อุตสาหกรรมภูเก็ตสั่งปิดโรงน้ำแข็งราไวย์บางส่วน ฝ่าฝืนคุก 2 ปี ปรับ 2 แสน

ภูเก็ต – สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดภูเก็ต ออกคำสั่งหยุดประกอบกิจการโรงงาน อาศัยอำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ.2535 ให้ผู้ประกอบการหยุดการประกอบกิจการโรงงานบางส่วน เพื่อทำการซ่อมแซมในส่วนที่เสียหาย และห้ามคนงานหรือผู้ที่เกี่ยวข้องทุกคนทำงานในโรงงาน ฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ปรับอีกวันละห้าพันบาท จนกว่าจะหยุดประกอบกิจการ

จุฑารัตน์ เปลรินทร์

วันพุธ ที่ 10 กรกฎาคม 2562, เวลา 16:20 น.

ภาพจากรายงานการปิดประกาศคำสั่งหยุดกิจการโรงงานบางส่วน

ภาพจากรายงานการปิดประกาศคำสั่งหยุดกิจการโรงงานบางส่วน

นายบุญส่ง แก้วขาว นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษ รักษาการแทน อุตสาหกรรมจังหวัดภูเก็ต ผู้ซึ่งปลัดกระทรวงมอบหมาย ลงชื่อในประกาศ ณ วันที่ 9 ก.ค. 62 ให้ บริษัท แฮปปี้ คริสตัล จำกัด ซึ่งประกอบกิจการโรงงาน ผลิตน้ำแข็งหลอดเล็กและหลอดใหญ่ หยุดการประกอบกิจการโรงงานบางส่วน ตั้งแต่วันที่ 9 ก.ค. เป็นต้นไป พร้อมทั้งให้ปรับปรุงแก้ไขเครื่องผลิตน้ำแข็งหลอดขนาดกำลังการผลิต 30 ตัน/วัน ที่ชำรุดเสียหาย จนทำให้เกิดการรั่วไหลของก๊าซแอมโมเนีย และฟุ้งกระจายไปตามกระแสลมที่พัดผ่านไปบริเวณรอบโรงงาน ทำให้ชาวบ้านหลายรายมีอาการแสบตาและอาเจียน (อ่านเพิ่มเติม คลิก) ให้มีประสิทธิภาพที่ดีสามารถใช้งานได้ต่อไปและมีความปลอดภัยตามหลักวิชาการ โดยมีคำรับรองของผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม ตามพระราชบัญญัติวิศวกร พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยให้ดำเนินการแล้วเสร็จ ภายในวันที่ 9 สิงหาคม 2562

จากนั้น นายจรัญ นองสุข เจ้าพนักงานตรวจโรงงานชำนาญงาน เป็นผู้ปิดประกาศคำสั่งดังกล่าวที่บริเวณโรงงานน้ำแข็ง ซึ่งอยู่ใกล้กับวัดสว่างอารมณ์หรือวัดราไวย์ ห้ามมิให้ผู้ปฏิบัติหน้าที่ในโรงงาน คนงาน หรือผู้ที่เกี่ยวข้องทุกคนทำงานในโรงงาน เพื่อให้โรงงานประกอบกิจการต่อไปได้อีก ภายหลังมีคำสั่งให้หยุดประกอบกิจการโรงงานบางส่วน หากผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ปรับอีกวันละห้าพันบาท จนกว่าจะหยุดประกอบกิจการ ตามมาตรา 55 แห่งพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ.2535 และหากผู้ใดกระทำการใด ๆ ให้คำสั่งหยุดประกอบกิจการโรงงานชำรุดหรือเสียหาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามมาตรา 60 แห่งพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ.2535

นายบุญส่ง กล่าวกับ ข่าวภูเก็ต วันนี้ (10 ก.ค.) ว่า หากทางผู้ประกอบการไม่เห็นด้วยกับคำสั่งฉบับดังกล่าว ก็มีสิทธิ์ที่จะอุทธรณ์หรือโต้แย้งคำสั่งนี้ได้ โดยสามารถยื่นอุทธรณ์หรือโต้แย้งคำสั่งดังกล่าวต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ภายในระยะเวลา 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ทราบคำสั่ง

ในขณะเดียวกัน หากทางโรงงานได้ทำการแก้ไข พร้อมกับมีคำรับรองของผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมแล้วนั้น สามารถประสานเข้ามายังสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดภูเก็ต เพื่อจะได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบว่าเครื่องจักรที่เคยมีปัญหานั้น ได้รับการซ่อมแซมให้มีประสิทธิภาพที่ดี สามารถใช้งานได้ต่อไป และมีความปลอดภัยตามหลักวิชาการแล้วหรือไม่ ซึ่งหากเครื่องดังกล่าวมีประสิทธิภาพที่ดี ปลอดภัยในการใช้งานตามมาตรฐานทางวิชาการ ทางเจ้าหน้าที่ก็จะพิจารณาอนุญาตให้ทางโรงงานประกอบกิจการได้ต่อไป

 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่