สัมผัสพม่า ศรัทธาแห่งศาสนา และมนตราแห่งประวัติศาสตร์

ท่องเที่ยว - หลังจากที่สหภาพเมียนมา หรือประเทศพม่าเป็นบ้านใกล้เรือนเคียงที่เพิ่งเปิดประเทศเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวจากทั่วโลกก็ได้เดินทางเข้าไปเยี่ยมชม ฉันก็เป็นหนึ่งในนั้นที่อยากเดินทางไปดูบ้านเมืองที่ยังสดใหม่ กล่าวคือยังไม่บอบช้ำมากจากการเยี่ยมเยือนของนักท่องเที่ยวและที่สำคัญคนไทยสามารถเดินทางเข้าประเทศได้โดยใช้วีซ่าท่องเที่ยวเป็นเวลา 14 วัน (สำหรับเดินทางโดยเครื่องบินเท่านั้น)

เปรมกมล เกษรา

วันอาทิตย์ ที่ 20 สิงหาคม 2560, เวลา 09:00 น.

การเดินทางครั้งนี้ฉันเดินทางไปกับเพื่อน ซึ่งเราวางแผนไว้ว่าจะเดินทางท่องเที่ยว 3 เมือง คือ ย่างกุ้ง มัณฑะเลย์ และพุกาม ภายในระยะเวลา 5 วัน และการเดินทางทั้งหมดนี้เราเดินทางกันแบบแบ็คแพ็ค ไม่มีไกด์ อาศัยทักษะการเอาชีวิตรอดเองล้วนๆ

ในวันแรก เมื่อถึงนครย่างกุ้ง เราต้องนั่งแท็กซี่เพื่อไปโรงแรม ซึ่งจะมีพี่ๆคนขับมาคอยห้อมล้อมเราที่ประตูทางออก ต้องตกลงกับคนขับให้แน่ชัดว่าค่าโดยสารราคาเท่าไหร่ ปกติแล้วไม่ควรเกิน 7,000-8,000 จ๊าด (ค่าเงิน 1,000 จ๊าด เท่ากับ 40 บาท) แต่ใช้บริการแท็กซี่ครั้งแรกก็เจอดีเลย เพราะคนขับบอกเราว่าราคา 15,000 แต่เราต่อรองลงมาได้เหลือ 12,000 ซึ่งยังถือว่าแพงพอสมควร แต่มันเป็นการเดินทางที่ใช้เวลากว่า 40 นาที เราจึงไม่ถือสาอะไรมาก

การเดินทางส่วนใหญ่ในพม่าส่วนใหญ่นั้นมีทั้งรถยนต์ส่วนตัว จักรยานยนต์ รถเมล์ และแท็กซี่ แต่สำหรับนักท่องเที่ยวอย่างเรานั้นแนะนำให้ใช้บริการแท็กซี่หรือเดินจะดีกว่า เพราะถ้าหากจะใช้บริการรถเมล์นั้นจะต้องศึกษาเส้นทางของรถสายต่างๆอย่างละเอียด มิฉะนั้นจะหลงทางเอาได้

โรงแรมของเราตั้งอยู่ไม่ไกลจากเจดีย์ชเวดากองนัก ใช้เวลาเพียงแค่ 30 นาทีในการเดินเท้า แต่สภาพแวดล้อมตลอดสองข้างทางนั้นเขียวขจีสวยงามแม้จะอยู่ในตัวเมือง จึงทำให้การเดินเท้าดำเนินไปอย่างน่าอภิรมย์

มหาเจดีย์เจดีย์ชเวดากองนั้นมีอายุยาวนานกว่า 2,500 ปี เชื่อกันว่าเป็นสถานที่ที่เก็บเกศธาตุของพระพุทธเจ้าเอาไว้จำนวน 8 เส้น ตัวสถูปเจดีย์นั้นประดับประดาไปด้วยเพชรนิลจินดาจำนวนมากถึง 4,531 เม็ด โดยเพชรเม็ดที่ใหญ่ที่สุดนั้นมีน้ำหนักถึง 72 กะรัต นับว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์และถือเป็นแหล่งรวมจิตใจของชาวพม่าทุกคน นับว่าแลนด์มาร์คเบอร์หนึ่งสำหรับนักท่องเที่ยวที่ได้ย่างเข้ามาในย่างกุ้ง รวมถึงชาวพม่าทุกๆคนด้วยที่ว่ากันว่า เกิดมาครั้งหนึ่งต้องเข้าไปกราบสักการะมหาเจดีย์อันศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้นี้สักครั้ง

เราต้องจ่ายค่าธรรมเนียมชาวต่างชาติในการเข้าชมคนละ 4,000 จ๊าด และต้องถอดรองเท้าตลอดการเดินชมเจดีย์ ซึ่งเราสองคนเดินสำรวจพระพุทธเจ้าทั้ง 4 ทิศและพระประจำวัน รวมถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์อื่นๆรอบมหาเจดีย์อย่างละเอียด จึงใช้เวลาในการเดินทั้งหมดประมาณ 4 ชั่วโมง

เดินทางท้องก็ร้องหาอาหาร เราแวะทานอาหารกลางวันกันระหว่างทางกลับโรงแรม อาหารพม่าส่วนใหญ่นั้นประกอบไปด้วยเครื่องเทศคล้ายแกงกะหรี่บ้านเรา นอกจากนี้อาหารแทบทุกมื้อจะเสิร์ฟน้ำพริกปลาร้าและผักสด พร้อมใบชาหมักและถั่วต่างๆและซุปปลาเป็นเครื่องเคียง แต่ถ้าหากใครที่ไม่ชินกับรสอาหารพม่า สามารถฝากท้องได้ตามร้านอาหารต่างประเทศต่างๆได้เช่นร้านอาหารจีนหรืออาหารยุโรปซึ่งมีให้เห็นมากมายในย่างกุ้ง

วันต่อมาเรามุ่งหน้าไปยังเจดีย์โบตาทาวที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำย่างกุ้ง เจดีย์โบตาตาวนั้นเชื่อกันว่าเป็นสถานที่ที่เก็บเกศธาตุของพระพุทธเจ้าเอาไว้ 1 เส้น รวมไปถึงทองคำอีกมากมาย ซึ่งภายในบริเวณเจดีย์แห่งนี้นั้นมีสีเหลืองอร่ามไปทั่วทุกมุม ทั้งนี้ ณ ศาลาข้างเจดีย์โบตาตาวยังมีนัตโบโบยี หรือที่รู้จักกันในหมู่คนไทยว่า “เทพทันใจ” ที่เป็นเทพคอยคุ้มครองเจดีย์โบตาตาวแห่งนี้

นัตโบโบยีได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวเป็นอย่างมากในเรื่องของการขอพรที่เชื่อกันว่าจะสมปรารถนาได้รวดเร็วทันใจ แต่ว่ากันว่า ขอพรได้เพียงแค่ 1 ข้อเท่านั้น โดยการสักการะเทพทันใจนั้นจะมีเจ้าหน้าที่ที่สามารถพูดไทยได้คอยดูแลเรื่องของสักการะด้านหน้าของศาลา ประกอบไปด้วยมะพร้าว กล้วยนาค ใบชนะ ผ้าคล้องคอ ร่มฉัตรกระดาษ ดอกไม้ต่างๆ โดยคุณต้องเตรียมธนบัตรจำนวนสองใบ พับเป็นกรวยและสอดไว้ในมือเทพทันใจ จากนั้นจึงขอพรอธิษฐานและนำธนบัตรกลับมา 1 ใบเพื่อเป็นเงินขวัญถุง

