“บุญลอมข้าวใหญ่” สืบสานจิตวิญญาณ ภูมิปัญญาชาวบ้าน เล่าขานความเป็นมา เห็นคุณค่าวิถีชาวนายุคเก่า

ประเพณีบุญลอมข้าวใหญ่ เป็นประเพณีเก่าแก่ของคนอีสาน ที่ไม่ค่อยมีให้เห็นแล้วในปัจจุบัน วิถีชีวิตชาวนาดั้งเดิม กลิ่นหอมของรวงข้าวยามที่มีลมเอื่อย ๆ พัดผ่านผิวกาย ภาพสีทองของรวงข้าวสุกอิ่มเต็มท้องนา เริ่มกลายเป็นสิ่งไกลตัวของคนในยุคสมัยนี้ ด้วยความเจริญในด้านต่าง ๆ ที่เข้ามา ทำให้วิถีชีวิตในท้องไร่ท้องนาปรับเปลี่ยนเป็นการใช้ชีวิตในเมืองมากขึ้น

จุฑารัตน์ เปลรินทร์

วันเสาร์ ที่ 16 มกราคม 2564, เวลา 12:00 น.

เทคโนโลยีใหม่ ๆ ได้รับการพัฒนาเข้ามาแทนที่แรงงานคน แรงงานสัตว์ ในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม ซึ่งถือเป็นอาชีพหลักดั้งเดิมของคนอีสาน เพื่อความสะดวกสบายในชีวิตประจำวันตามยุคตามสมัย

จากจิตวิญญาณของชุมชนในภาคอีสาน ที่ยังคงดำรงอยู่ด้วยวิถีเกษตรกรรม ชาวบ้านโคกกลาง ตำบลหว้าทอง อำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น จึงได้ร่วมใจร่วมแรงสืบสานประเพณีโบราณ ด้วยสำนึกในบุญคุณของข้าวที่ได้หล่อเลี้ยงและให้ชีวิต แสดงออกถึงพลังสามัคคี รวมไปถึงการให้ความรู้และปลุกจิตสำนึกให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ ให้ได้สัมผัสและซาบซึ้งถึงคุณค่าของชาวนาและข้าว ส่งเสริมให้เกิดความหวงแหนวัฒนธรรม อันเป็นเอกลักษณ์ในท้องถิ่นให้คงอยู่อย่างยั่งยืนสืบไป

พระอธิการ เมษา โกสโล หรือชาวบ้านเรียกขานท่านในนาม “อาจารย์ต้อม” อายุ 39 ปี เจ้าอาวาสวัดอัมพวัน บ้านโคกกลาง บอกเล่าถึงความเป็นมาของ “บุญลอมข้าวใหญ่” และการริเริ่มจัดงานบุญในครั้งนี้ผ่าน ข่าวภูเก็ต ว่า บุญลอมข้าวใหญ่ ประจำปี พ.ศ. 2563 ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม ที่ผ่านมานั้น เกิดจากการพูดคุยกับผู้อาวุโส 2 ท่านในหมู่บ้านว่าอยากเห็น “ลอมข้าว” (ที่ไม่ได้เห็นมาหลายปี) และให้มีการจัดงานบุญขึ้นมา โดยจัดให้มี “ลอมข้าวเล็ก ๆ” ขึ้นมา ภายในบริเวณวัด เพื่อสืบสานประเพณีโบราณให้คนรุ่นหลังได้รู้ได้เห็น

และจากการพูดคุยเล่นในครั้งนั้นเอง คณะกรรมการวัดก็ได้ส่งต่อข่าวสารไปถึงชาวบ้าน กระทั่งเกิดเป็นงานประจำปี 2563 ขึ้นมา และประสบความสำเร็จเกินความคาดหมาย เนื่องจากชาวบ้านทุกคนได้ร่วมมือร่วมใจกันอย่างเต็มที่ ทำให้งานออกมาเป็นผลสำเร็จอย่างน่าประทับใจ โดยท่านเจ้าอาวาสหวังใจว่าในปีต่อ ๆ ไป จะได้รับการสนับสนุนและแรงสามัคคีจากชาวบ้านและภาครัฐ ทำให้เกิดงานบุญนี้ขึ้นมาอีกครั้ง

