‘หลุมพรางแท็กซี่’ สส.ภูเก็ต ห่วงแอปแท็กซี่ที่เป็นความหวังอาจนำไปสู่หนี้สินของผู้ขับขี่

ภูเก็ต - ว่าที่ร้อยตรี สมชาติ เตชถาวรเจริญ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) จังหวัดภูเก็ต เขต 1 พรรคก้าวไกล หยิบยกความกังวลในเรื่องที่ประชาชนตัดสินใจเป็นหนี้ เพื่อซื้อรถยนต์หวังหาเลี้ยงชีพด้วยการเป็นคนขับแท็กซี่ผ่านแอปพลิเคชันในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตอภิปรายต่อรัฐสภา ในโอกาสการแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เมื่อวันอังคาร ที่ 12 กันยายน ที่ผ่านมา

เอกภพ ทองทับ

วันเสาร์ ที่ 23 กันยายน 2566, เวลา 09:00 น.

ในสภา สส.สมชาติ อภิปรายเกี่ยวกับนโยบายด้านคมนาคมของรัฐบาล ที่ได้กล่าวถึงการลงทุนขนาดใหญ่ แต่ขาดการพัฒนาขนส่งสาธารณะ นโยบายรัฐบาลเน้นนำเงินก้อนโตไปลงทุนที่โครงการขนาดใหญ่ ๆ ทั้งนั้น แต่ไม่เห็นนโยบายใดเลยที่ลงทุนในระบบขนส่งสาธารณะที่จะช่วยเรื่องการเดินทางของประชาชนจริง ๆ พร้อมเน้นย้ำว่าประเทศพัฒนาแล้ว คือประเทศที่ประชาชนใช้ขนส่งสาธารณะ ซึ่งหลังจากการนำเสนอข้อกังวลต่อรัฐสภา

สส.สมชาติ ได้มีการโพสต์ออนไลน์ถึงปัญหาดังกล่าวโดยระบุว่า ปัญหาที่สำคัญที่สุดของรถติดในขณะนี้คือการใช้งานของแอปราคาถูก ทำให้ผู้คนหันมาซื้อรถยนต์กันมากขึ้น เพื่อให้บริการผ่านแอปพลิเคชัน แม้ว่าก่อนหน้านี้ที่ภูเก็ตมีจำนวนแท็กซี่ที่มากพอ แต่พวกเขาต้องทนทุกข์จากการขาดรายได้เพราะไม่มีงานเข้ามาอย่างเพียงพอ

พร้อมกันนี้เขาได้โพสต์ประกาศสำนักงานขนส่งจังหวัดภูเก็ต เรื่อง การนำรถยนต์ส่วนบุคคลมาใช้รับจ้างโดยผิดกฎหมาย จนทำให้เกิดการทะเลาะวิวาท สร้างความเดือดร้อน และส่งผลกระทบต่อการประกอบอาชีพของผู้ประกอบการขนส่งสาธารณะที่ถูกต้องตามกฎหมาย ทั้งยังส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์และชื่อเสียงของประเทศและจังหวัดภูเก็ต ในฐานะเป็นเมืองท่องเที่ยวระดับโลก

สำหรับการนำรถยนต์ส่วนบุคคลมาใช้รับจ้างรับส่งผู้โดยสารโดยผิดกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการเรียกใช้ผ่านบริการแอปพลิเคชันหรือด้วยวิธีใด หากพบการกระทำความผิด สำนักงานขนส่งจังหวัดภูเก็ตจะดำเนินการตามระเบียบและพิจารณาลงโทษตามที่กฎหมายบัญญัติไว้สูงสุดทุกกรณี ในอัตราโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000 ถึง 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

