เกษตรจังหวัดภูเก็ตจัดอบรมเชิงปฏิบัติการส่งเสริมการอนุรักษ์พันธุ์ผักลิ้นห่านรุ่นที่ 1

ภูเก็ต - นางจรัสศรี คำภีรสิงห์ เกษตรจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานเปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการอนุรักษ์พันธุ์ผักลิ้นห่าน โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อร่วมกันอนุรักษ์พันธุกรรมพืชพื้นถิ่นหายาก เมื่อวันที่ 21 พ.ย. 2566 ณ โรงเรียนบ้านไม้ขาว ตำบลไม้ขาว อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต

ข่าวภูเก็ตข่าวประชาสัมพันธ์

วันพุธ ที่ 22 พฤศจิกายน 2566, เวลา 16:00 น.

เกษตรจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ภูเก็ตเป็นจังหวัดหนึ่งที่ดำเนินโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2544 จนถึงปัจจุบัน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสืบสานพระราชปณิธานของโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ ซึ่งทรงเน้นให้มีการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชที่หายากหรือใกล้สูญพันธ์เพื่อไว้เป็นแหล่งเชื้อพันธุ์เพื่อให้คงอยู่ต่อไป โดยให้ประชาชน เยาวชน ได้เรียนรู้ อนุรักษ์ พัฒนาและใช้ประโยชน์ทรัพยากรของชาติอย่างยั่งยืน

จังหวัดภูเก็ตเห็นความสำคัญของผักลิ้นห่านซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจท้องถิ่น เจริญเติบโตแถบชายหาด ไม้ขาว ชายหาดฝั่งทะเลอันดามันในภูเก็ตและพังงา สามารถเพาะปลูกในภาชนะและพื้นที่บริเวณที่อยู่อาศัยได้ แต่ปัจจุบันมีแนวโน้มลดลงเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม จึงสนับสนุนงบประมาณภายใต้โครงการฯ ให้สำนักงานเกษตรฯ ดำเนินการส่งเสริมการขยายเพิ่มพื้นที่ปลูกในแหล่งอื่นที่มีความเหมาะสม เพื่ออนุรักษ์พันธุกรรมและส่งเสริมให้มีการต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มเป็นอาหารเมนูแนะนำในร้านอาหารและอาหารฟิวชั่น รวมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ผู้บริโภคทุกระดับได้รู้จักและบริโภคได้อย่างปลอดภัย มีคุณภาพตามความต้องการของตลาด

สำนักงานเกษตรฯ ได้กำหนดแผนดำเนินโครงการอนรุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ ครอบคลุมพื้นที่ทั้ง 3 อำเภอ โดยมีกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การอบรมให้ความรู้การขยายพันธุ์ผักลิ้นห่าน การสนับสนุนต้นพันธุ์ผักลิ้นห่านให้แก่เกษตรกรและผู้ที่สนใจ 3 รุ่น จำนวน 60 ราย และจะมีการออกร้านจำหน่ายผลผลิตและประชาสัมพันธ์โครงการฯ เพื่อสร้างความรับรู้ให้กับประชาชนอย่างกว้างขวางมากขึ้นในช่วงเดือนพฤษภาคม 2567

สำหรับการอบรมในครั้งนี้ ได้มีการบรรยายและสาธิตเรื่องข้อมูลทั่วไปของผักลิ้นห่าน การเตรียมดิน การปลูก การดูแลรักษา การขยายพันธุ์ผักลิ้นห่าน โดยคุณชุติมา เพชรณรงค์ และบรรยายเรื่องการตลาด การแปรรูป และการใช้ประโยชน์จากผักลิ้นห่าน โดยคุณฐานิฏฐ์กานต์ อนุรักษ์วรกุล

 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่