เฝ้าระวังสึนามิ พ่อเมืองสั่งเคาะป้ายบอกเส้นทางหนีคลื่นยักษ์

ภูเก็ต - เมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา นายภัคพงศ์ ทวิพัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตเชิญประชุมเจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วนวางแผนด้านความมั่นคงและความปลอดภัยของจังหวัด รวมไปถึงป้ายบอกทางหนีคลื่นยักษ์สึนามิ ที่พบว่าป้ายบอกทางต่าง ๆ นั้นชำรุดทรุดโทรมและบางเส้นทางอาจจะล้าสมัยไปแล้ว เนื่องจากมีผู้เข้ามาอาศัยมากขึ้นและการก่อสร้างต่าง ๆ อาจจะเปลี่ยนเส้นทางหนีไปจากแผนเดิม

จุฑารัตน์ เปลรินทร์

วันเสาร์ ที่ 13 ตุลาคม 2561, เวลา 09:00 น.

ย้ำขอให้ชาวไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติจงเชื่อมั่นว่า รัฐบาลไทยได้มีการวางมาตรการอย่างเข้มข้นและพร้อมที่จะดูแลช่วยเหลือนักท่องเที่ยวจากทุกประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการเตรียมการรับมือคลื่นยักษ์สึนามิ การเคลื่อนย้ายผู้คนไปยังจุดที่ปลอดภัย และมาตรการในการดูแลผู้ประสบภัยพิบัติทุกราย

โดยก่อนหน้านั้นนายภัคพงศ์ได้กล่าวว่าทางจังหวัดได้ทำหนังสือแจ้งไปยังผู้มีส่วนเกี่ยวข้องให้ตรวจสอบในส่วนของหอเตือนภัย หอกระจายข่าว และวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่จำเป็นต้องใช้หากเกิดเหตุการณ์สึนามิ ซึ่งเป็นไปได้ว่าอาจสมบูรณ์ครบถ้วน เนื่องจากงบทางราชการมีจำนวนจำกัด (อ่านเพิ่มเติม คลิก)

ในขณะที่นายนพพร กรุณา รองนายก อบต.กมลา ได้ยอมรับว่าที่ผ่านมาทางท้องถิ่นได้ปล่อยปละละเลยแผนรับมือสึนามิไป เนื่องจากปัญหาด้านงบประมาณของงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยของอบต.ซึ่งรองนายกยืนยันว่าจะเร่งผลักดันเรื่องนี้ เพื่อให้ผู้มีอำนาจและผู้เกี่ยวข้องในท้องถิ่นมองเห็นความสำคัญของงานป้องกันสาธารณภัยยิ่งขึ้น

“ตอนนี้ระบบป้องกันเตือนภัยสึนามิอยู่ในความสนใจของทุกคน ขอเรียนว่าทุก ๆ ปีทางเราได้ทำงานร่วมกับทางจังหวัด และสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดภูเก็ต เพื่อจัดทำแผนรับมือในกรณีที่เกิดสึนามิ ซึ่งรวมไปถึงแผนที่เส้นทางหลบหนีคลื่นสึนามิ แต่ยังขาดเรื่องการนำแผนมาใช้รวมถึงการประชาสัมพันธ์กับชุมชน หรือผู้ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบในอนาคต” นายนพพร กล่าว

“อย่างไรก็ตามในเดือนธันวาคมนี้ เราจะบรรจุเรื่องนี้เข้าไปในแผนงบประมาณ เพื่อการให้ความรู้กับภาคประชาชน รวมถึงแผนที่ต่าง ๆ และป้ายเตือนภัยสึนามิ เนื่องจากของเก่าผุพังและหักไปเกือบหมดแล้ว รวมถึงจัดแผนอพยพหนีภัย เพราะ2-3 ปีหลังที่ผ่านมางบขาดหายไป งบประมาณฝึกซ้อมโดนตัด ยอมรับว่าเราได้ปล่อยปละละเลยเรื่องนี้ไปมาก และผมจะรื้อฟื้นมันขึ้นมาใหม่ จะเน้นถึงความสำคัญในเรื่องนี้ให้มากยิ่งขึ้น ” รองนายก อบต.กมลา กล่าว

ด้านนายอภิชัย โมทะหมัด หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่าหมอเล็ก ขรก.บำนาญด้านสาธารณสุข หนึ่งในชาวบ้านกมลาที่รอดชีวิตจากเหตุการณ์สึนามิ ก็ได้ร้องขอให้ผู้ที่เกี่ยวข้องให้ความสำคัญกับหอเตือนภัย “สิ่งที่สำคัญที่สุดคือสัญญาณเตือนภัย เพราะมันคือสิ่งที่จะช่วยชาวบ้านได้ในยามวิกาล กลางวันเรามีสื่อหลายช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นโทรทัศน์หรือไลน์ที่ส่งถึงกันได้เพียงไม่กี่วินาที แต่เวลาพวกเรานอนหลับ หอเตือนภัยคือสิ่งที่คลายความกังวล ระบบอื่นเราไม่มั่นใจ ยกตัวอย่างเสียงตามสายของ อบต.คนประกาศไม่รู้จะดำเนินการทันท่วงทีไหม แผนเตือนภัยมันต้องชัดเจนและมีประสิทธิภาพตลอดเวลา ยิ่งมีข่าวแผ่นดินไหวที่อินโดนีเซีย ชาวบ้านยิ่งหวาดระแวง บางคนเขาสูญเสียญาติไปกับคลื่นยักษ์กมลามีผู้เสียชีวิตเกือบ 40 คนทั้งชาวบ้านและนักท่องเที่ยว” นายอภิชัย กล่าว