จากนั้นเราจึงเช็คเอาท์จากโรงแรมและเรียกแท็กซี่ไปยังที่สถานีขนส่ง เพราะเป้าหมายต่อไปของเราคือเมืองมัณฑะเลย์ ขอแนะนำว่าควรเช็คตารางโดยสารรถและกะระยะเวลาให้ดีเพราะจากตัวเมืองย่างกุ้งไปยังบขส.นั้นใช้เวลาเกือบชั่วโมงทีเดียว เราเลือกเดินทางด้วยรถทัวร์นอนปรับอากาศชั้น 1 ราคา 18,000 จ๊าดที่เดินทางในช่วงเวลากลางคืนเพื่อที่จะไปถึงจุดหมายยามเช้าตรู่

เมืองมัณฑะเลย์เป็นอดีตราชธานีของพม่าที่พระเจ้ามินดงทรงสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2400 (ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 4 ของไทย) และเป็นราชธานีแห่งสุดท้ายก่อนตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษในยุคแห่งการล่าอาณานิคมในแผ่นดินพระเจ้าธีบอและพระนางศุภยาลัตที่ทรงเข่นฆ่าเหล่าญาติมิตรของตัวเองมากมายทั้งเด็กเล็กไปจนถึงผู้สูงอายุอย่างเลือดเย็นเพื่อป้องกันการก่อกบฏ รวมไปถึงการโปรดฯให้ประหารข้าราชบริพารหลายชีวิต ข่าวคราวความระส่ำระสายของบ้านเมืองไปถึงหูของอังกฤษที่จ้องจะยึดครองกรุงรัตนะบุระอังวะอยู่แต่ก่อนแล้วจึงได้ยกกองทัพเข้ามาตามแม่น้ำอิระวดีและยึดพระราชวังได้ในท้ายที่สุด

พร้อมทั้งได้เนรเทศพระเจ้าธีบอ พระนางศุภยาลัตและผู้ติดตามอีกจำนวนหนึ่งไปยังอินเดียผ่านทางประตูผีซึ่งเป็นประตูสำหรับหามศพออกไป ปิดตำนานกรุงรัตนะบุระอังวะ หลงเหลือไว้เพียงความงามของพระราชวังแห่งสุดท้ายที่มีอายุเพียง 28 ปีของพม่า

ณ พระราชวังมัณฑะเลย์ มีนักท่องเที่ยวชาวพม่ามากกว่านักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ไม่เหมือนประเทศไทยที่พบคนต่างชาติมากกว่าคนไทยตามโบราณสถานต่างๆ ทุกคนดูแต่งกายสำรวม ชาวพม่ามีความเป็นมิตรมาก หากเราสบสายตากับพวกเขา จะได้รับรอยยิ้มทักทายกลับมาเสมอ หรือถ้าโชคดีหน่อยอาจจะได้รับคำทักทาย “มิงกาละบา” กลับมา ซึ่งแปลว่า “สวัสดี” ในภาษาพม่า นอกจากนี้ยังมีเด็กเล็กหลายคนที่วิ่งเข้ามาทักทายฉันด้วยคำว่า “Hello” ซึ่งทำให้ฉันประทับใจมาก

จากพระราชวัง เราเดินทางต่อไปยังตลาด..... ตลาดขนาดใหญ่ขายของสารพัดสิ่ง แต่สิ่งที่มัดใจฉันอยู่หมัดนั้นคือ “ผ้า” เพราะ ณ โซนหนึ่งของตลาดนั้นมีร้านรวงมากมายที่ขายผ้าชนิดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นผ้าไหม ผ้าฝ้าย ผ้าลูกไม้ และผ้าถุงที่มีลวดลายแตกต่างจากผ้าถุงบ้านเราอย่างชัดเจน

