อ.ธรณ์เล่าเรื่องไมโครพลาสติก ชี้เวลาเหลือน้อยรีบจริงจังก่อนความพินาศมาเยือน

ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ หรือ “อาจารย์ธรณ์” อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล แฟนพันธุ์แท้ทะเลไทย เล่าเรื่องราวของการศึกษาไมโครพลาสติกให้กลุ่มเพื่อนธรณ์ให้ฟังผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว พร้อมข้อความและภาพบรรยายที่เข้าใจง่าย โดยเน้นว่างานนี้เป็นผลงานใหม่ ๆ สด ๆ ถามว่าสดเบอร์ไหน อาจารย์บอกเลยว่าขณะที่พิมพ์ข้อความเพื่อให้เหล่าเพื่อนธรณ์นำไปบอกต่ออยู่นั้น มือของอาจารย์ยังเปียกน้ำทะเลอยู่เลย

ข่าวภูเก็ต

วันศุกร์ ที่ 13 กันยายน 2562, เวลา 15:02 น.

ภาพ เฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat

ภาพ เฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat

อาจารย์ธรณ์ อธิบายผ่านเฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat ว่า การศึกษาไมโครพลาสติกในทะเลถูกแบ่งเป็น 2 แบบ อย่างแรกคือดูในสิ่งแวดล้อม และอย่างที่สองก็คือดูในสัตว์น้ำ สำหรับการศึกษาในสัตว์น้ำของไทยเริ่มมาได้ 2-3 ปีแล้ว ผลปรากฎว่าพบแทบทุกครั้ง มากน้อยแตกต่างกันไป ซึ่งข้อมูลในสัตว์น้ำเหล่านี้มีประโยชน์แน่นอน ในแง่ของการรณรงค์ลดขยะทะเลและอื่น ๆ โดยอาจารย์ธรณ์เน้นย้ำว่า เราต้องการข้อมูลไมโครพลาสติกในสิ่งแวดล้อมในแง่ของฐานข้อมูล เพื่อใช้ติดตามความเปลี่ยนแปลงของทะเล ตลอดจนวัดผลการดำเนินงานมาตรการต่าง ๆ ที่ใช้ในการลดขยะทะเล แม้จะเป็นงานที่ยาก แต่จำเป็นต้องมี

“หากเป็นเด็กนักเรียนก็เหมือนผลสอบ หากเป็นบริษัท ก็เหมือนผลประกอบการ” อาจารย์ธรณ์ กล่าว

สำหรับขั้นตอนการเก็บข้อมูลอาจารย์ธรณ์อธิบายว่า “ ดำเนินการใน 3 ขั้นตอนง่าย ๆ คือ 1. เก็บไมโครพลาสติกโดยใช้ถุงลากจากมวลน้ำ ตัวเลข 330 หมายถึงขนาดถุง 330 ไมครอน ที่ปรกติใช้ลากแพลงก์ตอนสัตว์ เราจะลาก 15 นาที 2. ลากเสร็จแล้วก็นำมาส่องด้วยกล้องสองตา เพื่อวิเคราะห์ในขั้นต้น 3. อันนี้เจ๋งฮะ เพราะเป็นเครื่องใช้วิเคราะห์โดยละเอียด ที่คณะประมงมีแลปต่อต้านขยะทะเล บ.GC กรุณาให้เครื่องมา ผมนำเงินส่วนอื่น ๆ มาเสริม เช่น เงินค่าเสื้อเต่ามะเฟือง มีตัวเลข 5 ล้านเพื่อแสดงมูลค่าแลปที่กว่าจะทำเสร็จ ธรณ์หอบแฮ่กครับ”

