อุปกรณ์ที่ช่วยให้รู้สึกถึงอาการของโรคพาร์กินสัน

อุปกรณ์ที่ช่วยให้แพทย์ และผู้ดูแลเข้าใจผู้ป่วยมากขึ้น ด้วยการสัมผัสอาการของโรคผ่านการกระตุ้นกล้ามเนื้อด้วยไฟฟ้า

โพสต์ทูเดย์

วันอาทิตย์ ที่ 7 พฤษภาคม 2560, เวลา 16:00 น.

ปัจจุบันมีผู้ป่วยด้วยโรคพาร์กินสันมากกว่า 10 ล้านคนทั่วโลก ความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับระบบประสาทส่วนกลางนี้ส่งผลให้ผู้ป่วยต้องทุข์ทรมาณจากอาการสั่น การเคลื่อนไหวของร่างกายที่ไม่สามารถควบคุมได้ ไปจนถึงอาการอ่อนเพลียและเหนื่อยล้า

แน่นอนว่าแพทย์นั้นรักษาผู้ป่วยเหล่านี้ตามอาการอย่างเต็มที่ แต่มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่จะเข้าใจอาการของผู้ป่วยอย่างแท้จริง ในเมื่อพวกเขาไม่อาจสัมผัส หรือรู้สึกได้ว่าการป่วยเป็นโรคพาร์กินสันนั้นชีวิตจะกลายเป็นเช่นไร

อาการของโรคพาร์กินสันเกิดจากเซลล์ที่ผลิตโดปามีนในซับสแตนเชียไนกรา อันเป็นบริเวณหนึ่งในสมองส่วนกลางตาย ส่งผลต่อการเคลื่อนไหว

ด้วยการออกแบบจากบริษัท Klick Labs ในแคนาดา พวกเขาได้สร้างอุปกรณ์สวมใส่ได้ขนาดพกพาขึ้นมา เพื่อถ่ายทอดประสบการณ์ของอาการโรคที่ผู้ป่วยเหล่านี้ต้องเผชิญ เพื่อที่แพทย์ที่ทำการรักษาจะได้ทำความเข้าใจคนไข้ของตนมากยิ่งขึ้น และนำไปสู่การดูแลเอาใจ่ใส่ที่มีประสิทธิภาพกว่าเดิม

อุปกรณ์ตัวนี้มีลักษณะเหมือนปลอกแขน ที่ประกอบด้วยสายไฟขนาดใหญ่ ตัวอุปกรณ์ถูกแบ่งเป็นตัวส่ง และตัวรับ สำหรับผู้ป่วยพาร์กินสัน และแพทย์ เมื่อทั้งคู่สวมใส่อุปกรณ์แล้ว หากผู้ป่วยเกิดอาการสั่นขึ้นมา ตัวอุปกรณ์จะส่งข้อมูลแบบเรียลไทม์ไปยังตัวรับ และส่งกระแสไฟฟ้าเข้าไปยังกล้ามเนื้อเพื่อกระตุ้นให้กล้ามเนื้อของผู้สวมใส่หดตัว ขยายตัว หรือกระตุกในแบบเดียวกัน ราวกับว่าพวกเขาเองก็กลายเป็นผู้ป่วยโรคพาร์กินสันคนหนึ่งเช่นกัน

ตัวอุปกรณ์จะทำหน้าที่ถ่ายทอดอาการของโรคจากผู้ป่วยแบบเรียลไทม์ โดยใช้เทคนิคเดียวกันกับการตรวจเส้นประสาท และกล้ามเนื้อด้วยไฟฟ้า

เพราะผู้ดูแลผู้ป่วยเหล่านี้ไม่อาจทำความเข้าใจได้เต็ม 100% หากพวกเขาไม่ได้รู้สึกแบบเดียวกัน เมื่อสวมใส่อุปกรณ์ บรรดาแพทย์ และผู้ดูแล ตลอดจนสมาชิกในครอบครัวจะสามารถทำความเข้าใจได้ว่าเหตุใดการหยิบจับแก้ว หรือเจาะหลอดลงในกล่องนมจึงเป็นเรื่องทำได้ยากสำหรับผู้ป่วย และการหดตัว เกร็งตัวของกล้ามเนื้อตลอดเวลา จะส่งผลให้พวกเขารู้สึกเหนื่อยล้า

และขณะนี้ทางบริษัทเองกำลังมองหาความเป็นไปได้ในการพัฒนาอุปกรณ์ของพวกเขาสำหรับการถ่ายทอดประสบการณ์ของโรคอื่นๆมากขึ้น รวมถึงอนาคตของกระบวนการรักษาทางการแพทย์ หากผู้ป่วยสามารถถ่ายทอดอาการของโรค ไปยังตัวแพทย์ หรือผู้เชี่ยวชาญที่อยู่อีกมุมหนึ่งของโลกได้ โดยที่ไม่ต้องเดินทางไปรับการรักษาด้วยตนเอง

นอกจากนั้นพวกเขายังมีแผนที่จะต่อยอดเทคโนโลยีด้วยการใช้ VR เช่นการจำลองการเดินของผู้ป่วยด้วยโรคเบาหวาน หรือเส้นโลหิตตีบ เพื่อให้คนธรรมดาอย่างเราๆนั้นรู้สึกเช่นเดียวกันกับผู้ป่วย และตระหนักถึงภัยอันตรายของโรคร้ายเหล่านี้ รวมทั้งคำนึงถึงการดูแลสุขภาพของตนให้ดีอยู่เสมอเช่นกัน

 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่