ไดเอทต้านมะเร็งได้จริงหรือ?

สหรัฐอเมริกา – การควบคุมอาหารเพื่อลดน้ำหนัก หรือที่เราเรียกกันว่า ไดเอท (diet) ได้กลายมาเป็นส่วนสำคัญของการจัดการกับโรค เช่น เบาหวาน และความดันโลหิตสูง แต่ตอนนี้นักวิจัยได้ผุดงานวิจัยชิ้นใหม่ นำมาเพิ่มเป็นหลักฐาน เพื่อยืนยันว่าสามารถช่วยในการรักษาโรคมะเร็งได้อีกทางหนึ่ง

ข่าวภูเก็ต

วันพฤหัสบดี ที่ 1 สิงหาคม 2562, เวลา 18:19 น.

ภาพ : AFP

ภาพ : AFP

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า การศึกษาในเรื่องดังกล่าวถูกเผยแพร่วันนี้ (1 ส.ค.) ในวารสาร Nature ซึ่งพบว่าการควบคุมการบริโภค ด้วยการจำกัดปริมาณกรดอะมิโนซึ่งพบในเนื้อแดงและไข่ จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการรักษามะเร็งในหนูได้ โดยพบว่าช่วยชะลอการเจริญเติบโตของเนื้องอก

รองศาสตราจารย์ เจสัน โลคาเซล หัวหน้าทีมนักวิจัยจาก Duke University's School of Medicine กล่าวว่า จากการทดลองจะเห็นได้ว่ามันส่งผลชัดเจนมาก ซึ่งมากพอ ๆ กับการทำงานของยาเลยทีเดียว การวิจัยนี้แสดงให้เห็นว่ามีหลายเคสที่บ่งบอกว่าตัวยาเพียงอย่างเดียวใช้ไม่ได้ผล แต่ถ้าคุณใช้ยาร่วมกับการควบคุมอาหาร ผลออกมาคือมันใช้ได้ หรือกรณีการใช้รังสีบำบัดที่ไม่สามารถรักษาได้ดีพอ แต่ถ้าคุณทำร่วมกับการควบคุมอาหาร ผลลัพธ์มันออกมาดีมาก” เขากล่าวกับเอเอฟพี

การศึกษาวิจัยมุ่งเน้นไปที่การควบคุมปริมาณกรดอะมิโน ตัวการสำคัญในกระบวนที่เรียกว่า กระบวนการเผาผลาญอาหาร หรือ เมแทบอลิซึมแบบคาร์บอนเดี่ยว ซึ่งเป็นตัวช่วยให้เซลล์มะเร็งเจริญเติบโต

การควบคุมเมไธโอนีนนั้นถูกใช้ยับยั้ง/ต่อต้านริ้วรอยและการลดน้ำหนัก แต่ความสำคัญของมันที่มีต่อเซลล์มะเร็งนั้น อาจมีแนวโน้มเพื่อการนำมาใช้พัฒนาแนวทางการรักษาโรคมะเร็งได้ในอนาคต

งดอาหารมะเร็ง

กลุ่มนักวิจัยได้ทดสอบเกี่ยวกับการควบคุมเมไธโอนีนในหนูที่มีสุขภาพดี เพื่อยืนยันว่ามันมีผลต่อการเผาผลาญอาหารและจากนั้นจึงเปลี่ยนไปทดสอบในหนูที่เป็นมะเร็งลำไส้ และเนื้องอกในเนื้อเยื่ออ่อน หรือที่เรียกว่า ซาร์โคมา (sarcomas)

พวกเขาพบว่ายาเคมีบำบัดในปริมาณต่ำเพียงอย่างเดียวไม่มีผลต่อมะเร็งลำไส้ จึงต้องนำมาใช้ร่วมกับการควบคุมเมไธโอนีนเพื่อเป็น “การยับยั้งการเจริญเติบโตของเนื้องอก"

ซึ่งในทำนองเดียวกัน การรวมวิธีการควบคุมเมไธโอนีน กับการรักษาด้วยการฉายรังสีในกรณีของซาร์โคมา จะสามารถลดการเจริญเติบโตของเนื้องอกได้