ฉันไม่รอช้า รีบเดินตรงปรี่เข้าไปเลือกผ้าทันทีได้ได้ติดมือมา 2 ผืนซึ่งราคาถูกกว่าบ้านเรามาก หากใครสนใจจะมาตลาด.... ก็วางแผนล่วงหน้าไว้ดีๆเนื่องจากตลาดปิดทุกวันจันทร์ ตลาดผ้าในพม่านั้นเป็นไปอย่างคึกคักเนื่องจากสาวๆพม่านั้นนิยมใส่ชุดแต่งกายแบบประเพณีซึ่งประกอบไปด้วยเสื้อและกระโปรงยาวคลุมเท้าที่มีลายผ้าเดียวกัน ดังนั้นสาวๆจึงเลือกลายผ้าที่สะท้อนถึงรสนิยมตัวเอง ฉันรู้สึกว่าสาวพม่านั้นมีเสน่ห์มาก เพราะไม่จำเป็นต้องแต่งกายนุ่งน้อยห่มน้อยเพื่อเรียกร้องความสนใจ เพียงใช้ศิลปะบนลายผ้าและทานาคาบนแก้มก็สะกดใจชายให้อยู่หมัดได้แล้ว

หลังจากเดินตลาด เราได้ปรึกษาพนักงานต้อนรับของโรงแรมถึงการจองตั๋วรถบัสไปยังเมืองพุกามในวันรุ่งขึ้นเพื่อยลโฉมทะเลเจดีย์ แต่เรามารู้ทีหลังว่าการเดินทางไปยังพุกามนั้นใช้เวลาถึง 5 ชั่วโมง ซึ่งถือว่ามากเกินไปสำหรับเรา อีกทั้งมีแนวโน้มว่าฝนจะตก เราจึงต้องยกเลิกแผนนั้นไปอย่างน่าเสียดาย หากใครวางแผนจะเดินทางไปยังพุกามจากมัณฑะเลย์ ขอให้คำนวณเวลาดีๆ

เมื่อแผนพุกามจำเป็นต้องยกเลิก วันรุ่งขึ้นเราจึงเดินทางไปเมืองอมรปุระ อดีตเมืองหลวงของพม่าก่อนที่จะย้ายมายังมัณฑะเลย์ เพื่อชมสะพานอูเบ็ง สะพานไม้สักที่มีความยาว 1.2 กิโลเมตร ที่สร้างด้วยไม้สักที่เหลือจากการรื้อพระราชวังเก่าสมัยกรุงอังวะเพื่อย้ายมายังอมรปุระ โดยสะพานแห่งนี้ทอดข้ามทะเลสาบตองตะมานไปยังเจดีย์เจ๊าตอว์กยี

เมื่อฉันไปถึงสะพานก็เป็นเวลาเย็นแล้ว อีกทั้งฝนกำลังตั้งเค้า จึงมีลมพัดรุนแรงแต่ก็ไม่ได้ทำให้เราท้อ เราเดินทอดสะพานไปเรื่อยเพื่อสัมผัสบรรยากาศ ชาวพม่าหลายคนมาพักผ่อนหน่อยใจที่นี่ รวมไปถึงคู่รักหนุ่มสาวชาวพม่าที่ต่างมาถ่ายภาพเก็บไว้เป็นที่ระลึก นอกจากนี้ยังมีร้านอาหารรอบๆสะพานที่ขายปูและกุ้งทอดตัวโตให้ได้ลิ้มลองกันอีกด้วย

ระยะเวลา 4 คืน 5 วันในพม่าของฉันได้หมดลงเพียงแค่นี้ แต่ความสวยงามของเจดีย์และสถาปัตยกรรมทางวัฒนธรรมและศาสนา มนต์เสน่ห์แห่งประวัติศาตร์ของบ้านใกล้เรือนเคียงของไทย รอยยิ้มและความเป็นมิตรของชาวพม่า เพื่อนบ้านของชาวไทยยังตราตรึงอยู่ในใจของฉัน หากมีโอกาสฉันจะกลับไปเยือนประเทศนี้อีกแน่นอน

 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่