หน้าร้อน – พิษสุนัขบ้า เรื่องจริงหรือคำร่ำลือ

เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา กรมอุตุฯได้ประกาศว่าประเทศไทยได้เข้าสู่หน้าร้อนอย่างเป็นทางการ และในทุกๆ ปี เมื่อเข้าสู่หน้าร้อน จะมีข่าวเกี่ยวกับโรคพิษสุนัขบ้าระบาด รวมถึงมีการออกประกาศเตือนจากหน่วยงานต่างๆ อีกด้วย ซึ่งอาจทำให้คนจำนวนมากคิดว่าในฤดูร้อนนั้นส่งผลต่อการระบาดของโรคดังกล่าว ความจริงแล้วสภาวะหรือช่วงฤดูมีความเกี่ยวข้องกับโรคพิษสุนัขบ้าหรือไม่? ผู้คนควรเฝ้าระวังโรคนี้ช่วงหน้าร้อนหรือไม่? และจะทำอย่างไรให้ปลอดภัยจากโรคพิษสุนัขบ้า?

มูลนิธิเพื่อสุนัขในซอย

วันศุกร์ ที่ 1 มีนาคม 2562, เวลา 09:00 น.

ภาพ มูลนิธิเพื่อสุนัขในซอย

ภาพ มูลนิธิเพื่อสุนัขในซอย

พิษสุนัขบ้า - โรคระบาดฤดูร้อนจริงหรือ?

ความจริงแล้ว โรคพิษสุนัขบ้าหรือเรบีส์เป็นโรคที่สามารถติดต่อในหมู่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม โดยไม่เกี่ยวกับช่วงฤดูหรือสภาพอากาศ และไม่ได้ระบาดเพียงแค่ในหมู่สุนัขและแมวเท่านั้น ซึ่งนี่เป็นเหตุผลที่ทุกคนควรตระหนักถึงความสำคัญของการป้องกัน

นอกจากความเข้าใจผิดดังกล่าวแล้ว หลายคนยังเข้าใจผิดในเรื่องของภาพลักษณ์ของสุนัขที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้า สุนัขเองก็ไม่ต่างจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมประเภทอื่นๆ คือเมื่อติดเชื้อ อาจยังไม่แสดงอาการบางอย่างเช่น น้ำลายยืด แยกเขี้ยว หรือขู่คำราม อย่างที่มักเห็นกันในภาพตัวอย่างหลายๆ ภาพ สุนัขที่ติดเชื้ออาจดูปกติ หรืออาจเป็นเพียงแค่ลูกสุนัขเล็กๆ ที่ดูไม่มีพิษภัยเสียด้วยซ้ำ

บทความนี้ไม่ได้เขียนขึ้นเพื่อสร้างความหวาดกลัวต่อเหล่าสุนัข เพื่อนรักแสนซื่อสัตย์ของมนุษย์ แต่มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ความรู้ที่ถูกต้อง ว่าการฉีดวัคซีนทั้งในสัตว์และคนนั้นมีความสำคัญมากเพียงใด เพื่อให้คนและสัตว์เหล่านี้อยู่ร่วมกันได้อย่างปลอดภัย หากโดนสุนัขกัด ไม่ว่าสุนัขตัวนั้นจะดูท่าทางเป็นอย่างไรก็ตาม จะต้องล้างแผลด้วยสบู่และน้ำไหลผ่านแล้วทำความสะอาดแผลด้วยเบตาดีนและรีบไปพบแพทย์เพื่อฉีดวัคซีน PEP พร้อมทั้งปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์

ปกป้องตนเองและสัตว์เลี้ยงแสนรัก

การฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้านั้นสำคัญทั้งต่อผู้ที่มีสัตว์เลี้ยงและบุคคลอื่นๆ ทั่วไป ในขณะที่สัตว์เลี้ยงนั้นก็จำเป็นต้องได้รับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าหรือวัคซีนรวมเช่นกัน ไม่ว่าสัตว์เลี้ยงนั้นๆ จะอาศัยอยู่ภายในบ้านหรือถูกเลี้ยงแบบปล่อยนอกบ้านก็ตาม