บุญลอมข้าวใหญ่ คืออะไร

นานมาแล้วช่วงฤดูของการเก็บเกี่ยวผลผลิตจากไร่นาของชาวนาภาคอีสาน ในสมัยที่เครื่องจักรและเทคโนโลยียังไม่มีบทบาทในการดำรงชีวิตของชาวนา เมื่อเสร็จสิ้นขั้นตอนการเก็บเกี่ยวข้าวชาวนาจะทำ “ลอมข้าว” โดยการนำมัดสีทองข้าวในนามากองรวมกัน โดยจะเรียงมัดข้าวให้เป็นแถวเรียงเป็นชั้น ๆ จากนั้นจะมีพิธีบายศรีสู่ขวัญข้าว ซึ่งจะมีการดูฤกษ์งามยามดีก่อนทำพิธีและเริ่มการ “ตีข้าว” หรือ นวดข้าว โดยใช้ไม้ยาว 2 ท่อน มีเชือกมัดติดกันเอาไว้ ปลายไม้ท่อนหนึ่งเรียวแหลม และอีกท่อนกลมมน และในระหว่างนั้นพี่น้องเพื่อนใกล้ไร่นาเคียง ก็จะมาช่วยกันคนละไม้คนละมือเพื่อให้งานเสร็จเร็วขึ้น ซึ่งเมื่อนวดข้าวเสร็จแล้วชาวนาก็จะได้ข้าวเปลือกกองใหญ่ รวมไปถึงพิธีกรรมอื่น ๆ ตามมา ไม่ว่าจะเป็นพิธีบูชาแม่พระโพสพ เพื่อขอขมาที่ชาวนาได้เหยียบย่ำลงไปบนเมล็ดข้าว และเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตนเองและเป็นขวัญกำลังใจ ในการเริ่มฤดูกาลทำนาในปีต่อไป

ซึ่งประเพณีดังกล่าวนี้นับเป็นเสน่ห์ของพี่น้องชาวอีสาน แสดงให้เห็นถึงความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ความรักและความสามัคคีกันในชุมชน นับเป็นสิ่งที่ทรงคุณค่าแก่การอนุรักษ์ เพื่อไม่ให้เลือนหายไปจากแผ่นดินอีสาน

“บุญลอมข้าว คือ การสืบสานขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวบ้านที่เรียกได้ว่าห่างหายไป ปัจจุบันชาวบ้านมีวิถีชีวิตใหม่ โดยการใช้รถเก็บเกี่ยวและอุปกรณ์ที่ได้รับการพัฒนาขึ้น แทนการเก็บเกี่ยวโดยธรรมชาติและแรงงานคน ที่เคยมีการแบกการหาม ตามวิถีของชาวบ้าน และได้ทำลอมข้าวขึ้นหลังเก็บเกี่ยว เพื่อป้องกันแมลงและไม่ให้ข้าวชื้น เกิดเป็นลอมข้าวขนาดใหญ่ที่สวยงามและประณีตโดยใช้ภูมิปัญญาชาวบ้าน และมีการปลงข้าวหรือการนำเครื่องบูชาพระแม่โพสพเสียบไว้ที่ลอมข้าว เพื่อบอกกล่าวก่อนทำการตีข้าวตามวิถีของคนอีสาน ด้วยเครื่องบูชาต่าง ๆ นับเป็นประเพณีที่แสดงออกถึงการเห็นคุณค่าของข้าวของน้ำ ไม่ลบหลู่สิ่งที่ให้ชีวิตและหล่อเลี้ยงของชาวอีสาน สอดคล้องพุทธศาสนาคือมีการนิมนต์พระเจริญพระพุทธมนต์ มีการทำบุญเลี้ยงเพลพระถวายภัตตาหาร” พระอาจารย์ต้อม อธิบาย

“ที่ผ่านมาหมู่บ้านโคกกลางแห่งนี้ได้มีการจัดงานบุญกุ้มข้าว ซึ่งเป็นการเอาข้าวมากองรวมกันเพื่อทำพิธี ซึ่งถ้าจะให้สมบูรณ์แบบ บุญนี้ต้องมี “ลอมข้าว” ปีนี้จึงได้ริเริ่มในการฟื้นฟูขนบธรรมเนียมประเพณีให้ลูกหลานรุ่นหลังได้เห็นส่วนต่าง ๆ ของวิถีชาวอีสาน ไม่ว่าจะเป็น ลอมข้าว มัดข้าว ปลงข้าว (เครื่องบูชาพระแม่โพสพ) ฯลฯ”

