โปรดอย่าทิ้งฉันไว้! ความวิตกกังวลเมื่อเจ้าของกลับไปใช้ชีวิตหลังล็อกดาวน์

สัตว์เลี้ยง - หลายคนมักจะพูดกันว่าสุนัขของพวกเขาได้รับความเจ็บปวด และกำลังทุกข์ทรมาน เนื่องจากการเผชิญกับความวิตกกังวลต่อการแยกจาก (separation anxiety) แต่ในความเป็นจริงแล้วการตอบสนองของสุนัขนั้นมักจะแปรผันตามกิจกรรมต่าง ๆ ของพวกเราเสมอ

Russell D Russell

วันอังคาร ที่ 7 กรกฎาคม 2563, เวลา 12:00 น.

ภาพ Dominik QN/Unsplash

ภาพ Dominik QN/Unsplash

กรณีที่เกิดขึ้นจริงของความวิตกกังวลต่อการแยกจากในสุนัข คือ สุนัขของคุณมักจะคาดการณ์การแยกจากกันระหว่างพวกเขากับเจ้าของหรือสมาชิกคนอื่น ๆ ในบ้าน จากสภาพแวดล้อมและกิจกรรมต่าง ๆ รอบตัวของพวกเขา สุนัขของคุณสามารถที่จะเรียนรู้ความหมายจากการกระทำที่เกิดขึ้นเหล่านี้ได้ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะมาจากพฤติกรรมหรือกิจวัตรต่าง ๆ ที่เจ้าของทำก่อนออกจากบ้าน โดยสิ่งหลัก ๆ ที่พบได้อาจจะเป็น เสียงนาฬิกาปลุก, เด็ก ๆ ในบ้านกำลังแต่งตัว, คุณหยิบกุญแจรถ หรืออื่น ๆ

อย่างไรก็ตามรายละเอียดเล็กน้อยที่ถูกแสดงออกมาผ่านทางภาษากาย ซึ่งพวกเราอาจจะไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่ากำลังแสดงออกไป ความวิตกกังวลจะเริ่มต้นด้วยสัญญาณเริ่มแรก และชัดเจนขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งคุณออกจากบ้านไปในที่สุด และการที่เราออกจากบ้านในแต่ละครั้งนั้น พวกเราสามารถทำให้สถานการณ์มันแย่ลงได้ ด้วยการพยายามทำให้สุนัขสงบลงและบอกกับพวกเขาว่า “ไปแป๊บเดียว เดี๋ยวก็กลับมาแล้ว, แกไม่เป็นไรหรอก”

เพราะสุนัขของคุณไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นเอาไว้ได้ ดังนั้นระดับความหงุดหงิดของเขาจะสูงขึ้น และความทุกข์ทรมานใจจะเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปกติแล้วจะอยู่ในจุดสูงสุดที่ประมาณ 30 นาที หลังจากที่คุณออกไป จากนั้นระดับความวิตกกังวลจะค่อย ๆ ลดลงตามเงื่อนไขของสิ่งแวดล้อมรอบตัว แต่ในขณะที่สุนัขของคุณรู้สึกดีขึ้นอย่างช้า ๆ หรือกำลังผ่อนคลายมากขึ้นนั้น แต่สิ่งกระตุ้นจากภายนอกอื่น ๆ อาจทำให้เขารู้สึกอ่อนไหวได้อีก เช่น เสียงเห่าของสุนัขตัวอื่น, เสียงรถยนต์แล่นผ่าน หรือเสียงคนส่งของหน้าประตูบ้าน

อาการของความวิตกกังวลต่อการแยกอาจแสดงออกมาให้เห็นได้หลายอย่าง เช่น สุนัขเห่าหอนบ่อยเกินความจำเป็น, การเกาหรือขุด, การกัดแทะเฟอร์นิเจอร์ ประตู กรอบหน้าต่าง และอื่น ๆ หรือเดินไปมาอย่างกังวลและบ้าคลั่ง ความถี่ในการปัสสาวะที่เพิ่มมากขึ้น รอยเท้าเปียกจากอุ้งเท้าชุ่มเหงื่อ น้ำลายไหล หรือการทักทายที่ดูจะแสดงออกมากจนเกินไป อาการเหล่านี้คือสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม

สุนัขของคุณเดินตามคุณจากโซฟาไปยังตู้เย็น, เคาน์เตอร์ห้องครัว และเดินตามกลับไปยังโซฟาหรือเปล่า ข่วนเกาประตูห้องน้ำในขณะที่คุณกำลังใช้ห้องน้ำอยู่ และจากนั้นก็เดินตามไปทุกที่ที่คุณไปด้วยหรือเปล่า เจ้าของสุนัขบางคนคิดว่ามันคือความ “น่ารัก” แต่การรับรู้ทุกกิริยาอาการทุก ๆ ย่างก้าวของเจ้าของโดยฉับพลัน อาจเป็นจุดกำเนิดของปัญหาที่ต้องทำการแก้ไขในภายหลังได้

