สส.ประชาชนติดตาม 3 ประเด็นพระใหญ่ ขยายพื้นที่เกินอนุญาต สภาพดินเสี่ยงถล่มสูง ระบบเตือนภัย

ภูเก็ต – สส.พรรคประชาชน ลงพื้นที่พระใหญ่บนเทือกเขานาคเกิด บริเวณที่คาดว่าน่าจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดดินถล่ม ซึ่งจากการลงพื้นที่วันนี้พบ 3 ประเด็นที่ต้องติดตามหาความกระจ่างต่อไป

ข่าวภูเก็ต

วันอังคาร ที่ 27 สิงหาคม 2567, เวลา 16:31 น.

วันนี้ (27 ส.ค. 67) นายเฉลิมพงศ์ แสงดี สส.จังหวัดภูเก็ต เขต 2 พรรคประชาชน เปิดเผยผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า ในช่วงเช้าของวันนี้ตนได้ร่วมลงพื้นที่พระใหญ่ ร่วมกับ สส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.แบบบัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคประชาชน พร้อมคณะ บนเทือกเขานาคเกิด บริเวณลานจอดรถที่เพิ่งสร้างใหม่ และคาดว่าเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดดินถล่ม ส่งผลให้ประชาชนที่อาศัยในซอยปฏัก 2 และปฏัก 8 ได้รับผลกระทบ ที่พักอาศัยพังทลายและมีผู้เสียชีวิต 13 ราย

ซึ่งจากการลงพื้นที่ในวันนี้ สส.เฉลิมพงศ์ ระบุว่าได้พบใน 3 ประเด็นที่น่าสนใจและต้องติดตามหาความกระจ่างต่อไป คือประเด็นที่ 1 พบว่ามีการขยายพื้นที่เกินกว่าที่ได้รับอนุญาต, ประเด็นที่ 2 บริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่ซึ่งมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดดินถล่ม และในประเด็นที่ 3 คือ ระบบเตือนภัย ซึ่งในขณะนี้มีเพียงการเตือนภัยสึนามิเท่านั้น

“เรื่องแรก พื้นที่นี้อยู่ในเขตป่าสงวน ซึ่งได้รับการผ่อนผัน ตามมติ ครม. 23 มิ.ย. 2563 แต่ก็พบว่ามีการขยายพื้นที่ก่อสร้างไปถึงกว่า 40 ไร่ เกินกว่าที่ได้รับอนุญาต เพียง 15 ไร่ นอกจากนี้ ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ในบริเวณพื้นที่จังหวัดภูเก็ต สามารถก่อสร้างบนพื้นที่ความสูงได้ไม่เกิน 80 เมตร ยกเว้นเพื่อสาธารณประโยชน์ เช่น เสาสัญญาณ แต่กรณีพระใหญ่และอาคารประกอบกลับได้รับยกเว้น ต้องตรวจสอบต่อไปว่าได้รับอนุญาตได้อย่างไร” นายเฉลิมพงศ์ กล่าว

“เรื่องที่ 2 พื้นที่ดังกล่าว เป็นพื้นที่ที่มีหินแกรนิตผุพัง และสภาพดินเป็นดินทรายและดินเหนียว มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดดินถล่ม ต้องตรวจสอบว่ามีการประเมินค่าความเสี่ยงสิ่งแวดล้อม หรือทำ ERA หรือไม่ (EAR หมายถึงส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐเจ้าของโครงการ กิจการ หรือการดำเนินงานนั้น ๆ ถือปฏิบัติให้เป็นไปตามรายงาน EAR อย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การดำเนินการเกี่ยวกับการป้องกันและลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ ให้หน่วยงานที่ทำหน้าที่อนุมัติ หรืออนุญาต)”

BAAN KRU JAY INTERNATIONAL KINDERGARTEN

“เรื่องที่ 3 เป็นเรื่องสำคัญและสามารถเกิดขึ้นได้เร็วที่สุด คือระบบเตือนภัย ซึ่งขณะนี้ในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตมีเฉพาะการเตือนภัยเหตุสึนามิ ไม่มีการเตือนภัย ภัยพิบัติอื่น ซึ่งเหตุการณ์ดินโคลนถล่มครั้งนี้หากมีระบบเตือนภัยเช่นเซนเซอร์แจ้งเตือนขณะที่มีการเคลื่อนตัวของหินแกรนิตขนาดใหญ่ พี่น้องประชาชนจะได้อพยพได้ทัน แต่เหตุการณ์ดินโคลนถล่มครั้งนี้ส่งให้มีผู้เสียชีวิตจำนวน 13 ราย ซึ่งส่วนใหญ่ล้วนนอนหลับอยู่ในบ้านขณะที่เกิดเหตุการณ์ดังกล่าว ซึ่งหากจังหวัดมีระบบแจ้งเตือนเชื่อว่าจะไม่มีผู้เสียชีวิตจากเหตุดังกล่าว”

นายเฉลิมพงศ์ กล่าวต่อไปอีกว่า จากการพูดคุยกับผู้อำนวยการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมจังหวัดภูเก็ต พบว่า หินแกรนิตจังหวัดภูเก็ตเริ่มมีความเสื่อมโทรม ทำให้แตกบวกกับชั้นดินเหนียวทำให้เกิดการสไลด์เคลื่อนตัวอย่างรวดเร็ว ข้อสังเกตนี้ต้องตรวจสอบกันต่อไปผ่านทำ EAR

“สิ่งที่ผมจะติดตามต่อไปคือพื้นที่ตรงนี้ เริ่มต้นจากสำนักพุทธเป็นผู้ขออนุญาตใช้พื้นที่กับกรมป่าไม้ เพื่อก่อสร้างองค์พระใหญ่จำนวน15 ไร่ ซึ่งขณะที่พื้นที่เทือกเขานากเกิดได้ขยายก่อสร้างลานจอดรถ และตัวอาคารเพิ่มเติมออกไป จึงต้องตรวจสอบว่ามีการอนุญาตถูกต้องหรือไม่” นายเฉลิมพงศ์ กล่าว

 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่