“เมื่อทำการตีเมล็ดข้าวออกมาเป็น “กุ้มข้าว” แล้ว พระสงฆ์จะทำการสวดเจริญพระพุทธมนต์ และมีพิธีทางพราหมณ์ในการสู่ขวัญข้าว/เอิ้นขวัญข้าว (เรียกขวัญข้าว) เพื่อเป็นการสร้างขวัญกำลังใจ และรวบรวมข้าวของชาวบ้านคนละเล็กละน้อย เพื่อบูชาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ หรือมอบถวายแด่วัดเพื่อเป็นสิริมงคลแก่นา/บ้านของตนเอง เมื่อเสร็จสิ้นพิธีชาวบ้านจะนำเมล็ดข้าวจำนวนหนึ่งกลับบ้าน เพื่อนำไปใส่รวมกับข้าวในเล้า หรือเก็บไว้ที่บ้าน เพื่อความเป็นสิริมงคลและความอุดมสมบูรณ์”

สำหรับปีแรกของการริเริ่มจัดงานบุญนี้ ชาวบ้านบางส่วนได้นำมัดข้าวเหนียวจากนาเข้ามาร่วมงานบุญ บางส่วนบริจาคข้าวจำนวนหลายไร่ในนาให้ทางเจ้าหน้าที่ของวัดทำหน้าที่เก็บเกี่ยว ซึ่งนอกจากเป็นการส่งเสริมความเอื้อเฟื้อและสามัคคีแล้ว ยังเกิดเป็นความสนุกสนานในระหว่างการทำนาในช่วงฤดูเก็บเกี่ยวอีกด้วย โดยรวมแล้วจำนวนมัดข้าวในงานประจำปีนี้มีข้าวเหนียวในลอมมากกว่า 3 พันมัด โดยมีการจัดวางและประดับตกแต่งอย่างประณีตและสวยงาม

รวมไปถึงการจัดโซนนิทรรศการวิถีชีวิตชาวนาอีสาน ให้ความรู้แก่เด็กและเยาวชนอีสาน ได้สืบสานร่องรอยของบรรพบุรุษ และเล็งเห็นคุณค่าของอาชีพบรรพบุรุษที่สร้างเป็นชุมชนชาวอีสานมาได้ คือ “ชาวนา” โดยเปิดโอกาสให้ได้สัมผัสเห็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการปลูกข้าว ในยุคก่อนเครื่องจักรทุ่นแรงจะถือกำเนิด

ความสำเร็จ

“ปีนี้ถือเป็นปีแรกที่มีการจัดงานขึ้นมา เกิดจากการพูดคุยกันเล่น ๆ เรียกได้ว่าชาวบ้านโคกกลางเป็นชุมชนแรกที่มีการริเริ่มจัดงานบุญนี้ขึ้นมา นายอำเภอภูเวียงที่ให้เกียรติมาเป็นประธานในงานก็ได้กล่าวชื่นชม และยอมรับว่ายังไม่เคยเห็นงานประเพณีนี้จัดขึ้นในพื้นที่ ความสำเร็จที่เกิดขึ้นต้องขอขอบคุณชาวบ้านทุกคนที่ได้ร่วมใจสามัคคี ได้เห็นลูกหลานเข้ามาเรียนรู้ อบรม จึงอยากต่อยอดในปีต่อไปให้ดีขึ้นไปอีก และหวังว่าจะเป็นจุดหนึ่งที่ทางภาครัฐอาจจะเข้ามาให้การสนับสนุน”

“หากชุมชนยังสามัคคีกันเช่นนี้ คิดว่าปีหน้าคงจัดให้ดีขึ้นและยิ่งใหญ่ขึ้น สานต่อข้อบกพร่องต่าง ๆ ปรับปรุงพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น อยากให้ยังมีจุดเรียนรู้ร่วมกัน เพื่อสืบทอดในระดับชาวบ้าน ระดับตำบล และอำเภอต่อไป ตามความสามารถ และหวังว่าปีหน้าสถานการณ์โควิด-19 จะไม่เข้ามาเบียดเบียน” พระอาจารย์ต้อม กล่าว