หนึ่งในเหตุผลที่ทำให้ปัญหาความวิตกกังวลต่อการแยกจากในสุนัข ถูกพบเห็นบ่อยยิ่งขึ้นในช่วงนี้ มากกว่าเมื่อหลายสิบปีที่ผ่านมาก็คือ ความเข้าใจผิดของเหล่าบรรดาเจ้าของสัตว์เลี้ยงเอง เพราะสิ่งที่กำลังจะพูดคือแม้ว่าอาการของ “ความวิตกกังวลต่อการแยกจาก” จะมีอยู่จริง แต่ก็ใช่ว่าสุนัขของคุณกำลังได้รับความทุกข์ทรมานจากมันอยู่ ทั้งนี้การที่สุนัขปัสสาวะหรืออุจจาระในบ้านนั้นอาจเกี่ยวข้องกับความวิตกกังวล แต่ก็อาจจะมาสาเหตุอื่น ๆ อีกมากมาย เช่น การฝึกสุนัขเองในบ้านที่ยังไม่สมบูรณ์ หรืออาจจะเป็นเรื่องของพื้นที่อันไม่เหมาะสม หรือแม้แต่ความคาดหวังอันไร้ซึ่งความสมเหตุสมผล ของเจ้าของสุนัขเองที่หวังใจว่า สุนัขจะยอม “กลั้น” เอาไว้, ความกลัว, ความตื่นเต้น, การทำสัญลักษณ์, ปัญหาการขับถ่าย หรือ สุนัขไม่สามารถที่จะกลั้นของเสียเอาไว้ได้

นอกจากนี้สุนัขยังเป็นเจ้าแห่งกิจวัตรประจำ เพราะฉะนั้นสิ่งต่าง ๆ เช่น การเปลี่ยนงาน, การย้ายบ้าน หรือแฟนย้ายเข้ามาอยู่ในบ้าน สามารถก่อให้เกิดผลกระทบกับกิจวัตรประจำของสุนัขได้ทั้งนั้น และนั่นก็อาจเป็นตัวกระตุ้นอาการวิตกกังวลของการแยกจากในสุนัขได้ และหากเราตอบสนองไปในทางที่ “ผิด” ตัวเราเองก็สามารถทำให้ปัญหาแย่ลงได้อย่างรวดเร็ว
ตัวอย่างที่ยกมาใช้เพื่อให้เห็นภาพของกรณีนี้ชัดเจนขึ้นก็คือ การรับลูกสุนัขมาเลี้ยงในช่วงที่คุณว่างเว้นจากงาน หรือช่วงวันหยุดยาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงล็อกดาวน์ ซึ่งถือว่าเป็นความผิดพลาดครั้งใหญ่ แม้ว่าในช่วงสองสามวันแรกหรือช่วงสามสี่สัปดาห์แรกนั้นทุกอย่างลงตัวและน่าทึ่งสุด ๆ เมื่อลูกสุนัขเป็นศูนย์กลางของความสนใจทั้งหมด บรรยากาศรอบตัวจะเต็มไปด้วยความสุขไม่รู้จบ แต่แล้วเมื่อเวลาผ่านไปเพียงไม่นาน ลูกสุนัขกลับถูกผลักไสให้ไกลห่างออกไป เมื่อถึงเวลาที่พวกเราต่างยุ่งวุ่นวายอยู่กับการเตรียมตัวไปโรงเรียน, การงาน และการดำเนินชีวิตจริง ภายหลังจากช่วงวันหยุดยาวหรือการล็อกดาวน์

การเปลี่ยนแปลงนี้เป็นเรื่องค่อนข้างใหญ่สำหรับสุนัขโดยเฉพาะสุนัขในวัยเด็ก และเมื่อเหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้น มันก็อาจจะก่อให้เกิดปัญหาความวิตกกังวลรุนแรงได้ ซึ่งหากพวกเราไม่ระมัดระวังก็อาจจบตอนท้าย ด้วยการส่งเสริมให้พวกเขามีพฤติกรรมที่ “ผิด ๆ” ได้เลย

หากคุณต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการฝึกสุนัข หรือปรึกษาปัญหาพฤติกรรมโปรดติดต่อ 091 654 1960 อีเมล info@k9pointacademy.com เข้าชมเว็บไซต์ของเราได้ที่ www.k9pointacademy.com CPA เป็นองค์กร K9 แห่งเดียวในประเทศไทย ที่ได้รับการรับรองจากสภารับรองสำหรับผู้ฝึกสอนสุนัขมืออาชีพ (CCPDT) และในฐานะที่เป็นผู้ประเมินมาตรฐานสมาคมสุนัขแห่งสหรัฐอเมริกา หรือ American Kennel Club (AKC)

ข่าวภูเก็ต : แปล

 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่