นอกจากการฉีดวัคซีนแล้ว การฉีดวัคซีนกระตุ้นทุกปีก็มีความจำเป็นเช่นกัน หากสัตว์เลี้ยงได้รับบาดเจ็บจากการถูกสุนัขตัวอื่นกัด จะต้องนำไปพบสัตวแพทย์เพื่อฉีดวัคซีนกระตุ้น ในกรณีเช่นนี้ หากสุนัขตัวนั้นๆ ไม่เคยรับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้ามาก่อน วัคซีนกระตุ้นนั้นก็จะไม่มีผลต่อการรักษาแต่อย่างใด

ลูกสุนัขนั้นจะต้องมีอายุ 12 สัปดาห์ (3 เดือน) จึงจะสามารถฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าได้ ในระหว่างนั้น ลูกสุนัขจะได้รับภูมิคุ้มกันผ่านทางนมของแม่สุนัข ดังนั้น ลูกสุนัขที่ซื้อมาจากร้านขายสัตว์เลี้ยงจึงมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคมากกว่า เพราะมักจะถูกแยกจากแม่ก่อนที่จะหย่านม

คาถา 5 ย

โดยธรรมชาติแล้ว สุนัขจรจัดจะพยายามไม่ยุ่งกับมนุษย์เพื่อป้องกันการถูกทำร้าย และจะไม่โจมตีมนุษย์โดยไม่มีเหตุผล แต่ในหลายๆ ครั้งคนที่ถูกสุนัขกัดนั้นเอง เป็นผู้กระตุ้นให้สุนัขกัด

คาถา 5 ย เป็นข้อปฏิบัติเพื่อให้ห่างไกลความเสี่ยงที่จะโดนสุนัขกัดซึ่งประกอบด้วย
1. อย่าแหย่ ให้สุนัขโมโห
2. อย่าเหยียบ ทำให้สุนัขตกใจ
3. อย่าแยก สัตว์ที่กัดกันด้วยมือเปล่า
4. อย่าหยิบ แย่งจานอาหาร
5. อย่ายุ่ง สุนัขที่ไม่ได้เลี้ยง

สุนัขเป็นสิ่งมีชีวิตที่ฉลาด และสุนัขเองก็มีความรู้สึกและอารมณ์ไม่ต่างจากมนุษย์ การไปแหย่ คนแปลกหน้า ทำให้ตกใจ แกล้ง หรือเข้าหาโดยไม่รู้จักมาก่อน นั้นอันตรายอย่างไร การทำเช่นเดียวกันกับสุนัขก็อันตรายไม่ต่างกัน

สัตวแพทย์หญิง อลิสเซีย อิซซีดอร์เช็ค ผู้อำนวยการด้านสวัสดิภาพสัตว์ระหว่างประเทศจากมูลนิธิเพื่อสุนัขในซอย กล่าวว่าโรคพิษสุนัขบ้านั้นไม่ใช่เรื่องของฤดูกาล

“ไวรัสเรบีส์นี้ไม่สามารถมีชีวิตอยู่นอกร่างกายของสัตว์ได้ โดยจะตายหลังจากอยู่ภายนอกตัวสัตว์นั้นๆ เพียงไม่นาน วิธีเดียวที่จะติดโรคพิษสุนัขบ้าได้คือการถูกกัด (หรือข่วน) โดยสัตว์ที่ติดเชื้อ หรือโดยน้ำลายของสัตว์ที่ติดเชื้อที่ผ่านเข้าสู่เยื่อหุ้มเซลล์ เช่น เยื่อบุตา วิธีการเช่นนี้จะสามารถทำให้คนติดเชื้อพิษสุนัขบ้าได้”

นอกจากนี้ สัตวแพทย์หญิง อลิสเซีย ยังระบุด้วยว่า การที่เห็นว่ามีสุนัขแสดงอาการของโรคพิษสุนัขบ้าเพิ่มขึ้นในช่วงหน้าร้อนนั้น อาจมากจากความขาดแคลนของน้ำและอาหาร ซึ่งอาจเป็นปัจจัยที่ทำให้สุนัขเกิดความเครียดมากขึ้นและแสดงอาการดุร้ายได้ง่ายขึ้นด้วย จึงทำให้หลายคนเข้าใจว่าฤดูร้อนนั้นสุนัขจะเป็นโรคพิษสุนัขบ้ารุนแรงมากขึ้น

 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่