หลังจากการเก็บตัวอย่างได้แล้ว ทางทีมงานก็ได้นำตัวอย่างมาส่องกล้อง แต่สามารถบอกได้ไม่ละเอียดมาก เช่น รูปร่างและสี จำนวนชิ้น แต่ฟันธงไม่ได้ว่าคืออะไร และส่วนใหญ่งานวิจัยจะจบอยู่แค่นี้ เพราะบอกไม่ได้ว่าไมโครพลาสติกมาจากอะไร ถุงก๊อบแก๊บ ถุงร้อน พลาสติกอื่น ๆ และเมื่อไม่รู้ต้นตอชัดเจน ก็บอกสัดส่วนไมโครพลาสติกตามแหล่งที่มาไม่ได้ จะออกมาตรการใด ๆ มาชี้วัดก็ลำบาก “นั่นคือเหตุผลที่ผมใช้เวลาสองปี เพื่อสร้างแลปต่อต้านขยะทะเล โดยมีบริษัท GC เป็นผู้สนับสนุนหลัก เพราะขืนรองบหลวง ผมคงเดี้ยงก่อน” อาจารย์ธรณ์ กล่าว

สำหรับเรื่องไมโครพลาสติกกำลังเป็นกระแส อาจารย์ธรณ์ได้เล่าให้เพื่อนธรณ์เห็นภาพง่าย ๆ ว่า “สมัยก่อนเราไปเกาะเจอแต่เปลือกหอยและเศษปะการัง สมัยนี้หาดเต็มไปด้วยเม็ดโฟมและเศษพลาสติก” พร้อมระบุอีกว่า พวกเรากำลังเข้าสู่ยุคของความน่าหวาดหวั่น เพราะขยะที่สะสมในทะเลไทยกำลังกลับมาทำร้ายเราอย่างสาหัส

“เมื่อโฟมและพลาสติกเหล่านี้แตกเป็นชิ้นเล็ก ๆ คำถามคือเราจะเก็บมันได้อย่างไร? ยิ่งถ้าแตกตัวเล็กลงไปเรื่อย ๆ เราจะร่อนทรายยังไง จะกรองน้ำทั้งทะเลเพื่อเอาไมโครพลาสติกออกไปได้อย่างไร? ที่ผ่านมาเรากลัวขยะชิ้นใหญ่ทำร้ายสัตว์ทะเล จากนี้ต่อไปเราจะเจอของจริง เมื่อเม็ดโฟมและไมโครพลาสติกกลับมาทำร้ายเรา”

สำหรับคำถาม “จะแก้อย่างไร? จะหลีกเลี่ยงอย่างไร?” อาจารย์ธรณ์ ตอบชัดเจนว่า “ไม่รู้จะเลี่ยงอีท่าไหน ไม่กินสัตว์น้ำ ก็ต้องกินเกลือ เมื่อไมโครพลาสติกแตกตัวถึงขั้นนาโนพลาสติก ยังไงซะมันก็ต้องปนเปื้อน ถ้ามันเลี่ยงได้จริง มันคงไม่เป็นปัญหาระดับโลก”

ทางแก้ทางเดียวคือ “ลดขยะทะเลให้มากที่สุด เพื่อไม่ให้เกิดเม็ดโฟมและไมโครพลาสติกมากไปกว่านี้” พร้อมชี้ว่าปัจจุบันในหลายประเทศจริงจังกับเรื่องนี้มาก เพราะเขารู้ดีว่าหากไม่ทำให้เด็ดขาดผลที่จะตามมาคืออะไร

“ถ้าปัญหาขยะทะเลมันง่าย มันแก้ได้ด้วยจิตสำนึกเพียงอย่างเดียว ผมคงไม่ต้องมาพูดถึงทุกวัน ที่พูดก็เพื่อพยายามบอกว่า มันแย่แล้วนะ มันแก้ไม่ได้นะ มันถึงเวลาเอาจริงแล้วนะ จะทำอะไรก็ทำเถิด จะรณรงค์จะลดจะแบนก็กรุณารีบทำ เพราะเวลาเราเหลือน้อย หวังว่าภาพจากชายหาดแห่งหนึ่งในอุทยานแห่งชาติของไทย จะสามารถสื่อถึงสถานการณ์ที่ผมอยากบอกเพื่อนธรณ์ได้” อาจารย์ธรณ์กล่าว “ก๊อก ๆ ๆ เปิดประตูหน่อยจ้ะ ความพินาศกำลังจะมาเยี่ยมเยือน”

 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่