การรักษาความปลอดภัยภายในงาน

ผู้ใหญ่แฟรงค์ หรือ นายแทนไท คณานิตย์ อายุ 49 ปี ผู้ใหญ่บ้าน บ้านโคกกลาง หมู่ 4 รับหน้าที่ควบคุมดูแลความปลอดภัยตลอดการจัดงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อโรคโควิด-19 ที่จำเป็นต้องมีการตรวจคัดกรองวัดไข้ ผู้ที่ผ่านเข้าออกงานทุกคนอย่างเคร่งครัด และไม่อนุญาตให้ผู้ที่เดินทางมาจากจังหวัดที่เป็นพื้นที่ความเสี่ยงสูง เข้าไปในบริเวณงานโดยเด็ดขาด

“มาตรการความปลอดภัยภายในงาน ทุกคนต้องสวมหน้ากากเข้ามาภายในงาน พร้อมทั้งมีบริการแจกหน้ากากอนามันในรายที่ไม่ได้พกมาด้วย โดยกำหนดให้มีจุดเข้าออก 2 จุด และมีเจ้าหน้าที่ อสม.ประจำจุดตลอดเวลา คอยตรวจวัดไข้ บันทึกประวัติ และให้บริการเจลแอลกอฮอล์ล้างมือทุกครั้งที่มีการผ่านเข้าออก ซึ่งผู้ที่เข้ามาในงานจะต้องไม่ใช่ผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่สีแดง” ผู้ใหญ่แฟรงค์ กล่าว

“การจัดงานในครั้งนี้ไม่ได้มีการประชาสัมพันธ์ไปยังหมู่บ้านอื่นมากนัก ส่วนใหญ่คนที่อยู่ในงานคือชาวบ้านโคกกลางเป็นหลัก และมี นายประจักร ไชยกิจ นายอำเภอภูเวียง เข้ามาร่วมในโอกาสเป็นประธานเปิดงาน เนื่องจากเราจัดงานในช่วงปีใหม่ ผู้คนจำนวนมากจากทั่วทุกสารทิศเดินทางกลับภูมิลำเนา หากประชาสัมพันธ์ออกไป การควบคุมดูแลจะลำบากมากขึ้น และในอีกมุมหนึ่งหมู่บ้านอื่นทราบว่า หมู่บ้านเรามีคนเดินทางกลับบ้านเป็นจำนวนมากพอสมควร จึงไม่พบว่ามีคนจากหมู่บ้านอื่นเข้ามามากนัก”

พระสงฆ์กว่า 40 รูป ปฏิบัติภายใต้มาตรการเดียวกัน

“สำหรับพระสงฆ์จำนวนประมาณกว่า 40 รูป นำโดย ท่านเจ้าคณะอำเภอและเจ้าคณะตำบล ที่ทางเรานิมนต์เพื่อทำพิธีเจริญพระพุทธมนต์ก็ได้มีการตรวจวัดไข้และล้างมือบ่อย ๆ ตามมาตรการป้องกันโรคเช่นเดียวกัน โดยในวันที่ 31 ธ.ค. หมู่บ้านเราเริ่มพิธีในตอนเช้าด้วยพิธีการปิดงานปฏิบัติธรรม ช่วงสายเป็นการเจริญพระพุทธมนต์เพื่อฉลองสมโภชเรือนรับรองสงฆ์ และช่วงบ่ายจึงเป็นขั้นตอนของการแห่ผ้าป่าสามัคคีสืบสานประเพณีบุญลอมข้าวใหญ่ เป็นอันเสร็จพิธี โดยในช่วงกลางคืนชาวบ้านก็ได้เข้ามาร่วมร้องรำทำเพลงเป่าแคนทำนองอีสานกันอย่างสนุกสนาน ถือว่าเป็นภาพที่หาดูยาก ซึ่งเด็กสมัยนี้ไม่ทราบเลยว่า นี่คือวิถีชีวิตชุมชนที่เคยเกิดขึ้นจริงในอดีต”

ความเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมผ่านสายตาพ่อผู้ใหญ่

ผู้ใหญ่แฟรงค์ เปิดเผยกับ ข่าวภูเก็ต ว่า ในช่วงชีวิตวัยเด็กกิจกรรมต่าง ๆ เหล่านี้ คือ วิถีปกติของชาวบ้านที่มีการใช้ชีวิตส่วนใหญ่ไปกับไร่นา นอนค้างอ้างแรมตลอดระยะเวลาหลายเดือนในช่วงฤดูกาลทำนา มีการลงแขกช่วยเหลือกัน ร่วมด้วยช่วยกันตีข้าว ก่อนที่จะมีรถสีข้าวและรถเกี่ยวข้าว