สส.สมชาติ มองว่าการที่ประชาชนต้องดิ้นรนมีรถส่วนตัว ไม่ได้สะท้อนถึงความเจริญของประเทศ แต่คือความหมดหวังของประชาชนต่อระบบขนส่งสาธารณะของประเทศ บางคนถึงขนาดดูถูกคนชนบทว่าพอมีเงินก็เอาไปฟุ่มเฟือยดาวน์รถจักรยานยนต์มาผ่อน โดยที่ไม่เข้าใจว่าการไม่มีรถจักรยานยนต์ในชนบทมันลำบากเพียงใด และในบางครอบครัว การมีรถจักรยานยนต์เพียงหนึ่งคันนั้น เพื่อใช้แบกชีวิตของหลายชีวิตทั้งครอบครัว

“ประชาชนในชนบทที่ไม่มีรถของตัวเองจะต้องใช้เงินเป็นพันบาทในการเหมารถ เพื่อเดินทางมาพบแพทย์เฉพาะทางในโรงพยาบาลประจำจังหวัด ยิ่งเป็นการตอกย้ำสร้างความเหลื่อมล้ำในสังคม ประชาชนจึงมีสิทธิตั้งคำถามว่า การที่รัฐบาลนำภาษีของประชาชนทั้งประเทศลงในโครงการขนาดใหญ่ หรือไปอุดหนุนรถไฟฟ้า 20 บาทของคนกรุงเทพฯ ที่เรากำลังจะทุ่มเงินไม่ต่ำกว่า 70,000 ล้านบาท เพื่อคนจังหวัดเดียว และเป็นแค่คนกลุ่มเดียวที่ใช้รถไฟฟ้าด้วย มันเหมาะสมหรือไม่?”

พร้อมกันนี้ สส.สมชาติ ยกตัวอย่างว่า ปัจจุบันจังหวัดภูเก็ตมีรถประจำทางที่เรียกได้ว่าเป็นมาตรฐานเหมือนรถเมล์ในกรุงเทพฯ เพียงแค่ 3 สายเท่านั้น ทั้ง 3 สายมีต้นทางอยู่ที่สนามบินเพื่อเน้นบริการนักท่องเที่ยว ในทางกลับกัน หากลองเปรียบเทียบกับประเทศสิงคโปร์ ที่มีพื้นที่ใกล้เคียงกัน ความหนาแน่นประชากรห่างกันประมาณ 10 เท่า สิงคโปร์มีเส้นทางรถประจำทางที่มีมาตรฐาน การออกแบบเพื่อทุกคน รองรับรถวีลแชร์มากกว่า 352 เส้นทาง ซึ่งมากกว่า 100 เท่าของภูเก็ต และมีจำนวนป้ายรถเมล์กว่า 5,000 แห่ง นอกจากนี้ ยังมีรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนอีกหลายเส้นทาง

“การที่ระบบขนส่งมวลชนไม่รองรับคนทุกกลุ่ม ไม่ครอบคลุมและไม่เพียงพอ บวกกับค่าโดยสารรถแท็กซี่และจักรยานยนต์รับจ้างที่แพงกว่าหลายเท่าเมื่อเทียบกับกรุงเทพฯ ทำให้คนภูเก็ตจำเป็นต้องมีรถเป็นของตัวเอง จนเกิดปัญหารถติด ผู้ปกครองเสียเวลาการทำงานเพื่อใช้ในการรับส่งบุตรหลานไปโรงเรียน หรือต้องซื้อรถจักรยานยนต์ให้บุตรหลานใช้ไปโรงเรียน ทำให้เสี่ยงเกิดอุบัติเหตุ”

"สาเหตุหนึ่งที่ภูเก็ตไม่สามารถพัฒนาระบบขนส่งมวลชนได้ มาจากกฎหมายของรัฐบาลรวมศูนย์ที่กำหนดให้ผู้ที่มีอำนาจในการบริหารจัดการระบบขนส่งมวลชน ถูกส่งมาจากรัฐบาลกลาง ซึ่งไม่ได้ยึดโยงกับประชาชนในท้องถิ่น"

“รัฐบาลต้องมีทัศนคติใหม่ว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว ไม่ได้หมายถึงประเทศที่คนจนมีรถ แต่เป็นประเทศที่คนรวยใช้ระบบขนส่งสาธารณะ” สส.สมชาติ กล่าวสรุป

 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่