเป็นการแพร่ไวรัสโดยตรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากลูกสุนัขเล็กๆ ที่กำลังซน เช่นลูกสุนัขพันธุ์ที่ซื้อมาจากร้านหรือตลาดและยังไม่ได้ฉีดวัคซีน เพราะลูกสุนัขเหล่านี้มีฟันที่ยังบางและแหลมคม”

กรณีเช่นนี้ เป็นข่าวดังเมื่อประมาณ 8 ปีที่แล้ว (อ่านข่าวเพิ่มเติม https://news.mthai.com/general-news/68321.html) เมื่อเจ้าของร้านสัตว์เลี้ยง ‘เทคแคร์ เพ็ท ช็อป’ ในตลาดนัดจตุจักรเสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าหลังจากถูกสุนัขที่ตนเองเลี้ยงขายกัด จนกรุงเทพมหานคร (กทม.) ต้องออกประกาศเตือนประชาชนที่ซื้อสุนัขจากร้านดังกล่าวให้เฝ้าระวัง

“จากกระแสความตื่นตระหนกเรื่องโรคพิษสุนัขบ้าระบาดเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ทำให้ผมแปลกใจที่รัฐบาลยังไม่มีมาตรการใดๆ ในการควบคุมการค้าลูกสุนัขเพาะพันธุ์จากฟาร์ม”

โดยนายจอห์นได้กล่าวเปรียบเทียบสถานการณ์โรคระบาดในสัตว์ปีกที่รัฐบาลไทยสามารถควบคุมสถานการณ์ได้เป็นอย่างดี จึงน่าจะสามารถควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าได้เช่นกัน

“รัฐบาลสามารถควบคุมสถานการณ์ได้เมื่อครั้งที่โรคหวัดนก H5N1 ระบาดในไทยช่วงปีพ.ศ. 2547 - 2549”

รัฐบาลสามารถควบคุมสถานการณ์โรคหวัดนกได้อย่างมีประสิทธิภาพ แม้ว่าจะมีผู้เสียชีวิต 7 รายในขณะนั้น แต่ตัวเลขจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ก็ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่าประเทศไทยไม่มีผู้เสียชีวิตอีกหลังจากนั้น

“การที่ลูกสุนัขเหล่านี้ถูกส่งจากพื้นที่โรคระบาดไปยังพื้นที่ปลอดโรคได้อย่างถูกกฎหมายเป็นเรื่องที่น่ากลัวมาก ประเทศไทยยังไม่มีกฎระเบียบข้อบังคับใดๆ ที่จะควบคุมฟาร์มเพาะสุนัข ซึ่งเป็นแหล่งแพร่เชื้อพิษสุนัขบ้าในหมู่ลูกสุนัข และเพิ่มปัญหาสุนัขจรจัด”

“เราอยากเห็นรัฐบาลเข้มงวดกวดขันในการตรวจสอบสุนัขที่ถูกส่งมาทางเครื่องบินไปทั่วประเทศ โดยสุนัขทุกตัวจะต้องมีใบรับรองการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า และควรมอบอำนาจให้ตำรวจตามด่านตรวจในท้องที่ต่างๆ สามารถตรวจสอบหลักฐานการฉีดวัคซีนในกรณีที่ขนส่งสุนัขทางบก”

นายจอห์น ได้กล่าวทิ้งท้ายว่า “หากใครอยากเลี้ยงลูกสุนัข ที่มูลนิธิฯ มีลูกสุนัขจำนวนมากที่กำลังหาบ้านอยู่ และลูกสุนัขเหล่านี้ล้วนสุขภาพดี แข็งแรง และได้รับวัคซีนครบถ้วนทุกตัว ที่สำคัญยังไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้นอีกด้วย”

 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่