ทางเจ้าหน้าที่ ศวอบ. ประสานงานกับเครือข่ายไลฟ์การ์ดเทศบาลเมืองป่าตองงานป้องกันบรรเทาสาธารณะภัย (Patong Surf Life Saving) เพื่อลงพื้นที่และได้ทำการตรวจสอบแล้วพบเป็นแมงกะพรุนหัวขวดสกุลไฟซาเลีย (Physalia sp.) จำนวน 40 ตัว บริเวณหาดป่าตอง เบื้องต้นยังไม่พบรายงานผู้ได้รับบาดเจ็บจากการสัมผัสแมงกะพรุน ทางเจ้าหน้าที่ได้ประสานงานเครือข่าย มอบแผ่นพับ น้ำส้มสายชู เพื่อเตรียมความพร้อมและเฝ้าระวังการได้รับบาดเจ็บจากการสัมผัสแมงกะพรุน จึงขอให้ประชาชน ผู้ประกอบการ และนักท่องเที่ยว ในบริเวณดังกล่าวระมัดระวังการสัมผัสพิษแมงกะพรุนชนิดนี้ ทั้งนี้การปฐมพยาบาลเบื้องต้นให้ใช้น้ำส้มสายชู ราดบริเวณที่สัมผัสอย่างต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 30 วินาที แล้วส่งแพทย์เพื่อรักษาตามอาการต่อไป
ในส่วนของเพจ Patong Surf Life Saving-ไลฟการ์ดหาดป่าตอง ก็ได้มีการโพสต์ภาพและข้อความระบุว่า ช่วงเย็นของวันที่ 31 ส.ค. ที่ผ่านมา ได้พบเจอแมงกะพรุนชนิด Portuguese man of war บริเวณ ริมชายหาดพื้นที่ป่าตอง พร้อมเน้นย้ำ “ห้ามสัมผัส แต่ถ้าเมื่อมีอาการปวดแสบร้อน ให้ใช้น้ำทะเลเบื้องต้นก่อน แล้วเรียกเจ้าหน้าที่ไลฟ์การ์ดในการช่วยเหลือในการปฐมพยาบาล”
สำหรับ แมงกะพรุนหัวขวด Physalia sp. เป็นสัตว์น้ำไม่มีกระดูกสันหลังจำพวกแมงกะพรุน ที่ไม่ใช่แมงกะพรุนแท้ชนิดหนึ่งที่พบในทะเล จัดอยู่ในกลุ่มไฮโดรซัว (Hydozoa) สกุล Physalia (ไฟซาเลีย) หรือที่เรียกว่า Portuguese man-of-war (โปรตุกีส แมน ออฟ วอ) หรือ Bluebottle (บลูบอทเทิล) เนื่องจากมีรูปร่างสีฟ้าหรือสีม่วง ส่วนที่ลอยน้ำรูปร่างคล้ายหมวกของทหารเรือชาวโปรตุเกส และมีหนวดยาว แมงกะพรุนชนิดนี้ทั่วโลกพบได้ 2 ชนิด คือ แมงกะพรุนไฟหมวกโปรตุเกส (P. physalis) และ แมงกะพรุนไฟเรือรบโปรตุเกสอินโด-แปซิฟิก (P. utriculus)
แมงกระพรุนทั้งสองชนิดนี้ปกติจะไม่พบในน่านน้ำไทย โดยจะพบในทะเลเปิดของมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ, ทะเลเมดิเตอเรเนียน, มหาสมุทรแปซิฟิก และมหาสมุทรอินเดีย แต่จะอาจจะถูกกระแสน้ำพัดมาเกยตื้นหรือเข้าสู่น่านน้ำไทยได้ในบางฤดูกาล โดยชนิดที่สามารถพบได้ในมหาสมุทรอินเดียและแปซิฟิก จะมีขนาดเล็กกว่า (ประมาณ 6 นิ้ว) และยังไม่มีบันทึกของผู้เสียชีวิตที่จากของแมงกะพรุนไฟเรือรบโปรตุเกสอินโด-แปซิฟิก
หากมีการสัมผัสโดน แม้แมงกะพรุนชนิดนี้มีความเป็นพิษที่รุนแรงที่สุดในกลุ่มแมงกะพรุนไฟ แต่สำหรับระดับความเป็นพิษสามารถทำให้บาดเจ็บได้ในหลายระดับ ขึ้นอยู่กับความต้านทานของแต่ละบุคคลและปริมาณพิษที่ได้รับ ตั้งแต่อาการแสบคัน จนถึงปวดแสบปวดร้อน รวมถึงกับอาการไข้ ช็อค และเกิดความผิดปกติกับหัวใจและปอด โดยวิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้นจากการถูกพิษของแมงกะพรุนชนิดนี้ คือให้ใช้น้ำส้มสายชูราดบริเวณที่ได้รับพิษอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 30 วินาที และรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลต่อไป ทั้งนี้อย่าเก็บแมงกะพรุนที่ตายแล้วด้วยมือเปล่าหรือนำมาเล่น เพราะต่อมพิษยังสามารถปล่อยพิษได้
ข้อมูล: กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง