“เวก้า” เรือช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมกำลังรอคอยความช่วยเหลือจากพวกเรา

เมื่อปี 1892 ภายในอู่ต่อเรือใน Ølve ประเทศนอร์เวย์ สองพี่น้องตระกูลเนอร์ฮัส ผู้มีชื่อโอเล่ และ โจฮาน เนอร์ฮัส กำลังยุ่งอยู่กับการสร้างเรือที่มีชื่อว่า “Vega” ซึ่งเป็นเรือบรรทุกสินค้าลำงาม ดังที่ปรากฏในภาพด้านล่างนี้

Amy Bryant

วันอาทิตย์ ที่ 31 มีนาคม 2562, เวลา 15:00 น.

ต่อมาในปี 1992 ณ ฟยอร์ดของสแกนดิเนเวีย เวก้ากำลังจะขนส่งสินค้าเที่ยวสุดท้าย หลังจากการทำงานนับกว่า 100 ปีในการลากเครื่องยนต์ เครื่องปั่นไฟ ซีเมนต์ หินที่ใช้ในการก่อสร้าง และเหล็กที่ยังไม่ได้นำไปหลอม หรือที่เราเรียกว่าเหล็กพิก บนน่านน้ำแห่งทะเลเหนือและอาร์กติก (ฟยอร์ดคืออ่าวเล็ก ๆ บริเวณชายฝั่งทะเลซึ่งถูกน้ำกัดเซาะจนเว้าแหว่งมีลักษณะแคบและยาว เว้าลึกเข้าไปในฝั่งระหว่างแผ่นดินสูงชัน หรือระหว่างหน้าผาสูงชันตามเชิงเขา)

จากนั้นเมื่อปี ค.ศ. 2004 หรือ พ.ศ. 2547 ได้เกิดมีภัยสึนามิซัดบริเวณเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย และกัปตันเชน เกรนเจอร์ เจ้าของคนใหม่ของเวก้า และพาร์ทเนอร์ของเขา เมกกี้ แมคูน ก็ได้ใช้เรือลำนี้ในการขนส่งอาหาร เวชภัณฑ์ เพื่อส่งต่อให้กับผู้ประสบภัยในพื้นที่

จนกระทั่งในปีปัจจุบัน 2019 เวก้าถูกนำขึ้นคานไว้ ณ ท่าจอดเรือแห่งหนึ่งในภาคใต้ของประเทศไทย ภายหลังจากความสำเร็จของเวก้าที่ได้เดินทางไปยังประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กับภารกิจการส่งมอบของใช้จำเป็นเหมือนที่เธอได้ทำมาตั้งแต่ปี 2004 เพื่อเป็นการซ่อมบำรุงประจำปี แต่ความโชคร้ายที่ไมีมีใครคาดคิดก็บังเกิด เรือเวก้าตกลงมาจากคานเรือในจังหวัดสตูล ด้านข้างของตัวเรือได้รับความเสียหายอย่างหนัก กราบขวาของเรือมีน้ำท่วมเข้าไปในตัวเรือ ซึ่งสร้างความเสียหายให้แก่เชนและเมกกี้เป็นอย่างมาก เพราะพวกเขาไม่เพียงแค่ต้องเสียงบการช่วยเหลือรายปีที่ตั้งไว้เท่านั้น มันยังรวมถึงเงินส่วนตัวของทั้งคู่อีกด้วย

“ตัวเรือและสายระโยงเรือไม่ได้รับความเสียหายรุนแรง แต่เครื่องของใช้ตกแต่งภายในได้รับความเสียหายอย่างหนัก เพราะถูกน้ำท่วมเข้าไปจนหมด โชคดีที่เราสามารถช่วยชีวิตสคอร์จแมวของเราเอาไว้ได้ เพราะมันสามารถปีนขึ้นไปบนจุดที่น้ำท่วมไม่ถึงได้ทันเวลา นอกเหนือจากนั้นเราสูญเสียของใช้ทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า, เครื่องคอมพิวเตอร์, กล้อง, หนังสือชุดที่พวกเรารักมาก, งานศิลปะ พวกเรารู้สึกราวกับว่าสิ่งที่เกิดขึ้น มันทำลายทุกอย่างจนหมดสิ้น” เชนกล่าว

แต่ถึงแม้ว่าเชนและเมกกี้จะเจอกับเรื่องที่เลวร้ายที่สุด ซึ่งไม่มีเจ้าของเรือคนไหนอยากที่จะพบเจอ แต่ทั้งคู่ก็ยังคงคิดบวกอยู่เสมอ แม้ในวันที่ต้องเผชิญกับฝันร้าย

“โชคดีที่เวก้าเธอเป็นเหมือนนกแก่ที่ยังแข็งแกร่ง เราทั้งคู่ตัดสินใจกันแล้วว่า เราจะทำทุกอย่างเพื่อให้เวก้ากลับคืนสู่สภาพเดิมอีกครั้ง เพราะยังมีผู้คนอีกมากมายที่รอคอยและต้องพึ่งพาเรา ซึ่งเราจะไม่มีวันทำให้พวกเขาผิดหวัง” เขากล่าวเสริม

อย่างไรก็ตาม การที่ได้เห็นความมุ่งมั่นของเชนและเมกกี้ ก็ไม่ได้ทำให้ผู้เขียนประหลาดใจสักเท่าไร เพราะแน่นอนว่าคนที่สามารถทิ้งบุคคลอันเป็นที่รัก และล่องเรือไปตามน่านน้ำที่ตนไม่คุ้นเคย เพื่อช่วยเหลือผู้อื่นด้วยเงินเดือนของงานด้านมนุษยธรรมเป็นปีต่อปี มันจำเป็นต้องใช้จิตวิญญาณอันแน่วแน่และแข็งแกร่งอย่างที่สุด

คู่รักนักเดินเรือค้นพบเวก้าที่บริเวณหมู่เกาะคะแนรี หรือ กานาเรียส ซึ่งเป็นหมู่เกาะของราชอาณาจักรสเปน ในสภาพถูกทอดทิ้งให้แห้งกร้านกลางแสงแดดร้อนจัดเขตร้อน
“เจ้าของคนเดิมของเวก้าน่าจะเป็นพ่อค้าเนื้อ หรือพ่อครัวหัวป่าก์ ไม่ก็คนทำขนมปัง แต่เขาไม่ใช่กะลาสีเรือแน่นอน เพราะดูจากการตกแต่งภายในแล้ว ดูเหมือนเป็นการผสมผสานกันระหว่างเล้าหมูกะคอกไก่อะไรสักอย่าง” เชนกล่าว

การปรับปรุงโฉมครั้งแรกใช้เวลา 4 ปี และไม่มีการตัดอะไรออกไปแม้แต่มุมเดียว เมกกี้เป็นคนออกแบบเค้าโครงการตกแต่งภายในทั้งหมด สร้างสรรค์ผ่านการผสมผสานระหว่างศตวรรษที่ 18 และยุคปัจจุบัน เพราะทั้งคู่อยากจะเก็บความงดงามในอดีตเอาไว้ ในขณะเดียวกันก็สามารถนำไปใช้ได้จริง สำหรับการแปลงโฉมเวก้าในครั้งนั้น มีการใช้เพียงวัสดุรีไซเคิลและแรงงานชาวอินโดนีเซียในท้องถิ่นเท่านั้น ซึ่งรวมถึงไม้สักและไม้เขตร้อนอื่น ๆ จากบ้านเรือนเก่าและซากเรือแตกในบาหลี

การทำให้เรือยาว 22 เมตร อายุ 127 ปี อย่างเวก้าให้แข็งแรงพอสำหรับการเดินทางไปในน่านน้ำที่มีคลื่นแรง และอุปสรรคนานับประการแห่งท้องทะเลนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเรือหลายลำก็ยังต้องปฏิเสธภารกิจผจญภัยเช่นนี้ ทั้งคู่ดูแลเรือที่มีความสำคัญในประวัติศาสตร์การเดินเรือของโลกไว้เป็นอย่างดี เรือลำนี้ได้รับการอนุรักษ์และขนานนามว่า ‘เรือทางประวัติศาสตร์’ ซึ่งมีเพียงไม่กี่ลำในโลก

ในทุก ๆ ปีเวก้าจะออกเดินทางผจญภัยในเป็นระยะทางกว่า 6,000 ไมล์ กับ ‘ภารกิจแห่งความเมตตา’ หรือ ‘mission of mercy’ ซึ่งจะใช้เวลา 5 เดือนในการรวบรวมอุปกรณ์การศึกษา และเวชภัณฑ์จากผู้บริจาค น้ำหนักประมาณ 15-20 ตัน จากประเทศไทย, มาเลเซีย, อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ และจะใช้เวลาอีก 5 เดือนครึ่งเพื่อนำส่งของบริจาคเหล่านั้นสู่ ติมอร์ตะวันออก และหมู่เกาะห่างไกลในฝั่งอินโดนีเซียตะวันออก

เชนและเมกกี้ให้ความช่วยเหลือชุมชนกว่า 34 แห่ง สนับสนุนศูนย์ส่งเสริมสุขภาพ 23 แห่ง งานหมอตำแย 122 ครั้ง และช่วย 42 ชุมชนในท้องถิ่นให้ได้สร้างโรงเรียนใน 18 เกาะได้จนสำเร็จ

“บ่อยครั้งที่สิ่งเล็ก ๆ สามารถสร้างความแตกต่างให้กับมาตรฐานการใช้ชีวิตของคนบนกาะห่างไกล เพียงถุงเล็ก ๆ ที่ใส่เบ็ดตกปลา สายเอ็นตกปลา มีด ค้อน เสื้อผ้า และอุปกรณ์เย็บผ้าต่าง ๆ พลั่ว ถังโลหะ หม้อ หรือเมล็ดพืช” เชน อธิบาย “หลายที่ที่เราไปเด็ก ๆ ไม่เคยเห็นลูกฟุตบอลของจริงด้วยซ้ำ เพราะพวกเขาทำได้เพียงแค่นำเอาใบไม้มามัดเป็นก้อนกลมและรัดด้วยเชือกกล้วย ซึ่งนั่นก็หมายถึงฟุตบอลเพียงลูกเดียวสามารถกลายเป็นสมบัติของชุมชนไปในทันที”

ดร.รูธ อินทิรา แพทย์ชาวอินโดนีเซีย เป็นอีกคนที่ร่วมเดินทางไปกับอุปกรณ์และลูกเรือในภารกิจเพื่อการกุศล เธอให้บริการทางการแพทย์ สอนเรื่องทันตสุขภาพในโรงเรียน จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการและการฝึกอบรมการทำคลอดแบบดั้งเดิมในชุมชนห่างไกล ความพยายามของเธอทำให้เกิดความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ที่สุดของทีมเวก้า นั่นคือลดการสูญเสียชีวิตของแม่ขณะคลอดบุตรและอัตราการตายของทารก ภายในชุมชนเหล่านี้ลงได้มากกว่า 50% ในรอบ 3 ปี และเรื่องนี้มันก็เป็นหลักฐานสำคัญที่ได้พิสูจน์แล้วว่า “พวกเราสามารถสร้างความแตกต่างได้”

“พวกเรากำลังวางแผนกันว่า ปีนี้เราจะจัดส่งของทางคอนเทนเนอร์ และเมกกี้จะบินไปยังติมอร์ตะวันออก เพื่อแจกจ่ายของเหล่านั้น แต่ตอนนี้เรายังคิดไม่ออกว่าจะจัดส่งของไปยังเกาะเล็ก ๆ ได้อย่างไร เพราะหากเราไม่มีเวก้าแล้ว เราก็ไม่สามารถช่วยเหลือหมู่เกาะที่อยู่ห่างไกลเหล่านั้นได้เลย” เชนอธิบาย

งานด้านมนุษยธรรมของเชนและเมกกี้อาศัยความช่วยเหลือจากทีมงานอาสาสมัคร และผู้สนับสนุนทั้งที่เป็นเอกชนและองค์กร ซึ่งในช่วงเวลาที่ทุกอย่างดูจะยากและความท้าทายที่มากขึ้นนี้ พวกเขาเองสามารถจัดการตัวเองได้ ในกรณีที่ไม่มีเงินสนับสนุนสำหรับอาหารและซื้อของเข้ามาเป็นเวลาหลายวัน แต่จากฝันร้ายเมื่อเดือนที่ผ่านมานี่เองที่ได้สร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวง อย่างไรก็ตามพวกเขาก็ยังคงเดินหน้าต่อไป ด้วยความหวังที่ว่าการทำสิ่งที่ถูกต้องจะส่งให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีในท้ายที่สุด และที่ผ่านมามันก็เป็นเช่นนั้น

จากการประเมินคาดว่า จะต้องใช้เวลากว่า 3 เดือน ของการทำงานอย่างหนัก และเงิน 150,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ ประมาณกว่า 4,734,000 ล้านบาท เพื่อฟื้นฟูเวก้าให้กลับคืนสู่สภาพเดิมอีกครั้ง เชนและเมกกี้จะต้องหาเงินจำนวน 32,000 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1,009,000 บาท เพื่อเป็นค่าชดเชยซึ่งไม่ได้รับการคุ้มครอง ในการซื้อหาอุปกรณ์และปรับเปลี่ยนในส่วนที่จำเป็น

“ขึ้นอยู่กับว่าในระหว่างนี้จะมีวันหยุดกี่วัน เพราะมันส่งผลให้เกิดความล่าช้าในการจัดส่งชิ้นส่วนและอุปกรณ์ต่าง ๆ” เชนกล่าว “ในส่วนของตัวเรือและการตกแต่งภายในบางส่วนเป็นของทางอู่เรือที่จะต้องรับผิดชอบ แต่การเปลี่ยนอุปกรณ์ต่าง ๆ เช่นเครื่องใช้ไฟฟ้า, วิทยุ, อุปกรณ์นำทาง และการซ่อมแซมอื่น ๆ เช่น เครื่องทำน้ำจืด Spectra Watermaker เป็นความรับผิดชอบของเรา เพราะประกันคุ้มครองตามสัดส่วนของใช้พื้นฐานที่กำหนดเท่านั้น ไม่ได้คุ้มครองในส่วนนี้”

การบริจาคสามารถทำได้ผ่านทางเว็บไซต์ Sail Vega นอกจากนี้เชนและเมกกี้ก็กำลังมองหาผู้มีความเชี่ยวชาญ และ เบอร์ติดต่อของร้านขายอุปกรณ์เรือที่ภูเก็ต เพราะระบบของเรือเกือบทั้งหมดเสียหายและต้องการอุปกรณ์มาเปลี่ยนในส่วนที่พังไป ซึ่งหากทั้งคู่สามารถซื้ออุปกรณ์ต่าง ๆ ได้ในราคาต้นทุนจะถือว่าเป็นการช่วยเหลือครั้งสำคัญ

เมื่อเวก้าคืนชีพและกลับมาผจญภัยได้อีกครั้ง ทั้งคู่มีความมั่นใจว่าเรือลำนี้จะกลับมาทำหน้าอย่างยอดเยี่ยมเช่นเดิม เพราะพวกเขาเปิดโอกาสและต้อนรับนักเรียนนานาชาติเข้าร่วมโปรแกรม ‘Kits-4-Kids’ ซึ่งเด็ก ๆ ที่สนใจสามารถเข้าชมได้ เพียงนำอุปกรณ์การเรียนตามลิสต์ที่ให้เอาไว้ รวมไปถึงอุปกรณ์อื่นที่ต้องการ เช่น ตุ๊กตาตัวโปรด, รูปถ่าย หรือบันทึกเกี่ยวกับตัวเด็กนักเรียนเองว่าพวกเขาเป็นใคร อยู่ที่ไหนกันบ้าง”

ขอเชิญทุกคนมาร่วมมือกัน เพื่อทำให้เวก้ากลับมาล่องลูกคลื่นไปบนท้องทะเลและท่องโลกได้อีกครั้ง บริจาคผ่าน PayPal (คลิก) ติดต่อเชนและเมกกี้ ได้ที่: vega@sailvega.com และ ติดตามการเดินทางของเวก้าได้ทางเพจเฟซบุ๊ก ‘Historical Vessel Vega’

 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่