“อยากขอให้ดูแลหอเตือนภัยให้มีเสียงดังฟังชัด ถ้าเกิดเหตุการณ์ขึ้นอีกเราจะหนีได้ทัน นอกจากนี้อยากให้เปลี่ยนป้ายบอกทางหนีคลื่นที่ทรุดโทรมให้เป็นป้ายใหม่ชัดเจนและมองเห็นได้ในเวลากลางคืน พวกเราคนท้องถิ่นรู้กันดีว่าจะวิ่งไปทางไหน แต่อยากจะให้นึกถึงนักท่องเที่ยวที่เขาไม่คุ้นเคยกับพื้นที่ด้วย” หมอเล็ก กล่าว

อย่างไรก็ตาม ล่าสุดเมื่อวันพุธที่ผ่านมา (10 ต.ค.) ชาวบ้านกมลาแจ้งว่าเวลาไม่มีเสียงเตือนดังออกมาจากหอเตือนภัยเลย ไม่นานสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดภูเก็ต ซึ่งมีหน้าที่ดูแลหอเตือนภัยก็ได้ส่งเจ้าหน้าที่มาซ่อมแซมจนสามารถใช้การได้เป็นปกติ โดยจะมีการเปิดสัญญาณอีกครั้งในเวลาประมาณ 08.00 น. ของวันพุธที่จะถึงนี้ ตามแผนที่จะมีการทดสอบสัญญาณทุกวันพุธ

ในเรื่องนี้ นางสาวศรัญพักตร์ ตันติวงศ์ไพศาล ประธานเพื่อนเตือนภัยภูเก็ต และประธานเตือนภัยอันดามัน ได้กล่าวเสริมว่า “นอกจากหอเตือนภัยที่เป็นเสาแล้ว เรายังมีหอเตือนภัยมีชีวิต คือเพื่อนเตือนภัย และเตือนภัยอันดามัน ที่เป็นเครือข่ายของศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย”

พร้อมกับให้คำอธิบายเพิ่มเติมถึงความเป็นไปได้ที่ทำให้หอเตือนภัยสึนามิเกิดความขัดข้องบ่อยครั้ง เนื่องมาจากเหตุผลที่ว่า หอเตือนภัยอยู่ใกล้ทะเล ทำให้มีความเป็นไปได้ว่าจะเกิดจากสนิมกัดกินทำให้ผุพังหรือชำรุดได้

“นอกบางหอมีมือดีแอบตัดสายไฟบ้าง แอบขโมยลำโพงบ้าง ทั้งนี้หอเตือนภัยถือว่าเป็นทรัพย์สมบัติส่วนรวม ทุกคนต้องช่วยกันดูแล เรื่องนี้จำเป็นต้องอาศัยคนในพื้นที่ที่อาศัยอยู่ใกล้หอให้ช่วยฟังเสียงสัญญาณ เวลาทดสอบหากไม่มีสัญญาณให้ช่วยกันแจ้งบอกรายละเอียด เพื่อจะได้ประสานให้เจ้าหน้าที่เข้ามาตรวจสอบ ซึ่งถือว่าเป็นการร่วมมือกันทุกภาคส่วนก่อให้เกิดความมั่นใจของคนในพื้นที่และนักท่องเที่ยว” นางสาวศรัญพักตร์ กล่าว

ด้านนายศุภภิมิตร เปาริก ผอ.ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ยืนยันไทยได้มีการวางทุ่นสึนามิในทะเลจำนวน 2 ตัว ซึ่งจะสามารถแจ้งเตือนประชาชนก่อนคลื่นจะเข้ามาถึงฝั่งได้ที่เวลา 1 ชั่วโมง 30 นาที และตัวที่อยู่ใกล้ฝั่งจะยืนยันสัญญาณและแจ้งเตือนล่วงหน้า 45 นาที แต่ในปัจจุบันทุ่นตัวที่อยู่ใกล้ไม่สามารถส่งสัญญาณได้ตั้งแต่วันที่ 24 ต.ค. 2560 และจะมีการนำทุ่นตัวใหม่ไปวางทดแทน พ.ย. 2561 นี้ โดยจะใช้งบประมาณ 8-10 ล้านบาท

“นอกจากทุ่น 2 ตัวนี้แล้วเรายังมีสถานีวัดระดับน้ำของกรมอุทกศาสตร์กองทัพเรือที่เกาะเมียง ที่จะสามารถส่งผลวัดระดับน้ำมา เพื่อใช้ในการวิเคราะห์ลักษณะของการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำในกรณีที่จะเกิดสึนามิ โดยเราจะมีเวลาแจ้งเตือนให้ประชาชนออกจากพื้นที่อีกครึ่งชั่วโมง” นายศุภภิมิตร กล่าว

รายงานเพิ่มเติม: ธัญลักษณ์ สากูต

 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่