“อีกหน่อยเกรงว่าจะมีคนมารับบริการทำนาให้ชาวนา” ผู้ใหญ่แฟรงค์ พูดปนหัวเราะ

“สมัยก่อนเมื่อฤดูทำนามาถึงลุงจำได้ว่า เริ่มแรกลงนาเราจะเอาแม่ไก่สาวไปด้วย และเลี้ยงกันจนออกไข่ออกลูกออกเต้า งานทุกอย่างใช้แรงคน ไม่มีเครื่องทุ่นแรง ตื่นแต่เช้าทำงาน เกี่ยวข้าวด้วยมือ หาบข้าวบนไหล่ ตกกลางคืนเดินเล่นรับลมชมแสงจันทร์ พอใกล้เสร็จงานตีข้าว ชาวบ้านจะเรียกบ้านใกล้เรือนเคียงกว่า 30 – 40 คน มารวมตัวกันลงแขกตีข้าวอย่างสนุกสนาน เลี้ยงฉลองด้วยเป็ด ไก่ อาหารอย่างดี”

“เมื่อก่อนไม่มีการจ้างเหมือนสมัยนี้ คนสมัยก่อนงานหลัก คือ ทำนา ไม่มีหนี้สิน ไม่มีค่าใช้จ่ายมากมายเหมือนทุกวันนี้ ไม่ต้องออกไปทำงานที่อื่น หมดหน้านาก็ปลูกมัน ปลูกปอ สลับกันไป อาหารคือผักปลูกเอง เป็ด ไก่ ในเล้า”

“จำได้ว่าตอนที่มีรถไถนาเดินตามเข้ามาแรก ๆ ตื่นเต้นกันมาก ไม่ต้องใช้ควายไถนาเหมือนก่อน ซึ่งถึงตอนนี้ก็ไม่มีใครใช้รถไถเดินตามกันแล้ว วิถีชีวิตเปลี่ยนไปมาก วิวัฒนาการต่าง ๆ เกิดขึ้นมา เราเคยมีความสุขจากการเล่นเมล็ดมะขาม ในระหว่างที่ช่วยพ่อแม่เลี้ยงวัวเลี้ยงควาย สนุกมากกับการปืนต้นไม้ เก็บผักมากินกับน้ำพริก ไม่เคยต้องใช้เงิน ความบันเทิงอยู่กับธรรมชาติ เคยดีใจเมื่อได้ยินเสียงรถฉายหนังกลางแปลง จึงพูดได้ว่าคนรุ่นเก่าจะมีปฏิสัมพันธ์ มีความผูกพันกันมากกว่าในสมัยปัจจุบัน และมีโอกาสได้เรียนรู้นิสัยใจคอกันมากกว่า”

“เวลาเพียงแค่ 20 ปี ทุกอย่างเปลี่ยนไปจากเดิมมาก เมื่อก่อนพวกเราอยู่กับธรรมชาติ ไม่มีไฟฟ้าใช้ด้วยซ้ำ ชาวบ้านเราไม่ได้มีหนี้สิน ไม่รีบเร่ง ทุกวันนี้เราจ้างแรงงานชาวบ้านกันเอง จึงทำให้ต้องใช้เงินมากขึ้น ทำให้มีหนี้สินเพิ่มขึ้น เมื่อก่อนไปนาเคยก้มกินน้ำฝนจากรอยเท้าวัวควาย ทุกวันนี้พวกเราไม่กล้าดื่มน้ำฝนกันเหมือนก่อน แม้แต่โอ่งรองน้ำฝนที่เคยรองไว้ดื่มกินก็ไม่ค่อยได้เห็นแล้ว เพราะไม่มีใครอย่างเสี่ยงกับสารเคมี ยาฆ่าแมลง แต่เราก็ต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับมัน วันนี้โลกเราเปลี่ยนไปเยอะ เห็นบางคนบอกอยากย้ายไปอยู่ดาวอังคาร (พูดติดตลก) จะย้ายไปทำไมให้ยุ่งยาก เพราะกว่าจะปลูกต้นไม้สักต้นขึ้นมาได้ อยู่บ้านเราหายใจได้คล่องได้สะดวก ทำไมไม่ปรับปรุงให้มันน่าอยู่ยิ่งขึ้น และปรับตัวเองให้มีความสุขไปตามยุคตามสมัย” ผู้ใหญ่แฟรงค์ กล่าว

 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่