อย่างไรก็ตาม เขายอมรับว่า ตอนนี้ผลลัพธ์ที่ได้ยังไม่สามารถนำมาใช้อ้างอิง ในฐานะผลทดสอบมะเร็งได้ เพราะการทดลองนี้ยังห่างไกลนักกับการนำมาทดสอบกับมนุษย์ รศ.โลคาเซล เน้นย้ำว่า ผลการทดลองนี้จะยังไม่ถึงที่สุด แต่แน่นอนว่ามันจะไม่สามารถยับยั้งมะเร็งได้ทุกประเภท เพราะนี่ไม่ใช่พวกประเภท “ยาครอบจักรวาล”

ในขณะเดียวกัน ศาสตราจารย์พอล ฟาโรฮ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็ง จาก มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ได้ออกมาเตือนว่า อย่าเพิ่งหมกมุ่นกับการอ่านบทความเกี่ยวกับการศึกษานี้จนมากเกินไป พร้อมให้คำอธิบายว่า ก่อนจะมีข้อสรุปใด ๆ เกี่ยวกับความเป็นไปได้ ในการควบคุมอาหารต้านมะเร็งนี้ จะต้องทำการทดลองกับมนุษย์เสียก่อน

ตื่นเต้นสุด ๆ

โลคาเซลและทีมวิจัยได้ทำการขยับขยายงานวิจัยของพวกเขา ด้วยการทดสอบการควบคุมการบริโภคเมไธโอนีนในมนุษย์ที่ร่างกายแข็งแรงจำนวน 6 คน และพบว่ากระบวนการเผาผลาญอาหารในมนุษย์มีผลคล้ายกับที่พบในบรรดาหนูทดลอง ซึ่งนั่นก็แสดงให้เห็นว่า การควบคุมอาหารอาจมีผลคล้ายกันกับเนื้องอกบางอย่างในมนุษย์ ซึ่งแม้ว่าเขาเองจะออกมาเตือนแล้วว่ามันยังเร็วเกินไปที่จะสามารถหาข้อสรุปใด ๆ ในตอนนี้ แต่ก็อดตื่นเต้นไม่ได้อยู่ดี

ในขณะที่ ศาสตราจารย์ทอม แซนเดอร์ส ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการและการควบคุมอาหาร จากคิงส์คอลเลจลอนดอน ได้เตือนว่า “ยังไม่มีหลักฐานใดจากการศึกษานี้ ที่จะบ่งบอกว่าการควบคุมอาหารในรูปแบบวีแก้น จะช่วยผู้ป่วยโรคมะเร็งได้”

อย่างไรก็ตาม รศ.โลคาเซล หวังว่าในที่สุดทีมของเขาจะสามารถทดสอบในคนที่เป็นโรคมะเร็งได้ แต่เขาเองก็ได้ตั้งข้อสังเกตว่าการวิจัยทางโภชนาการในลักษณะนี้มักจะประสบปัญหาด้านเงินทุน เพราะเป้าหมายของการรักษานั้นไม่ได้นำมาซึ่งผลกำไรอันงดงาม

เขากล่าวทิ้งท้ายว่า พวกเขาตื่นเต้นกันมากกับงานทดลองที่เป็นอยู่ในตอนนี้ เมื่อพวกเขาได้เห็นว่าการควบคุมอาหารมีผลต่อสุขภาพของมนุษย์อย่างมาก และเขาหวังว่าในท้ายที่สุดแล้ว แพทย์จะสามารถแนะนำผู้ป่วยโรคมะเร็งให้ควบคุมอาหารตามข้อกำหนดเฉพาะ เพื่อเป็นตัวช่วยในการรักษามะเร็งของพวกเขาได้ 

“แม้ว่าเราจะยังไปไม่ถึงจุดนั้น แต่เราจะต้องทำได้ในสักวัน” รศ.โลคาเซล กล่าวกับเอเอฟพี

(อ่านข่าว AFP คลิก)

 

 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่