โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต ยกระดับด้านการแพทย์และการบริการสาธารณะสุข เปิดคลินิกรักษาภาวะผู้มีบุตรยาก

ภูเก็ต - เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2566 เวลา 11.30 น. ณ ห้องตรวจนรีเวชกรรม ชั้น 2 ตึกผู้ป่วยนอกโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต นายแพทย์กู้ศักดิ์ กู้เกียรติกูล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานเปิดคลินิกรักษาภาวะผู้มีบุตรยาก โดยมี นายแพทย์วีระศักดิ์ หล่อทองคำ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต, นายแพทย์วิรุฬห์ ทองชุมนุม ในฐานะสูตินรีแพทย์เฉพาะทางด้านเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ของกลุ่มงานสูตินรีเวชกรรม โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต ให้การต้อนรับ

ข่าวภูเก็ตประชาสัมพันธ์หน่วยงานรัฐ

วันอังคาร ที่ 5 ธันวาคม 2566, เวลา 14:00 น.

การเปิดคลินิกรักษาภาวะผู้มีบุตรยากในครั้งนี้ สืบเนื่องจากประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ มีจำนวนประชากรลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยในปี พ.ศ. 2566 มีจำนวนเด็กเกิดใหม่ลดลงเหลือเพียง 485,085 คน ซึ่งเป็นจำนวนการเกิดที่ต่ำที่สุดและเป็นครั้งแรกในรอบ 70 ปี ที่ประเทศไทยมีเด็กเกิดใหม่ต่ำกว่า 500,000 คน สาเหตุหลักของปัญหานี้ เกิดจากการที่คู่สมรสรุ่นใหม่มีทัศนคติเชิงลบต่อการมีบุตร รวมถึงภาวะมีบุตรยากที่เพิ่มสูงขึ้น และการเข้าถึงบริการการรักษาอนามัยเจริญพันธุ์ที่ยังมีข้อจำกัด ทั้งจำนวนสถานที่ในการให้บริการที่ยังไม่เพียงพอ และราคาที่ค่อนข้างสูง

ในจังหวัดภูเก็ตยังไม่มีสถานที่ของภาครัฐเปิดให้บริการรักษาผู้มีบุตรยาก คู่สมรสที่ประสบภาวะมีบุตรยากจึงต้องเดินทางไปรับบริการในจังหวัดใกล้เคียงหรือไปยังภาคเอกชน ซึ่งอาจไม่สะดวกทั้งในเรื่องการเดินทางและค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง ทางกระทรวงสาธารณสุขได้เล็งเห็นปัญหานี้และออกนโยบายที่เป็นวาระแห่งชาติคือ “ส่งเสริมการมีบุตร” “Give Birth Great World” โดยมีเป้าหมายให้โรงพยาบาลสังกัดกระทรวงร้อยละ 25 ภายใน 100 วัน หลังจากมติ ครม. มีคลินิกส่งเสริมการมีบุตรและร้อยละ 100 ภายในปี 2567

ซึ่งการเปิดคลินิกรักษาผู้มีบุตรยากในครั้งนี้ นับเป็นก้าวสำคัญของโรงพยาบาลที่จะช่วยแก้ไขปัญหาภาวะมีบุตรยากให้กับคู่สมรสทั้งชาวไทยและต่างชาติที่อาศัยอยู่ในจังหวัดภูเก็ต รวมถึงฝั่งอันดามัน ทำให้คู่สมรสสามารถเข้าถึงบริการอนามัยการเจริญพันธุ์ได้ง่ายขึ้น สามารถมีบุตรได้อย่างที่หวัง สร้างครอบครัวที่สมบูรณ์ รวมถึงลดภาวะตึงเครียดของคู่สมรสจากภาวะมีบุตรยาก

คลินิกแห่งนี้ให้บริการที่ครอบคลุมทุกขั้นตอน ตั้งแต่การให้คำปรึกษา การวินิจฉัย การรักษา และติดตามผล โดยทีมแพทย์และพยาบาลบริการของคลินิก ได้แก่ การให้คำปรึกษาการวางแผนการมีบุตร การซักประวัติและตรวจร่างกายคู่สมรสเพื่อหาสาเหตุภาวะมีบุตรยาก การตรวจเลือดคู่สมรสก่อนการมีบุตร การให้คำปรึกษาและการรักษาเบื้องต้น เช่น การให้ยาฮอร์โมนเพื่อรักษาโรคบางประเภทหรือรับประทานยาเพื่อกระตุ้นไข่ตก การนัดผ่าตัดในบางกรณีเพื่อเพิ่มโอกาสการมีบุตร (เช่น โรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ โรคก้อนเนื้องอกมดลูก เป็นต้น) ทั้งการผ่าแบบเปิดหน้าท้องและผ่าตัดส่องกล้อง ในอนาคต คลินิกมีแผนสั่งซื้ออุปกรณ์เพื่อเตรียมสำหรับการตรวจอสุจิตามมาตรฐานของ WHO รวมถึงการเตรียมอสุจิสำหรับการฉีดเชื้อเข้าโพรงมดลูก (IUI) เพื่อเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์แก่คู่สมรสให้มากขึ้น

 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่